xs
xsm
sm
md
lg

โครงการกู้ชาตินี้ใช้ชาติหน้า รัฐบาลถืออำนาจใช้งบลงทุน 7 แสนล้าน/ปี ต่อเนื่องไปกัน 7 ปีงบประมาณ – ถึงปี 2563 ผ่านเลือกตั้งทั่วไปอีก 2 ครั้ง !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เตรียมตัวเตรียมใจอยู่นานในการรอร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาท

สงสัยว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะเจ้ากระทรวงการคลังท่านคุยใหญ่คุยโตไว้เยอะ ทำนองว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่มีความรัดกุมในทุกด้าน มีโครงการละเอียดระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ มีการกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้คืน มีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่จะชำระคืนในแต่ละช่วงเวลา และ ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่แต่แรกผมเองก็คาดว่าเนื้อหาคงไม่ต่างจากพ.ร.ก.อนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ฉบับล่าสุดใน 2 รัฐบาลที่ผ่านมา คือ 4 แสนล้านบาทสมัยพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2552 เพื่อนำมาเป็นโครงการย่อย ๆ ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และอีก 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนี้เมื่อต้นปี 2555 เพื่อทำแผนบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศที่กำลังจะกู้ให้ครบภายในมิถุนายน 2556 แต่เมื่อได้ยินคำคุยของรัฐบาล ก็ต้องฟังเขาหน่อย

สุดท้ายก็ไม่มีอะไรใหม่ครับพี่น้อง !

กวาดสายตาอ่าน 19 มาตราขอร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือชื่อทางการ "ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...." รวมทั้งบัญชีท้ายพ.ร.บ.แล้ว ไม่มีอะไรมากพิเศษพิสดารมากไปกว่าพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ. 2554 และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ที่มีเนื้อหา 13 มาตราทั้ง 2 ฉบับ

สารัตถะที่แท้จริงของร่างพ.ร.บ.ฉบับที่กำลังจะพิจารณาวาระแรกในสภาผู้แทนราษฎรวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ 28 – 29 มีนาคมนี้ยังคงเป็นกฎหมายใช้เงินเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 169

ร่างกฎหมายใหญ่ระดับยกเว้นรัฐธรรมนูญมีความยาวเพียง 7 หน้ากระดาษ A 4 เป็นตัวเนื้อหาที่มีอยู่ 19 มาตราเสีย 4 หน้า หลักการและเหตุผล 1 หน้า ส่วนอีก 2 หน้าเป็นบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติที่มีบรรจุรายละเอียดโครงการและมูลค่าแบบรวม ๆ

คำคุยโวก่อนหน้านี้ที่ว่าจะมีการควบคุมกลั่นกรองนั้นแม้จะมีเขียนไว้ในมาตรา 12, 15, 18 และอาจจะพิจารณาได้ว่าเป็นมาตรา 14 ด้วย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดชัดเจน

เพราะต้องรอหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ครม.และ/หรือกระทรวงการคลังจะกำหนด


พ.ร.ก.ปี 2554 และ 2552 นั้นเมื่อตราแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ไปออกระเบียบรองรับ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2554 (มี 28 ข้อ) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 (มี 29 ข้อ) ทีแรกผมยังคาดว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำเนื้อหาดังกล่าวมาประยุกต์ใส่ไว้ แต่ปรากฏว่าผมประเมินรัฐบาลสูงไป

ยังคงเลือกใช้วิธีให้รัฐสภาเซ็นเช็คเปล่าให้เหมือนเดิม !

ที่คุยไว้ว่าจะมีความรัดกุมไม่ต่างการใช้เงินในงบประมาณตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปรกติที่ต้องผ่านระบบราชการประจำอย่างสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ก็มีเพียงบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคสองให้สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง สามารถเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาโครงการที่เสนอมา แต่อำนาจตัดสินใจก็เป็นของคณะรัฐมนตรี มิพักต้องพูดว่าในทางความเป็นจริงข้าราชการทั้ง 3 หน่วยงาน ณ วันนี้แทบจะศิโรราบกับฝ่ายการเมืองหมดแล้ว ไม่ได้เป็นปราการอันแข็งแกร่งของระบบราชการประจำเหมือนในอดีตแต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่ศักยภาพที่จะเสนอความเห็นแตกต่างจากฝ่ายการเมือง

มาตรา 14 วรรคสองจึงเป็นเพียงพิธีกรรมดาด ๆ ประกอบการรัฐประหารระบบการเงินของประเทศเท่านั้น !

