xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุติธรรมแก้ปัญหาล้นคุก ด้วย “จีพีเอส”เครื่องละ 2 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู กรณี“กระทรวงยุติธรรม” ออกประกาศกฎกระทรวงยุติธรรมเรื่อง "กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556"

ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่! เพราะแนวคิดนี้ กรมคุมประพฤติ เคยฝันที่จะใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมเด็กแว้น จำกัดและเฝ้าระวัง โดยมีข่าวว่า เสนอศาลเยาวชนกลางใช้เครื่องอีเอ็มนำร่องกับคดีที่เยาวชนและสตรี ไม่รู้ไปถึงไหน!

แต่จะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ไม่ได้มากนักเพราะ เป็นคนละส่วนกับการแก้ปัญหา “คนล้นคุก” เพราะเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์ ที่จะนำมาใช้กับนักโทษตามมาตรา 89//1 และมาตรา 89/2 ถือเป็นคนละส่วนกับโครงการนำร่องที่กรมคุมประพฤติจะนำมาใช้กับกลุ่มเด็กแว้น

เพราะตามข้อกฎหมายที่บรรยายในราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศใช้ ที่มีความหมายคือให้ผู้ที่ถูกจำกัดที่ศาลสั่ง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ถ้าถูกจำคุกและอาจต้องอันตรายถึงชีวิต 2.เป็นผู้ที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา สามีภรรยาและบุตรอันขาดมิได้ 3.เป็นผู้เจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง 4.เป็นผู้ที่มีเหตุต้องได้รับการทุเลา บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องได้รับการจำคุก แต่ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวใส่ข้อมือหรือข้อเท้าได้

ลงนามโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2556

เจ้าของเรื่อง ขยายความว่า 4 กลุ่มนี้ จะประกอบด้วย ผู้ต้องชรา หรือป่วยเป็นโรคเอดส์ ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง หากจำคุกต่อไปต้องเสียชีวิต 2 กลุ่มที่ต้องออกไปดูแลลูกและภรรยาหรือพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3.กลุ่มผู้เจ็บป่วยเรื้อรังและต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง และ 4.กลุ่มนักโทษทีมีเหตุทุเลาการลงโทษ เช่น ต้องคลอดบุตร หรือวิกลจริต โดยญาติจะต้องร้องขอต่อเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง ส่วนศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไร ถือเป็นอำนาจของศาล

ซึ่งการปฎิบัติจะต้องมีความชัดเจนโดยจะใช้ระบบจีเอสเอ็มในการติดตามตัว ซึ่งปัจจุบันทางกรมราชทัณฑ์มีแนวปฎิบัติให้ลดวันต้องโทษและพักการลงโทษกับนักโทษชราและนักโทษเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายอยู่แล้ว

เพราะเทคโนโลยีชนิดนี้ มีการใช้มาตรการควบคุมนักโทษแทนการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นวิวัฒนาการซึ่งหลายประเทศทั้งอังกฤษ แคนาดา นำมาใช้ ส่วนในเอเชียมีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า อีเอ็ม หรือ “Electronic Monitoring” แทนการคุมขังในเรือนจำ

หวังจะแก้ปัญหา จำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกประมาณ 2.6 แสนคน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ขณะที่มีความสามารถในการรองรับนักโทษได้เพียง 1.9 คน จึงต้องมีแนวคิดเสริมในการระบายนักโทษออกไปคุมขังยังสถานที่ข้างนอกเพื่อลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ
เขาย้ำว่า ขั้นตอนต่อไปจะต้องออกกฎระเบียบและวิธีการปฎิบัติให้เร็วที่สุด

โดยจะให้ผู้ที่จะยื่นขอใช้สิทธินำเครื่องมือนี้ไปใช้ รอไปก่อน เพราะจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที เกี่ยวข้อง

“ข้อกังวลที่ระบุว่ากฎกระทรวงได้เปิดกว้างไว้ และอาจทำให้นักโทษคดียาเสพติดและคดีอุกฉกรรจ์ได้รับผลตรงนี้ไปด้วย ก็ต้องรับฟังและหารือก่อน และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำเพื่อรองรับนักโทษคดีการเมือง “รมว.ยุติธรรมย้ำที่สุด

มีคำถามขึ้นมาว่า “อุปกรณ์ติดตามแทนที่จะนอนรับผิดอยู่ภายในเรือนจำจะดีหรือ”

ปกติการจำคุกคือการลงโทษให้หลาบจำภายในสถานที่กำหนดให้ก็คือเรือนจำหรือคุก แต่ถ้ากักบริเวณเช่น บ้าน มันจะสบายเกินไปหรือเปล่า

ขณะที่ “ผู้ปฏิบัติตัวจริง” นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมายอมรับว่า

“กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะใช้กับกลุ่มดังกล่าวรวมถึงสถานที่อื่นที่จะใช้คุมขังแทนเรือนจำ”

แถมประเทศไทยยังไม่เคยมีการควบคุมตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ต่างประเทศได้บังคับใช้แล้ว ยกตัวอย่างกรณีของนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องขังคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลของประเทศแคนนาดาใช้วิธีควบคุมตัวไว้ในโรงแรมระหว่างการพิจารณาส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อไม่ให้หลบหนี หรืออาจมีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ควบคุมแทน

โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้ต้องขังจำนวนเท่าใดที่เข้าข่ายสามารถใช้สิทธิดังกล่าว แม้มีเป้าหมายว่า การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จะช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้จริง!

ขณะที่โลกโซเชียล ลือกันไปต่าง ๆ นานาว่า กำนันเป๊าะ หรือนายสมชาย คุณปลื้ม นายวัฒนา อัศวเหม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้ใช้เป็นคนแรกๆ

แถม! นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้ “ไม่ทราบว่าจะเตรียมไว้ให้ใคร”

กรมราชทัณฑ์ ให้ความเห็นว่า การพิจารณาใช้วิธีการอื่นแทนการจำคุกกับบุคคลใดนั้นจะต้องผ่านการพิสูจน์ในชั้นศาลโดยเรือนจำจะมีบันทึกประวัติของผู้ต้องขังเพื่อให้ประกอบการพิจารณาด้วยอยู่แล้ว โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีผู้ต้องขังรายหลายต้องเข้าเรือนจำเพราะไม่ได้รับการประกันตัวทั้งที่จริงแล้วอาจติดปัญหาเพียงเล็กน้อยในเรื่องการควบคุมตัว แต่หากมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้จะช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้

ดังนั้น การออกกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายสำคัญ เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ โดยรมว.ยุติธรรมมีหน้าที่เพียงบริหารจัดและออกระเบียบให้สอดรับกับกฎกระทรวงเท่านั้น

"สำนักงบประมาณยังไม่ได้อนุมัติงบให้จัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว เนื่องจากต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อน เพราะหากจัดซื้อล่วงหน้าแล้วกฎหมายไม่ออกจะเป็นการสูญเปล่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กฎหมายมีผลบังคับใช้หากมีญาติผู้ต้องขังไปยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์ควบคุมตัวภายนอกเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ก็จะยื่นคัดค้านและชี้แจงว่ายังไม่มีความพร้อมเนื่องจากยังไม่ได้จัดซื้ออุปกรณ์และยังไม่มีสถานที่ควบคุมตัวลักษณะอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ"นายกอบเกียรติ บอกเช่นนี้

ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุว่า เจตนาของกฎกระทรวงดังกล่าว คือต้องการระบายผู้ต้องหาออกจากเรือนจำ โดยป้องกันความเสียหายด้วยกำไลอิเล็กทรอนิกส์หรือกำไลฝังชิพ แต่ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการบังคับใช้ในการพิจารณาคดีของศาล

ทั้งนี้ ศาลต้องดำเนินการไต่สวนตาม วรรค1 โดยกำหนดให้เจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่จัดการ ตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง ในมาตรา 89/1 วรรค 4 ที่ให้ใช้บังคับโดยอนุโลม นี่คือที่มาของการออกกฎกระทรวงซึ่งให้อำนาจ และบทบาทกับศาลในการพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ตนเข้าใจว่า มีการออกแก้ไขตั้งแต่ปี 2550 แล้ว แต่ทางกรมราชทัณฑ์อาจยังไม่พร้อมปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ศาลต้องนำกฎดังกล่าวมาพิจารณาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยอาจตั้งคณะทำงานขึ้นมาวางหลักเกณฑ์ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติของศาลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เพราะเมื่อออกเป็นกฎแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม แต่หลักการเบื้องต้น ศาลต้องพิจารณาถึงฐานความผิดของผู้กระทำ ความประพฤติ สุขภาพ และความปลอดภัยของผู้เสียหาย และพิจารณาว่าสังคมจะได้อะไร เช่นคดีข่มขืน เป็นต้น

สำหรับข้อมูล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) คร่าว ๆคืออุปกรณ์ในการควบคุมผู้กระทำผิด ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Trans mitter Device)จะนิยมใช้ติดตัวผู้กระทำผิด มีลักษณะคล้ายนาฬิกาข้อมือ หรือสายหนังรัดข้อมือข้อเท้า โดยมีตัวรับสัญญาณ (Receiver Unit) และศูนย์ควบคุมกลาง (Monitoring Center) ทำหน้าที่ในการควบคุมและสอดส่องตัวผู้กระทำผิดให้อยู่ภายในสถานที่และเวลาที่กำหนด อาทิ การควบคุมตัวอยู่ในบ้าน หรือที่อื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมแทนการจำคุกในเรือนจำ

ย้อนไปดูในอดีต นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) สำนักงานกิจการยุติธรรม เคยให้ความเห็นว่า ได้ประสานงานกับบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศที่เป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศ ก็สนใจที่จะวางระบบให้

โดยผู้ต้องหาที่ใช้ระบบนี้ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากการศึกษาตอนนี้ตกวันละ 200 บาท แต่ถ้าพัฒนาระบบไอทีได้เอง ค่าใช้จ่ายอาจจะต่ำกว่านี้

“กำลังคิดอยู่ว่าผู้ต้องหาที่มีฐานะอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย แต่คนที่ยากจน ไม่มีงานทำหลวงอาจต้องรับภาระ ซึ่งเรามีกองทุนยุติธรรมอยู่แล้ว ในกรอบเริ่มต้นอาจใช้กับนักโทษไม่เกิน 1,000-2,000 คน จากนักโทษที่เรามีอยู่เป็นแสนคน”

แว่วว่า กระทรวงไอซีที เคยเสนอแนวทางที่เหมาะสม คือ “การเช่าซื้อ” เพราะอุปกรณ์อีเอ็มเบื้องต้นมี ราคาเครื่องละไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ไอซีทียังให้ข้อมูลว่า อุปกรณ์อีเอ็มนี้ ถ้ามีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย หรือเจาะระบบเพื่อหลบหนีนั้น ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ทว่าผู้กระทำถือเป็นการแหกคุกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม แล้วรายงานต่อพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่คาดว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะผู้กระทำความผิดที่ได้รับโทษด้วยวิธีนี้ ถือว่าได้รับการผ่อนผันจากกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วระดับหนึ่ง การทำแบบนี้ถือว่าไม่มีประโยชน์

ขณะที่ผู้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ต้องโทษจะมีโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือจำคุก 5 ปี

ดังนั้นต้องตามดูว่า กระทรวงยุติธรรม จะทำเรื่องเสนอไปยัง “สำนักงบประมาณ” เพื่ออนุมัติงบจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว เมื่อไร เท่าใด เพราะกฎหมายก็มีผลบังคับใช้แล้ว ใช้เงินเท่าไรเดี๋ยวก็รู้!


กำลังโหลดความคิดเห็น