xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายระบุ DSI พาพยานออกนอกประเทศ กระเทือนวงการยุติธรรมไทย!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สภาทนายความ
“สัก กอแสงเรือง” นายกสภาทนายฯ ระบุ “ธาริต-ดีเอสไอ” พาพยานหนีคำพิพากษาไปต่างประเทศ กระเทือนวงการยุติธรรมไทย ถามใช้อำนาจตรงไหนควบคุมตัวพยานไปเมืองดูไบ

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ วันนี้ (20 ก.พ.) นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ได้ให้สัมภาษณ์ เนื่องในงาน “วันทนายความ” ประจำปี 2556 ว่า ขณะนี้มีปัญหาในการทำหน้าที่ของผู้ประกอบอาชีพที่ปรึกษากฎหมาย ทั้งเป็นเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศ ที่รับจ้างให้คำแนะแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานโดยไม่มีการควบคุมโดยองค์กรวิชาชีพ เมื่อไปทำงานปรึกษากฎหมายแล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความก็เก็บกระเป๋าหนี ทำให้กระทบต่อความไว้วางใจแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนไม่กล้ามาลงทุน สภาทนายความจึงเตรียมเสนอร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติทนายความ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ ต้องมาขึ้นทะเบียนสำนักงาน หรือทะเบียนรายบุคคลต่อสภาทนายความ อย่างน้อยจะได้มีการลงโทษด้วยการถอนใบอนุญาตหรือลงโทษทางวินัย หรือดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอรัฐบาลไปแล้ว ขณะที่รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้ต้องปล่อยให้เสรีและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และที่ผ่านมาก็ได้อบรมทนายความในเรื่องการให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย

นายกสภาทนายความกล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ อ้างกฎหมายคุ้มครองพยานเพื่อนำพาพยานที่มีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตไปต่างประเทศว่า ตนจะไม่ชี้ว่าผิดหรือถูก เพราะไม่ใช่ศาล แต่กฎหมายการคุ้มครองพยานนั้นมีเพื่อคุ้มครองพยานให้ปลอดภัย เพื่อนำไปเบิกความมีการกำหนดระยะเวลา ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะต้องมีการเบิกเบี้ยค่าใช้จ่ายในการคุ้มครอง ที่ผ่านมาเห็นเมื่อหมดระยะเวลาคุ้มครองก็ทิ้งพยานทันที บางครั้งสภาทนายความยังให้การคุ้มครองพยานมากกว่าอีก และอยากถามว่าการคุ้มครองพยานนั้นมีสิทธิที่จะก้าวล่วงไปถึงคำพิพากษาของศาลได้อย่างไร และโทษของพยานขนาดนั้น แม้แต่การประกันตัวอย่างแทบเป็นไปไม่ได้เลย รวมถึงการนำพาพยานที่เป็นจำเลยมาเปลี่ยน ชื่อแซ่ นั้นจะต้องกระทบกับส่วนราชการอื่นซึ่งต้องอาศัยอำนาจอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งประเด็น การคุ้มครองพยานเมื่อไปต่างประเทศจะยังมีอำนาจควบคุมตัวพยานอยู่หรือไม่ และมีอำนาจควบคุมไปต่างประเทศได้อย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่กระทบต่อวงการยุติธรรมอย่างมาก

เมื่อถามว่าใน พ.ร.บ.คุ้มครองพยานระดับพิเศษนั้นต้องให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ลงนามด้วย จะมีส่วนต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สำหรับผู้รับผิดชอบนั้น ต้องไปดูในรายละเอียดของกฎหมายอีกทีว่ากรอบคำสั่งควบคุมในระดับไหน และผู้ปฎิบัตินำไปใช้ตามกรอบของหน้าที่หรือไม่

เมื่อถามว่าในกรณีที่พยานมีหมายจับและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีมีส่วนรู้เห็นพาออกหนีไปต่างประเทศแล้ว พยานปากนี้จะรับฟังได้หรือไม่ นายสักกล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกัน แต่หากมีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพยานที่เกิดจากการจูงใจ แลกเปลี่ยน ชักชวน ข่มขู่ จะเป็นพยานที่รับฟังไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น