ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี “เสี่ยอู๊ด” ฉ้อโกงสร้างพระเครื่อง “พระสมเด็จเหนือหัว” อ้างสร้างจากมวลสารดอกไม้พระราชทาน และผ้าไตรพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว!
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณา 804 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสิทธิกร บุญฉิม หรือเสี่ยอู๊ด อายุ 41 ปี และบริษัท ไดมอนด์ ฮิลล์ จำกัด โดยมีนายสิทธิกรเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และโดยใช้ข้อความที่ใช้หรืออ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม, ร่วมกันใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และเลียนเครื่องหมายราชการให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ
โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2550 จำเลยทั้งสองร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยโฆษณาเผยแพร่ว่าจัดสร้างพระเครื่องที่ใช้ชื่อว่า “พระสมเด็จเหนือหัว” สร้างจากมวลสารดอกไม้พระราชทาน และผ้าไตรพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดสร้างพระรุ่นนี้เป็นการเฉพาะ และยังนำตราเครื่องหมายพระมหามงกุฎ เครื่องหมายราชการของสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน มาพิมพ์ประทับไว้ที่ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัว ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2553 โดยพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง จึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47, 48 และ 59 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2484 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้เรียงลงกระทงลงโทษ โดยให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทหนักสุด และให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีกเป็นเวลา 1 ปี และปรับบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ฐานใช้และเลียนแบบเครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต คงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 5 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 12,000 บาท โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินกับผู้เสียหายทั้ง 921 คนที่เช่าพระสมเด็จเหนือหัว แต่ไม่ให้เกิน 4,055,916 บาท จำเลยอุทธรณ์ ขอให้พักการลงโทษและลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่จำเลยขอให้พักการลงโทษนั้นเนื่องจากจะต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาเด็ดขาด และการพักการลงโทษนั้นเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่าการกระทำและพฤติการณ์ของจำเลยทำให้ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อจนเกิดความเสียหายโดยทั่วไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นเหมาะสมกับความผิดแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน