xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชำแหละกู้ 2 ล้านล้าน ไร้รายละเอียดส่อโกง ทำหนี้พุ่งกว่ายุค IMF 4 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี (แฟ้มภาพ)
ทีมเศรษฐกิจ ปชป.โวยร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มีแค่ 7 แผ่น ไร้รายละเอียดการใช้งบประมาณ เปรียบเซ็นเช็คเปล่าให้รัฐบาลไปกรอกตัวเลข ส่อทุจริตชัด ระบุหนี้สาธารณะพุ่งมากกว่ายุคกู้ไอเอ็มเอฟ 4 เท่า



นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงถึงการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่อ้างว่าจะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าเห็นด้วยกับการพัฒนาโครงสร้างประเทศ แต่หลังจากที่ได้เห็นร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ตัวจริงมูลค่า 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลแล้วผิดหวังมาก เพราะเป็นเอกสารร่าง พ.ร.บ.มี 19 มาตรา รวม 3 แผ่น เหตุผลและหลักการ 2 แผ่น และเอกสารท้าย พ.ร.บ.ที่ระบุว่าจะใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาททำอะไรบ้างอีก 2 แผ่น รวมเอกสารขนาดเอสี่ 7 แผ่น ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันจากร่าง พ.ร.บ.นี้เลย เพราะไม่ให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาในโครงการตามที่รัฐบาลบอกกับสังคมว่าจะทำ มีแต่เอกสาร 2 แผ่นที่ระบุหัวข้ออะไร มูลค่าโครงการเท่าไหร่ โดยไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย ดังนั้นพรรคจึงเห็นว่าหากรัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานก็ควรบรรจุไว้ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จะมีความชัดเจนในการใช้งบประมาณ และสามารถตรวจสอบได้ตามหลักปกติ

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า แต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในนามรัฐบาล กลับระบุยืนยันว่า การกู้เงินจำนวนนี้ทำเป็น พ.ร.บ.เงินกู้นอกงบประมาณชัดเจนกว่า ซึ่งเป็นการโกหก เพราะได้แจ้งเป็นเอกสารแนบท้าย พ.ร.บ.นี้แค่ 2 แผ่น ที่ระบุกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ

1. ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ระบุกว้างๆ ว่าใช้งบประมาณ 354,560.73 ล้านบาท 2. ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ระบุใช้งบประมาณ 1,042,376.74 ล้านบาท และ 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว ที่ระบุใช้งบประมาณ 593,801.52 ล้านบาท และงบประมาณอีก 9,261.01 ล้านบาท ที่ระบุว่าจะใช้เป็นค่าเตรียมความพร้อมแผนงาน และที่ทราบมาคร่าวๆ ว่าจะใช้งบอีกราว 6 หมื่นล้านบาทในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำโครงการนี้ แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรให้ดูเลย คาดว่าพอถึงวันที่จะพิจารณา พ.ร.บ.นี้ รัฐบาลคงจะมีเอกสารประกอบ พ.ร.บ.เงินกู้แจก ซึ่งค่อนข้างผิดปกติ ที่จะแจกเอกสารก่อนวันที่จะมีการพิจารณาเพื่อให้ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

“เอกสารที่แจกโดยจะระบุว่าเป็นเอกสารประกอบบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.เงินกู้ครั้งนี้จึงไม่ถือว่าเป็นเอกสารบัญชีแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.หรือเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.เงินกู้ เพราะฉะนั้นถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาล เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ จะมารับรองได้ว่าจะไม่มีการโยกย้าย โยกงบประมาณหรือเปลี่ยนแปลงได้ทุกรายการที่แจ้งแนบท้าย ฉะนั้นจึงถือว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้นี้ไม่มีความชัดเจนเปรียบไปแล้วเหมือนการ เขียนเช็คเปล่าให้รัฐบาลเอาไปกรอกเลขได้ตามใจชอบ”

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า การขอกู้เงินครั้งนี้ ถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การกู้เงินของชาติไทย และหากเทียบกับการเป็นหนี้ของไทยกับไอเอ็มเอฟเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ครั้งนี้ถือว่าเป็นหนี้ที่มีวงเงินสูงกว่าเป็น 4 เท่าของยอดหนี้ที่เคยกู้ไอเอ็มเอฟ ถือเป็นการดำเนินนโยบายการคลังสุดโต่ง คือจะเป็นการกู้เงินครั้งสุดท้ายของประเทศไทย เพราะการกู้เงินครั้งนี้จะสร้างหนี้สินสาธารณะชนิดเต็มเพดาน รัฐบาลอื่นที่รับช่วงบริหารต่อจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถขอกู้ได้อีกแล้ว

ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็รู้ว่าการกู้เงินครั้งนี้จะสร้างหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี แต่กระทรวงการคลังยังปฏิเสธว่ากู้แล้ว หนี้สาธารณะไม่ถึง 50 % ของจีดีพี โดยอยู่บนสมมติฐานที่เป็นเท็จและเข้าข้างตัวเอง คือ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 7.5% ต่อปี รวม 7-8 ปี และโครงการจำนำข้าวจะไม่ขาดทุนซ้ำอีกในปี 2556 ขณะที่ข้อเท็จจริงโครงการจำนำข้าวในปี 55-56 มีการใช้เงินไปแล้ว 4.1 แสนล้านบาท และส่อว่าจะขาดทุนเพิ่มเกินกว่าครึ่ง ดังนั้น การกู้เงินครั้งนี้ของรัฐบาลจึงอยู่บนสมมติฐานที่ผิด เข้าข้างตัวเองชัดเจน ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเปรียบ พ.ร.บ.เงินกู้

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า สำหรับการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้าน ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคและอดีต รมว.คลัง เป็นผู้นำทีมในการอภิปรายแล้ว ก็จะมีนายสรรเสริญ สมะลาภา ตนและเพื่อน ส.ส.อีกหลายสิบคน ที่จะชำแหละเอาข้อเท็จจริงมาตีแผ่กระตุกเตือนรัฐบาล ก่อนที่จะสร้างหนี้ผูกพันไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะเมื่อดูรายละเอียดของการใช้จ่ายในการอนุมัติ พ.ร.บ.เงินกู้ที่มีบัญชีแนบท้าย แต่ไม่มีรายละเอียดโครงการใดๆ ถือเป็นการมอบอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายบริหารแบบวันเวย์ทิกเก็ต หรือตั๋วไปเที่ยวเดียว เพราะไม่สามารถตรวจสอบ ตรวจทานการใช้จ่ายงบประมาณนอกระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เลย จึงเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดครั้งหนึ่งของการกู้เงินอนาคตมาใช้ โดยอ้างการพัฒนาประเทศเพื่อตบตา


กำลังโหลดความคิดเห็น