วิปฝ่ายค้านตามจิกกระทู้สด “จำนำข้าว-เวิลด์เอ็กซ์โป” ส่วนที่รัฐบาลจับมือวุฒิฯ บางส่วนดันแก้ รธน.3 มาตรา ต้องดูรายละเอียด ติงแก้ ม.68 ตัดศาล รธน.ให้แค่อัยการวินิจฉัยเรื่องล้มล้างการปกครอง เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน แก้ ม.117 ให้มีแต่ ส.ว.เลือกตั้งและไม่จำกัดวาระจะกลายเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทน เตรียมรับมือรัฐบาลเล่นเกมดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ เร็ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 มี.ค. ฝ่ายค้านจะตั้งกระทู้ถามสดเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ของนายยุพราช บัวอินทร์ ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เลื่อนมาจากการประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา และตั้งกระทู้ถามสดเรื่องความไม่สนใจของรัฐบาลในการแข่งขันเป็นเจ้าภาพการจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 ซึ่งมีความสงสัยว่าจะเป็นการหลีกทางให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ได้จัดงานนี้หรือไม่ อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงความพร้อมหรือขอเสียงสนับสนุนจากประธานจัดงานดังกล่าว ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็ขอให้พิจารณาว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่
นายจุรินทร์กล่าวว่า กรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะร่วมลงชื่อกับ ส.ว.เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น มาตรา 3 ประเด็นต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 20 มี.ค.นั้น ฝ่ายค้านเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราสามารถทำได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าจะแกไขประเด็นใดอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ในมาตรา 68 ที่บัญญัติว่าเมื่อบุคคลหรือพรรคการเมืองใดที่พบเห็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยสามารถยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ กรณีนี้ฝ่ายค้านเห็นว่าหากมีการแก้ไขให้เหลือเพียงประชาชนยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาหน่วยงานเดียวก็จะเป็นการปิดช่องทางและจำกัดสิทธิของประชาชนให้เหลือช่องทางเดียวก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ส่วนการแก้ไขมาตรา 117 เรื่องที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขเรื่องใดบ้าง แต่หากเปิดโอกาสให้ ส.ว.เลือกตั้งดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระได้ ก็อาจมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า กรณีทีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ บรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 42 คนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ในวันที่ 20 มี.ค.นั้น การที่จะการเลื่อนระเบียบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีความชัดเจน อาจพิจารณาได้ 3 ประเด็น คือ 1. หากยังไม่มีการขอเลื่อนวาระ ก็ต้องยอมรับว่าการบรรจุเป็นวาระเข้าสู่สภาก็เป็นการเพิ่มระเบิดเข้าสู่สภา และเป็นความเสี่ยงสร้างเงื่อนไข และหากเลื่อนขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จะระเบิดเมื่อนั้น
2. หากขอเลื่อนแล้วแต่ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็จะเป็นการเล่นละครสวมบทหลอกพวกเดียวกันว่ามีความพยายามแล้ว แต่เสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่เห็นด้วย และ 3. หากขอเลื่อนแล้ว ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบ ประเทศก็จะเดินเข้าสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง แม้ว่าวิปรัฐบาลจะระบุว่าการเลื่อนต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิก แต่การเลื่อนระเบียบวาระทำได้ง่าย แค่ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมก็ทำได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านจะเตรียมมาตรการรับมือทั้ง 3 เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย