xs
xsm
sm
md
lg

นักโทษเฮ ประชาชนผวา !? คิดมาได้ “ทำผิดไม่ต้องติดคุก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พาดหัวข่าวบนหนังสือพิมพ์หลายฉบับวานก่อน คงทำเอาประชาชนคนไทยหลายคนอกสั่นขวัญผวากับแนวคิดไม่เข้าท่า นักโทษทำผิดไม่ต้องติดคุก กับการรับโทษแบบเบาๆ ให้ใส่กำไลฝังชิปแทนการเข้าไปรับโทษในคุก ถึงแม้จะมีการชี้แจงว่ามาตรการนี้ทำเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ และหลักเกณฑ์การใช้ก็มีอย่างชัดเจน แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่า ในอนาคตเมืองไทยอาจจะกลายเป็นสังคมไร้ความปลอดภัย เพราะเราอาจจะเดินสวนกับคนร้าย ฆาตกร แบบไม่รู้ตัว นอกจากนั้นยังเกรงว่าอาจจะเป็นช่องทางให้นักโทษมีฐานะ นักโทษการเมือง รับโทษในบ้านกันแบบสบายๆ ก็เป็นได้

ประชาชนผวา เพิ่มอาชญากรรม

หลังจากข่าวการเผยแพร่กฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกแบบอื่น โดยให้นักโทษใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัวแทนการจำคุก ซึ่งสามารถตรวจสอบที่อยู่ และจำกัดขอบเขตในการเดินทางได้ ต่างทำให้ประชาชนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วย เพราะหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นการปล่อยผู้ร้ายให้เดินเพ่นพ่านไปทั่วเมืองซึ่งอาจทำให้ประชาชนไร้ความปลอดภัย และปัญหาอาชญากรรมจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม

“มันเหมาะสมแล้วหรอ คนทำผิดไม่ติดคุก...ทีนี้ต่อไปจะมีแต่คนใจบาป เต็มบ้านเต็มเมืองละครับพี่น้อง”

“อีกหน่อยประเทศไทยจะอยู่ยากมาก”

“ลองนึกดูแบบเล่นๆ นะ พวกนักโทษคดีฆ่าข่มขืนที่เพิ่งรับโทษได้แค่เพียง 1ใน3 ออกมาเดินป้วนเปี้ยนอยู่ตามตรอกซอกซอยใกล้บ้านเรา มีแค่เพียงกำไลพร้อมชิป ถ้าพวกนี้แม่งออกมาก็มีแต่ ชิปหาย อย่างเดียวเท่านั้นล่ะ”

“มีทางเดียว เวลาออกจากบ้าน ถือปืนไว้ในมือ พร้อมที่จะลั่นไก 24 ชั่วโมง จัดไป!”

“ขนาดนอนคุก ยังจับกันไม่หวาดไม่ไหว คราวนี้แหละ!!”

“บ้าน รถ มันยังงัดได้ นับประสาอะไรกับอีแค่กำไลฝังชิป ฉิบหายแน่งานนี้”

“ถ้าพวกคุณคิดจะปล่อยนักโทษออกมาอยู่ที่บ้าน แล้วจะตัดสินให้มันจำคุกตลอดชีวิตเพื่ออะไร น่าจะเอาสมองไปคิดพัฒนาประเทศไทยให้ดีกว่านี้นะ มีสมองคิดได้แค่นี้หรอ อีกหน่อย พวกประชาชน ไม่ต้องพกปืนกันทุกคนหรอ ไม่ต้องมีคนตายเพิ่มขึ้นหรอ ต้องอยู่อาศัยกับคนที่ทำผิด อยากรู้ว่าเอาสมองส่วนไหนคิดวะ”

“ต่อไปนี้จะมีคุกไว้เพื่ออะไร แล้วคนผิดจะได้รับโทษกันยังไง นี่เหรอประเทศไทย!”

“ใช้อะไรคิดเนี่ย นี่คนดีๆ เค้าไม่ต้องนอนผวากันรึไงวะที่อยู่ร่วมกับนักโทษแบบนั้น งามไส้เลย”

นักโทษเฮ!! ไม่ต้องนอนคุก

ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้โยนหินถามทางกี่ครั้ง ประชาชนก็ไม่เอา อย่างตอนเปิดเฟซบุ๊กโหวตพ.ร.บ.นิรโทษฯ ก็ถูกคัดค้านจนต้องแอบลบทิ้งไป มาครั้งนี้ก็โดนจวกเละไม่เป็นท่า เพราะประชาชนก็ต่อต้านไม่แพ้กัน เลยต้องมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว “การแก้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ.2556” ไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยมีพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทีมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมมาชี้แจง

