xs
xsm
sm
md
lg

ข้องใจกฎจำคุก รับลูก"แม้ว" “ราชทัณฑ์”มึน!-“กำนันเป๊าะ” มีสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(25 มี.ค.56) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้หารือถึงประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีอื่นที่ สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ.2556 โดยรมว.ยุติธรรม ที่มีความหมายคือให้ผู้ที่ถูกจำกัดที่ศาลสั่ง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ถ้าถูกจำคุกและอาจต้องอันตรายถึงชีวิต 2.เป็นผู้ที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา สามีภรรยาและบุตรอันขาดมิได้ 3.เป็นผู้เจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง 4.เป็นผู้ที่มีเหตุต้องได้รับการทุเลา บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องได้รับการจำคุก แต่ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกติดตามตัวใส่ข้อมือหรือข้อเท้าได้ ซึ่งกรณีนี้ตนไม่ทราบว่าจะเตรียมไว้ให้ใคร
อีกด้านนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลให้ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายตามเงื่อนไข 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และกลุ่มที่ถูกจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งมีเหตุจำเป็น เช่น หากจำคุกแล้วอาจเจ็บป่วยจนเสียชีวิตได้ หรือ ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง หรือมีพ่อแม่ สามีภรรยา ที่ต้องไปดูแล โดยศาลเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าบุคคลใดไม่จำเป็นต้องคุมขังในเรือนจำ หรือสามารถปล่อยออกจากเรือนจำก่อนกำหนดได้ โดยศาลอาจกำหนดให้อยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งแทนเรือนจำ อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงฉบับนี้มีเงื่อนไขแตกต่างจากการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ซึ่งกำหนดเกณฑ์ให้นักโทษชั้นดีที่รับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 มีสิทธิได้รับการพิจารณาพักการลงโทษจำคุกในส่วนที่ยังเหลืออยู่ แต่กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้กำหนดเงื่อนไขให้เป็นนักโทษที่รับโทษจำคุกเพียง 1 ใน 3
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่เคยมีการควบคุมตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ต่างประเทศได้บังคับใช้แล้ว ยกตัวอย่างกรณีของนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องขังคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลของประเทศแคนนาดาใช้วิธีควบคุมตัวไว้ในโรงแรมระหว่างการพิจารณาส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อไม่ให้หลบหนี หรืออาจมีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ควบคุมแทน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะใช้กับกลุ่มดังกล่าวรวมถึงสถานที่อื่นที่จะใช้คุมขังแทนเรือนจำด้วย
การพิจารณาใช้วิธีการอื่นแทนการจำคุกกับบุคคลใดนั้นจะต้องผ่านการพิสูจน์ในชั้นศาลโดยเรือนจำจะมีบันทึกประวัติของผู้ต้องขังเพื่อให้ประกอบการพิจารณาด้วยอยู่แล้ว โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีผู้ต้องขังรายหลายต้องเข้าเรือนจำเพราะไม่ได้รับการประกันตัวทั้งที่จริงแล้วอาจติดปัญหาเพียงเล็กน้อยในเรื่องการควบคุมตัว แต่หากมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้จะช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้ โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้ต้องขังจำนวนเท่าใดที่เข้าข่ายสามารถใช้สิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ ยืนยันว่าการออกกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายสำคัญ เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ โดยรมว.ยุติธรรมมีหน้าที่เพียงบริหารจัดและออกระเบียบให้สอดรับกับกฎกระทรวงเท่านั้น
"ขณะนี้สำนักงบประมาณยังไม่ได้อนุมัติงบให้จัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว เนื่องจากต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อน เพราะหากจัดซื้อล่วงหน้าแล้วกฎหมายไม่ออกจะเป็นการสูญเปล่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กฎหมายมีผลบังคับใช้หากมีญาติผู้ต้องขังไปยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์ควบคุมตัวภายนอกเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ก็จะยื่นคัดค้านและชี้แจงว่ายังไม่มีความพร้อมเนื่องจากยังไม่ได้จัดซื้ออุปกรณ์และยังไม่มีสถานที่ควบคุมตัวลักษณะอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ"นายกอบเกียรติ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของกำนันเป๊าะ หรือนายสมชาย คุณปลื้ม ที่ถูกจำคุกแล้วเจ็บป่วย และกำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกรณีนี้ศาล จะเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าบุคคลใดไม่จำเป็นต้องคุมขังในเรือนจำ หรือสามารถปล่อยออกจากเรือนจำก่อนกำหนดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น