ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปิดฉากไปแล้ว กับเวทีการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (ไซเตส)หรือ (CoP16) 3-14 มีนาคม 2556 โดยที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ท่ามกลางสมาชิกไซเตสกว่า 140 ชาติ กว่า 3 พันคน
งานวันสุดท้ายไปจบหลัง “วันช้างไทย” 1 วัน ที่ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี
ขณะมีข้อสรุปนำเสนอขอขึ้นบัญชีสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ สรุป มีการพิจารณากันถึง 71 เรื่อง ผ่านขึ้นบัญชี 54 เรื่อง ไม่ผ่านขึ้นบัญชี 11 เรื่อง และให้เลื่อนพิจารณา ว่าจะขึ้นบัญชีหรือไม่ 6 เรื่องไปพิจารณาในคราวหน้า
ประเด็นเรื่อง“ช้าง”ถูกหยิบยกมาพูดถึงในวันแรกๆ
เจ้าชายวิลเลี่ยม แห่งราชวงศ์อังกฤษ มีพระดำรัสผ่านคลิปวิดีโอ ถึงการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบของการเลี้ยงดูและอนุรักษ์ช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นต้นแบบที่ดีมากในการดูแลและอนุรักษ์ช้าง ซึ่งการลักลอบค้างาช้าง ไม่ใช่ภัยคุกคามประเทศใดประเทศหนึ่ง หากไซเตสไม่ต่อสู้เรื่องนี้ วันหนึ่งช้างจะหายไปจากโลก
ยังทรงมีรับสั่งแสดงความเชื่อมั่นว่า การประชุมไซเตสครั้งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการอนุรักษ์ และยังเป็นการชี้ชะตาอนาคตของสัตว์และพืชอีกหลายสายพันธุ์
ปัญหาค้างาช้าง กลายมาเป็นวาระที่ไทยถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ โดยด้านหนึ่งมองว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องความร่วมมือจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมไซเตส แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเทศเห็นว่าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมสัตว์ป่าข้ามชาติระดับโลก ทั้งการค้าและการบริโภค ซึ่งการจัดประชุมจะช่วยกระตุ้นให้ไทยแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา
"ลีโอนาโด ดิคาปริโอ" พระเอกฮอลลีวูดชื่อดัง เรียกร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยเป็นแกนกลางในการอนุรักษ์ช้างให้ดำเนินเกี่ยวกับการขายงาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย และการนำเข้าไทย
แถมยังโพตส์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ประกาศจะเปลี่ยนกฎหมายการค้างาช้าง
ด้วยวลีเด็ด! “ไม่มีใครรักช้างเท่าคนไทย”
แม้ต่อมา โฆษกรัฐบาลไทยจะปฏิเสธว่า ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนกฎหมายการค้างาช้าง แต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไทยจะร่วมป้องกันและปราบปรามมากขึ้นเท่านั้น
ขณะที่ มติที่ประชุมให้ทุกประเทศที่มีช้าง รายงานการควบคุมค้างาช้างของรัฐและเอกชน ส่วนของบุคคลไม่บังคับว่าต้องสำรวจและรายงานแต่ให้ทำในส่วนที่ปฏิบัติได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิและทรัพย์สินส่วนบุคคล รวมทั้งต้อง ราย งานผลการจับกุมที่เกิดขึ้นให้กับทางไซเตสทราบเพื่อจะได้ทราบว่ามีการตรวจยึดงาช้างและผลิตภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการสำรวจงาช้างที่อยู่ในสต็อก
โดยเฉพาะของไทย ให้สำรวจงาช้างบ้านที่ยังมีชีวิตด้วยมีจำนวนกี่ตัวที่มีงา ขนาดความยาวเท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแอบนำงาช้างมาสวมตอ นอกจากนี้ทั้ง 8 ประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องการค้างาช้างผิดกฎหมาย อาทิ จีน ไทย เวียดนาม คองโก เคนยา จะต้องเสนอแผนควบคุมการลักลอบค้างาช้าง ต่อคณะกรรมการไซเตสให้ชัดเจน ภายใน 2 เดือนข้างนี้"
ส่วนกรอบในการบังคับใช้กฏหมายเรื่องช้างของไทยนั้น ขณะนี้ได้มีการทำหนังสือไปยังอบต.ในจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้ประกอบการร้านค้างาช้างทั้ง 150 แห่ง เช่น นครสวรรค์ อุทัยธานี เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ต้องรายงานสำรวจจำนวนผลิตภัณฑ์งาช้าง ทั้งจากรัฐ-เอกชน ที่ครอบครองอย่างละเอียด และขอความร่วมมือผู้ประกอบการห้ามขายผลิตภัณฑ์งาช้างกับชาวต่างชาติ เพื่อไม่ให้นำออกนอกประเทศแล้วถูกจับ