และที่เคยคุยว่ากฎหมายฉบับนี้จะกำหนดระยะเวลาการใช้หนี้คืน อัตราขั้นต่ำการใช้หนี้ ไม่มีปรากฏให้เห็นในมาตราใด

ปัญหาใหญ่ของประเทศนี้คือรายรับไม่พอรายจ่าย รายรับจากภาษีอากรรูปแบบต่าง ๆ และค่าสัมปทานทรัพยากรปีหนึ่งกลม ๆ มีเพียง 2.1 ล้านล้านบาท รายจ่ายมีถึง 2.4 ล้านล้านบาท ต้องกู้มาใช้ตามปรกติอยู่แล้วเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ต้องเข้าใจว่าในจำนวนรายจ่ายมหาศาลนั้นเป็นรายใช้ประจำประเภทเงินเดือนและบำรุงรักษาเสียร้อยละ 80 เหลือเป็นงบลงทุนปีละประมาณร้อยละ 20 คือประมาณ 4 แสนล้านบาทบวกลบ

แปลง่าย ๆ ว่างบลงทุนปรกติในแต่ละปีงบประมาณเราก็แทบจะต้องกู้มาทั้งหมดอยู่แล้ว

คำถามคือเรากำลังจะลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ตั้งประเทศมา กะว่าจะใช้เงินทั้งสิ้น 4.24 ล้านล้านบาท โดยแยกออกมาเป็นเงินกู้ล้วน ๆ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 7 ปีงบประมาณ เท่ากับเฉลี่ยกู้ปีละ 3 แสนล้านบาท

เฉพาะในขั้นนี้ก่อน ก็แปลว่างบลงทุนของประเทศนี้ ทั้งลงทุนปรกติ(ในงบประมาณ) และลงทุนพิเศษ(นอกงบประมาณ) มาจากการกู้เกือบทั้งหมด

และแปลว่าในแต่ละปีงบประมาณเราจะกู้ดับเบิ้ล 2 เท่า เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พอลงทุนพิเศษ(นอกงบประมาณ)แล้วจะไม่ลงทุนปรกติ(ในงบประมาณ)เลย

ยังไม่ใช่แค่นี้เท่านั้น เพราะไอ้การลงทุนครั้งประวัติศาสตร์นี่มันไม่ใช่แค่ 2 ล้านล้าน แต่เป็น 4.24 ล้านล้านบาท โดยอีก 2.24 ล้านล้านบาทรัฐบาลท่านบอกว่าจะอยู่ในงบลงทุนปรกติในงบประมาณแต่ละปี คำถามจึงคือว่าแยกไปอยู่นี่คือแยกไปใช้งบลงทุนปรกติเฉลี่ย 4 แสนล้านบาทบวกลบในแต่ละปีงบประมาณโดยไม่ต้องลงทุนอย่างอื่นเลยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ จะแปลเป็นอื่นไม่ได้นอกจากไปเพิ่มงบลงทุนปรกติในงบประมาณขึ้นไปอีก แปลว่าต้องกู้เพิ่มขึ้นไปอีก

จะแปลได้ไหมว่า... จากนี้ไป 7 ปีงบประมาณประเทศนี้กู้ทริปเปิ้ลจากปรกติ(เกือบ) 3 เท่า ??

จะแปลได้ไหมว่า... จากนี้ไปรัฐบาลมีวงเงินนอกงบประมาณมหาศาล 2 ล้านล้านบาทให้ใช้ถึงปี 2563 ซึ่งหากรวมกับงบลงทุนในงบประมาณแต่ละปีตามปกติ จะเท่ากับรัฐบาลมีอำนาจในการใช้เงินงบลงทุนเฉลี่ยปีละ 7 แสนล้านบาทนับจากนี้ไป 7 ปี ที่จะผ่านการเลือกตั้งทั่วไปอีก 2 ครั้ง ??

จะแปลได้ไหมว่า... จากนี้ไปรัฐสภาในระบอบเผด็จการรัฐสภาผูกขาดอำนาจของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองโดยเนื้อหากำลังจะโอนอำนาจการตรวจสอบกลั่นกรองของตัวเองตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่รัฐบาลสำหรับเงินก้อนมหาศาลนี้ ??


ถึงอย่างไรก็ตามโดยตัวระบอบแล้ว ผ่าน 2 สภาภายในเดือนกันยายน 2556 นี้แน่

แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องวินิจฉัยตามว่าที่คำร้องของทั้งส.ว.และส.ส.ว่าไอ้การกำหนดให้กู้เงินยาวจนถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยที่วันนี้ยังไม่มีรายละเอียดโครงการนี่มันเข้าข้อยกเว้นเป็นเหตุเร่งด่วนตามมาตรา 169 หรือไม่ ?

ถ้าไม่ ! มันขัดรัฐธรรมนูญไหม ?

ถ้ายังผ่านอีก คนชั้นกลางและคนจนก็พึงตระหนักไว้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ของฟรีไม่มีในโลก รัฐบาลชุดนี้จะดีหรือชั่วก็ตาม แต่ไม่โง่ วิธีหาเงินรายได้เพิ่มมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งในและนอกงบประมาณมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น

เก็บภาษีเพิ่ม !

แล้วคิดหรือว่าเขาจะเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยหรือกลุ่มทุนโดยเฉพาะทุนปิโตรเลี่ยม ??

กำลังโหลดความคิดเห็น