xs
xsm
sm
md
lg

30 ส.ส.ปชป.จ้อค้านแก้ รธน. “จุรินทร์” รอถกเวลาวิปรัฐ ย้ำชำเราไม่ได้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานวิปฝ่ายค้านเผยประชาธิปัตย์ ส่ง 30 ส.ส.จ้อแก้รัฐธรรมนูญ รอถกวิปรัฐอีกรอบใช้เวลาเท่าไหร่ ยันต้องได้ไม่น้อยกว่าพรรครัฐ ย้ำไม่เห็นด้วยชำเราเพื่อต่างตอบแทน ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ แถมส่อขัดเจตนารมณ์กฎหมาย จวกอย่าเอาความเห็นศาลมาสร้างความชอบธรรม



วันนี้ (31 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ในวันที่ 1-3 เมษายนนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีผู้แสดงความจำนงจะอภิปรายเกิน 30 คน ส่วนระยะเวลาที่ได้นั้นยังไม่เป็นที่ยุติจะต้องมีการหารือกับวิปรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายค้านจะต้องได้รับเวลาไม่น้อยกว่ารัฐบาล ส่วนการที่วิปรัฐบาลอ้างว่าทางฝ่ายค้านได้ 11 ชั่วโมงขณะที่ซีกรัฐบาลได้รับ 15 ชั่วโมงนั้นเป็นการแถลงฝ่ายเดียวของทางรัฐบาลเท่านั้น

ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวต่อว่า วิปฝ่ายค้านมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการแก้ไขที่มีลักษณะต่างตอบแทน โดยที่ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ แต่เป็นผลประโยชน์เฉพาะฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยดูได้จากการผู้ยื่นร่างแก้ไข คือ ส.ส.ก็ยื่นแก้ไขในส่วนให้ประโยชน์แก่ ส.ว. เช่น เรื่องการยกเลิกให้ ส.ว.เลือกตั้งดำรงตำแหน่งไม่ต้องจำกัดวาระ และยกเลิก ส.ว.สายสรรหา นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 และ 40 ที่ต้องการให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งสมัยเดียว ดังนั้นหากมีการแก้ไขก็จะทำให้วุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่ต่างจาก ส.ส.จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะมี 2 สภา ขณะที่ฝ่าย ส.ว.เลือกตั้งก็ยื่นร่างแก้ไขตรงกับความต้องการของ ส.ส.ซีกรัฐบาล คือ การแก้ไขมาตรา 68 ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญ และการฟ้องและรับเรื่องตามช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 237 ที่ต่อไปคณะกรรมการบริหารพรรคและพรรคการเมืองจะไม่ถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปีและยุบพรรค แต่จะเป็นการเอาผิดเฉพาะผู้กระทำผิดเท่านั้น

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า วิปฝ่ายค้านยังไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะมีการตัดเรื่องที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม และของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันทางด้านการค้าและการลงทุนของงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต่อไปจะไม่ต้องนำเรื่องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นในอนาคตหากมีการแก้ไขมาตราดังกล่าวก็จะทำให้รัฐบาลสามารถไปทำ FTA กับต่างประเทศ หรือทำสัญญาสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนกับต่างประเทศ เช่น การแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงาน ด้านก๊าซธรรมชาติ และเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ต้องนำเข้าสภาฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางวิปฝ่ายค้านจะมีการยื่นยับยั้งการกระทำต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่มีการพูดถึงทั้งนี้อยากจะฝากประเด็นไปว่าที่วิปรัฐบาลระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำตามความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องผ่านการประชามติก่อน จึงไม่อยากให้นำความเห็นของศาลมาสร้างความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือถึงการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีมติไม่รับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 3 ฉบับ โดยจะมีการแสดงเหตุผลให้รัฐสภารับทราบเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนให้รับทราบ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กำชับว่าต้องแสดงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้ชัดเจน เพราะรัฐบาลพยายามกล่าวอ้างว่าการแก้ไขทำแบบรายมาตราซึ่งพรรคเคยดำเนินการมาก่อน จึงขอย้ำว่าการแก้ไขรายมาตราทำได้ในหลักการแต่ที่พรรคคัดค้านเพราะเห็นว่าสาระในการแก้ไขเป็นอันตราย โดยยกตัวอย่างมาตรา 68 พรรคเห็นว่าการแก้ไขมาตรานี้มีความชัดเจนว่าจะตัดอำนาจประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าเป็นสิทธิชอบธรรมของประชาชนที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ การตัดสิทธิประชาชนในส่วนนี้พรรคจึงไม่เห็นด้วย และจะอภิปรายให้ประชาชนเกิดความกระจ่างว่าพรรครักษาสิทธิให้กับประชาชนในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

นอกจากนี้มาตรา 190 ซึ่งเคยมีการแก้ไขในรัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นไปตามข้อเสนอของการประชุมร่วมสามฝ่ายระหว่างค้าน รัฐบาล และส.ว.เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการด้านบริหาร แต่การแก้ไขในครั้งนี้มีการตัดคำว่า อธิปไตยนอกอาณาเขต ซึ่งหมายถึงพื้นที่ร่วมพัฒนา เช่น ไทย - มาเลเซีย จึงตั้งข้อสงสัยว่าจะมีผลทำให้การพัฒนาพื้นที่ร่วมทางทะเลทั้งระหว่างไทย - กัมพูชา และ ไทย-มาเลเซีย จะไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาใช่หรือไม่ อีกทั้งในมาตรานี้ยังมีการตัดข้อความหนังสือสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งชัดเจนว่ารัฐบาลจงใจปิดหู ปิดตาประชาชน เพราะต่อไปจะไม่มีหนังสือสัญญาใดที่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทำให้ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

สำหรับกรณีมาตรา 237 แม้พรรคจะไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคแต่การแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการยุบพรรคและไม่เอาผิดกรรมการบริหารพรรคด้วยนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย เพราะกรรมการบริหารพรรคควรมีความรับผิดชอบร่วมกัน มิเช่นนั้นการเมืองไทยจะกลับสู่วังวนเดิมในการโยนผิดให้บุคคลคนเดียวรับโทษ เป็นการส่งเสริมให้มีการทุจริต ซื้อเสียงมากขึ้นในอนาคต จึงเห็นว่าแม้ควรจะเลิกยุบพรรคแต่กรรมการบริหารพรรคยังต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบุลย์ ประธานส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นกลยุทธ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการแก้ไขทั้งฉบับได้ จนกระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับค้างการพิจารณาในสภาอยู่จนถึงวันนี้ จึงมีการเปลี่ยนเป็นการแก้ไขรายมาตรา เป็นกลยุทธ์จับปลาทีละตัวแทนการวิดน้ำจับปลาทั้งบ่อ แต่เป้าหมายยังคงแก้รัฐธรรมนูญเืพื่อประโยชน์คนบางคนและคณะบุคคลบางคณะมากกว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง ทั้งนี้เห็นว่าทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะมีการนำเสนอเพื่อประโยชน์ของบางคน เช่น การเสนอแก้มาตรา 68 ซึ่งตนมีข้อสังเกตสามประการคือ 1 ไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ประชาชนแต่เป็นการดำเนินการเพื่อหมู่คณะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างส.ส.และสว.บางส่วน 2 แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของบางคนแม้่จะเปลี่ยนมาแก้รายมาตราแต่เป้าหมายยังคงเดิม 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการตัดทอนอำนาจประชาชน โดยเห็นว่าแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น