“การใช้เครื่องมือ EM หรือ กำไลฝังชิพติดตามตัวผู้ต้องขัง โดยอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นการจำกัดพื้นที่ อาณาเขต หรือใช้ระบุตำแหน่ง ด้วยระบบ GPS เพื่อเป็นวิธีการในการคุมขัง โดยกำหนดวิธีการ หรือสถานที่ในการขัง หรือจำคุกนอกเรือนจำให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ต้องขัง หรือจำคุกในแต่ละลักษณะ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า จะต้องเป็นไปตามคำสั่งศาลจะที่ให้จำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดและได้รับโทษจำคุกมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือไม่น้อยกว่า 10 ปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกิน 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้จำคุกในสถานที่อื่น ตามที่ศาลเห็นสมควร” นายวิทยา สุริยะวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมกล่าว

การปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ผู้ต้องหาชราหรือป่วยเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย หากจำคุกต่อไปต้องเสียชีวิตและต้องออกไปรับการรักษา เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสี ทุกสัปดาห์ 2. กลุ่มที่ต้องออกไปดูแลลูกและภรรยาหรือพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3. กลุ่มผู้เจ็บป่วยเรื้อรังและต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง 4. กลุ่มนักโทษที่มีเหตุทุเลาการลงโทษ เช่น ต้องคลอดบุตร หรือวิกลจริต

โดยญาติจะต้องร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง ส่วนศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไร ถือเป็นอำนาจของศาล ซึ่งการปฏิบัติจะต้องมีความชัดเจน ทั้งนี้ในปัจจุบันทางกรมราชทัณฑ์มีแนวปฏิบัติให้ลดวันต้องโทษและพักการลงโทษกับนักโทษชราและนักโทษเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายอยู่แล้ว

เหมาะหรือไม่? กับสังคมไทย

ถึงแม้เรื่องนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลว่าเมืองไทยจะไร้ความปลอดภัย คนทำผิดจะยิ่งไม่กลัวเกรงต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เรื่องนักโทษไม่ต้องนอนคุกก็ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง นั่นคือการช่วยลดความหนาแน่นในเรือนจำ เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกประมาณ 260,000 คน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ขณะที่มีความสามารถในการรองรับนักโทษได้เพียง 190,000 คน จึงจำเป็นต้องมีการระบายนักโทษออกไป

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของ ผศ.ภาณุมาศ ขัดเงางาม นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพียงแต่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่านักโทษคนใดควรได้รับการละเว้นอยู่ในเรือนจำแล้วเปลี่ยนมาใช้กำไลฝังชิปแทนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการก่ออาชญากรรมซ้ำซาก

“มันเป็นแนวคิดการลงโทษหนึ่งที่เอามาจากต่างประเทศ ผมก็คิดว่าก็น่าจะช่วยลดอาชญากรรมลงได้ในระดับหนึ่งนะครับ ถามว่ามันเหมาะสมกับประเทศไทยมั้ย อันนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของโทษ ถ้าโทษที่มันร้ายแรง อุกฉกรรจ์ก็คงใช้ไม่ได้หรอก ถ้าเป็นโทษที่เกิดจากจากตัวผู้กระทำตั้งใจเอง อย่างยาเสพติดเนี่ยอันตราย อันนี้ไม่ควรนำมาใช้ แต่ถ้าความผิดที่เกิดจากบันดาลโทสะ หรือมีความจำเป็นก็ทำได้”

ส่วน พันตำรวจโท กฤษณพงศ์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

“วัตถุประสงค์คือหนึ่งเพื่อลดจำนวนผู้ต้องหาที่หนาแน่นมากในเรือนจำ ประเด็นที่สองก็คือเราจะทำอย่างไร เพราะงบประมาณในการสร้างเรือนจำเราก็ไม่มี คือเตียงเดียวอาจจะต้องนอนด้วยกัน 3 คน มันก็หนาแน่นเกิน ซึ่งผมก็ดูตามข่าวมาว่า ต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และก็ต้องดูฐานความผิดด้วยว่าเค้ากระทำผิดในฐานอะไร อย่างเช่น กระทำความผิดฐานค้ายาเสพติด มันสมควรมั้ย เพราะว่าเป็นฐานความผิดที่มีโทษร้ายแรง แล้วทีนี้หลักเกณฑ์การพิจารณา เราต้องมาดูอีกทีนึงว่าจะขออนุมัติ ขออำนาจศาล อย่างไร

เพราะในต่างประเทศเค้าก็มีการใช้อยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าป้องกันอาชญากรรมได้หรือเปล่า อันนี้คนทั่วๆ ไปจะมองว่า คุณกระทำความผิด ถ้าไปฆ่าคนตายควรได้รับโทษรุนแรง ร้ายแรง อย่างประหารชีวิต ต้องใช้กฎตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ว่าขณะเดียวกัน คนที่กระทำความผิดไปยิงเค้าเพราะอาจจะโกรธแค้นนายจ้างเพราะภรรยาอาจโดนทำร้ายร่างกาย ข่มขืน หรืออะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้น การที่เค้าตอบโต้ผู้กระทำ มันควรจะบรรเทาโทษให้เค้ามั้ย เพราะเรื่องบทลงโทษเนี่ยมันเป็นความคิดทางวิชาการ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องกลับมาดูบริบทของเราว่าขณะนี้เรามีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลผู้กระทำความผิดในเรือนจำมั้ย ประการที่สองการลดโทษให้นักโทษที่เค้าปฏิบัติตัวดีก็จะเป็นการดีตรงที่นักโทษคนอื่นเค้าจะได้ดูเป็นแบบอย่าง ลดการประท้วงในเรือนจำ อย่างที่เพิ่งเผาเรือนจำที่นครศรีธรรมราช ถ้าเป็นมาตรการนี้ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ดีได้ ประการที่สาม วิธีการพิจารณามันเข้มข้นแค่ไหน มีการล็อบบี้มั้ย อันนี้ต้องมีหลักเกณฑ์ตรงนี้ ต้องมีคณะกรรมการพิจารณา ก่อนเสนอไปให้ศาล”

หวั่นเอื้อประโยชน์ทักษิณ

อีกกระแสความคิดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือมีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการรับโทษครั้งนี้ อาจเป็นการช่วยเอื้อประโยชน์กับผู้ร้ายแดนไกลนักโทษการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม นายวิทยา สุริยะวงค์ ปฏิเสธถึงกรณีนี้ว่า การใส่กำไลฝังชิปติดตามตัวผู้ต้องขังนั้น ไม่ได้กำหนดขึ้น เพื่อรองรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากต้องกลับมารับโทษ หรือนักโทษในคดีการเมืองอื่นๆ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หลายๆ คนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “คุกมีไว้ขังหมากับคนจน” เลยทำให้อดหวั่นใจไม่ได้ว่า ถึงไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้อดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ก็อาจกลายเป็นทางซิกแซ็กให้บรรดาเหล่าคนรวยที่กระทำผิดไม่ต้องเข้าไปนอนในซังเต ซึ่ง พันตำรวจโท กฤษณพงศ์ พูตระกูล เน้นย้ำว่า ขอให้กฎข้อนี้มีความเสมอภาคเท่าเทียมทั้งคนจน คนรวย ไม่ใช่ว่านำมาช่วยเหลือเหล่านักโทษมีเงิน หรือนักโทษการเมือง

“ผมเห็นด้วยตรงที่มันเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดความหนาแน่นในเรือนจำ แต่ถ้าจะไม่เห็นด้วยคือกรณีที่ ถ้าเกิดกระทำแล้ว มาตรฐานมันไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หมายถึงว่ามีการเหลื่อมล้ำ พวกคนที่มีฐานะร่ำรวย ได้รับการดูแลอีกอย่างนึง ได้พ้นโทษก่อนมาใส่กำไลข้อมือ หรือนักโทษการเมือง นักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติก็ตาม ก็มาใส่กำไลข้อมือแทนอย่างนี้ มันก็เกิดความไม่เสมอภาคกัน สองมาตรฐาน ก็ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยมันยังมีเรื่องเหล่านี้อยู่จริงๆ

อย่าให้สิ่งใหม่ๆ กฎใหม่ๆ ทำให้คนที่อยู่ในระดับล่าง หาเช้ากินค่ำ ไม่มีสิทธิมีเสียง รู้สึกถูกกดขี่ข่มเหงมากไปกว่านี้อีกเลย ต้องให้ความเป็นธรรม เสมอภาคกันหมด




**** มาตรการควบคุมนักโทษแทนการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นวิวัฒนาการซึ่งหลายประเทศทั้งอังกฤษ แคนาดา นำมาใช้ ส่วนในเอเชียมีสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า Electronic Monitoring หรือ EM มาใช้แทนการคุมขังในเรือนจำ **** 

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live



กำลังโหลดความคิดเห็น