ขณะที่ไฮไลท์ที่ประทศไทยได้รับผลประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะ "ไม้พะยูง" ที่ได้มติเอกฉันท์ขึ้นบัญชี 2 ไซเตส อนุญาตให้ค้าขายได้แต่ต้องควบคุมไม่ให้ลดปริมาณ ชี้วิกฤติหนักเหลือแค่ 1 แสนต้น
ประเด็นนี้ประเทศไทย ได้นำเสนอขอขึ้นบัญชีไม้พะยูง เข้าในบัญชี 2 ของไซเตส ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้ลดปริมาณอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมไซเตส ได้มีมติยอมรับไม้พะยูงขึ้นบัญชี 2 ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ โดยไม่ต้องใช้วิธีการโหวตแต่อย่างใด
เรื่องนี้ นายสุรวิช วรรณไกรโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สำหรับปรับ ปรุงพันธุ์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานไม้พะยูง ยอมรับว่า ไทยประสบความสำเร็จในผลักดันไม้พะยูงเข้าบัญชี 2 ของไซเตส เนื่องจากไม้พะยูงอยู่ในภาวะวิกฤติมาก โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2548 ที่คาดว่าจะมีไม้พะยูงในป่าสูงถึง 3 แสนต้น แต่ขณะนี้น่าจะเหลืออยู่เพียง 1 แสนต้นเท่านั้น หรือลดลง 2 ใน 3 หลังจากถูกแอบลักลอบตัดจากป่าอนุรักษ์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะในจีนที่มีความนิยมความเชื่อเรื่องโชคลาภจากไม้พะยูงทำให้มีราคาสูงถึง 2-2.5 แสนบาทต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ ทางผู้แทนจากประเทศจีน ได้อภิปรายเรื่องความกังวลเรื่องของการแยกชนิดของเนื้อไม้ระหว่างไม้พะยูง และไม้ชิงชัน ไม้แดง ที่มีความใกล้เคียงกัน หากมีการลักลอบเข้าไปเกรงว่าจะถูกแบนด์จากไซเตสหรือไม่ ซึ่งเราชี้แจงว่าจะมีการทำคู่มือการตรวจสอบการจำแนกเนื้อไม้ ซึ่งสามารถแยกได้ง่ายหากใช้แว่นขยายส่องเนื้อไม้ให้กับภาคีสมาชิกไว้ ขณะเดียวกัน ยังชี้แจงว่าถึงไม้พะยูงจะขึ้นบัญชี 2 แต่หลายประเทศยังสามารถส่งออกไม้แดง ในกลุ่มเดียวกัน เป็นไม้ทดแทนไม้พะยูงได้
หัวหน้าคณะทำงานไม้พะยูง ให้ข้อสังเกตว่า สำหรับไม้พะยูง ของไทยนั้นจัดอยู่ในบัญชี้ไม้หวงห้ามประเภท ก. ที่ไม่อนุญาติให้ค้าขายหรือส่งออกอยู่แล้ว แม้ว่าจะอนุญาตให้ตัดในพื้นที่กรรมสิทธิ์ได้แต่ไม่สามารถส่งออกไปขายได้ ดังนั้น หากยิ่งถูกควบคุมจากบัญชีไซเตส 2 จะช่วยควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งจากประเทศต้นทาง และปลายทางที่ต้องมีใบอนุญาตมาแสดง เชื่อว่าน่าจะช่วยลดการลักลอบค้าไม้ชนิดนี้ไปได้มาก ซึ่งมีข้อมูลพิกัดทางการค้าของกลุ่มไม้พะยูง ไม้แดงพบว่ากลุ่มประเทศที่นำเข้ามาก เช่น จีน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย โมซัมบิก เป็นต้น
เขายังพูดถึง “การค้าไม้พะยูงระหว่างประเทศ” ด้วยว่า คงยังไม่สามารถส่งออกได้ในตอนนี้และคงไม่มีไม้พะยูงในที่ดินกรรมสิทธิ์มากเพียงพอที่จะส่งออกทันทีที่ขึ้นบัญชีไซเตสมาหมาดๆ อย่างนี้อาจจะเข้าข่ายการนำไม้มาสวมตอหรือไม่ ซึ่งกระบวนการต่อจากนี้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯคงต้องเข้มงวดในการตรวจสอบไม้พะยูงที่อยู่ในที่ดินเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศักยภาพของไม้พะยูง ที่ปลูกในสวนป่ามีมากว่า 20 ปีแล้ว โดยมีการวิจัยว่าอัตราการเติบโตนั้นไม่ต่างจากไม้สัก เพาะพันธุ์ได้ง่าย ดังนั้นในอนาคตถ้ามีการปลูกไม้พะยูงในพื้นที่เอกสารสิทธิ์เพียงพอแล้ว ก็อาจจะส่งเสริมในทางการค้าเหมือนกับไม้กฤษณา"
ส่วนนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ตื่นเต้นกับที่ "ไม้พะยูง" ที่ได้มติเอกฉันท์ขึ้นบัญชี 2 ไซเตส ว่า เพื่อเน้นการอนุรักษ์จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติ โดยจะยังไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกไม้พะยูงอย่างแน่นอน เนื่องจากไทยไม่เคยอนุญาตส่งออกไม้พะยูงที่อยู่ในบัญชีไม้หวงห้ามประเภท ก.ของกฎหมายป่าไม้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม้พะยูงถูกแอบตัดและลักลอบส่งออกอย่างผิดกