xs
xsm
sm
md
lg

โต้งหั่นภาษีนิติบุคคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "กิตติรัตน์" เผยเตรียมลดภาษีนิติบุคคลจากปัจจุบัน 20% ลงอีก ลั่นเป้าหมายต้องต่ำสุดในอาเซียน พร้อมโต้เอดีบีเตือนฟองสบู่อสังหาฯ ยันของไทยยังห่างไกล เพราะมีทั้งอุปสงค์และอุปทานที่ยังขยายตัวได้อีก ขณะที่ "ดร.โกร่ง" ปาฐกถาพิเศษสวนทางลูกศิษย์ ชี้ฟองสบู่ชัวร์ เหตุเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยจนดัชนีขึ้นลงอย่างรวดเร็ว คาดอาจขยับสูงกว่า 1,600 จุด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากร การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากก่อนนี้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 55 และลดเหลือ 20% ภายในปี 56 ซึ่งถือมีอัตราภาษีที่ต่ำเป็นที่ 2 ของอาเซียน และมีโอกาสที่จะลดภาษีลดต่ำกว่านี้ได้อีก เพราะมีหลายประเทศที่ยังมีภาษีที่ต่ำกว่า แต่สิ่งสำคัญที่ของการลดภาษีแล้วรัฐบาลจะต้องมีรายได้ที่เพียงพอและทำให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น
"หากภาษีต่ำและทุกคนเข้าสู่ระบบก็เนเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้มีหลายบริษัทมองว่ายังมีคนไม่เข้าสู่ระบบ การแสดงยอดเงินได้พึงประเมินยังไม่ตรงความจริง แต่ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือดีขึ้น รายได้ภาษีก็ดีขึ้น ถ้าจะทำ ทำไมไม่ทำให้ต่ำกว่า ก็มีโอกาสที่จะทำภาษีให้ต่ำกว่าฮ่องกง สิงคโปร์ได้"
นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงกรณีผู้บริหารของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ออกมาเตือนประเทศในเอเชียให้ระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายและภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ถือเป็นเรื่องที่จับตา แต่มองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีพื้นที่ให้ขยายตัวได้อีก
ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย แตกต่างจากบางประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเมืองและมีอุปทานเกิดใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่มีพื้นที่ขยายตัวที่จำกัดทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับสูงขึ้น และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีจำนวนมาก และมีความเข้มแข็ง ดังนั้นอุปสงค์และอุปทานยังทำงานที่สอดคล้องกัน ไม่เป็นอันตรายต่อระดับราคา แต่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะต้องระมัดระวัง
การที่มีสภาพคล่องในระบบมากทำให้มีเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไร แต่มองว่าส่วนใหญ่จะเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ และเมื่อมีการขายตราสารฯ ก็จะมีสภาพคล่องอยู่ ก็อาจขยายมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ ก็ต้องจับตาทั้งทางตรง ทางอ้อม แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในระบบที่เป็นผลกระทบรุนแรง

***"ดร.โกร่ง" ปาฐกถาชี้เกิดฟองสบู่แน่
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) ไปปาฐกถาพิเศษหัวข้อ การพัฒนาประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเปิดเชิงรุกบุกเออีซี โดยเชื่อว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการค้าและการลงทุน ซึ่งจีนและเอเชียจะเป็นประเทศสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ขณะที่ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่จะดึงหลายประเทศจะเข้ามาลงทุน ในแผนการลงุทนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันนายวีรพงษ์อ้างว่า ในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติรู้สึกหวั่นวิตก และมีสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้ จนถึงต้นปี 2557 อาจจะเกิดฟองสบู่แตกในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีเงินทุนไหลเข้าจากการที่ตลาดหุ้นไทยมีการขึ้นลงอย่างรวดเร็วจาก 1,000 ต้นๆ มาอยู่ที่ 1,600 จุด และอาจขยับสูงไปกว่านี้ รวมถึงนักธุรกิจสนใจพันธบัตรรัฐบาล และมีการซื้อมากกว่าร้อยละ 15 และจะเพิ่มมากกว่านี้ สัญญาณเห็นได้ชัดคือ เงินบาทแข็งค่า
"เชื่อว่า ธปท.จะไม่กล้าประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดกระแสความร้อนแรงของเงินไหลเข้าแน่นอน แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องจับตาว่าจะหาทางอย่างไรที่จะป้องกันปัญหาฟองสบู่แตก เนื่องจากไทยเป็นประเทศเปิดตลาดภาคการเงินเสรี โดยไม่มีเครื่องมือป้องกัน ถือเป็นสิ่งอันตรายมาก" นายวีรพงษ์กล่าว.

***ตีปี๊บ 2 ล้านล้านเข้า ครม.
นายกิตติรัตน์กล่าวถึง พ.ร.บ.โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า จะนำเสนอที่ประชุม ครม. ในวันนี้ (19 มี.ค.) คงกรอบวงเงินเดิม แต่อาจมีการปรับรายละเอียดโครงการลงทุนเล็กน้อย เช่น จะมีการลงทุนในการเพิ่มด่านศุลกากรด่านช่องจอม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในอนาคต
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “งบ 2 ล้านล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐร่วมภาคเอกชนและภูมิภาค” ในการประชุมสามัญประจำปีสภาอุตฯ ว่า รัฐบาลมองว่า เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างก้าวกระโดด ประเด็นท้าทายคือ การลงทุนระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยจะต้องมีการลงทุนรถไฟฟ้า 10 สายทาง พร้อมระบบตั๋วร่วมที่ใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ ครม.เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมขอให้ ส.ส.และ ส.ว. ร่วมลงชื่อตาม มาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญ เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ว่าขัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ และเรียกร้องว่าสมาชิกไม่ควรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพราะจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการรับรองออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ ที่อาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ.
กำลังโหลดความคิดเห็น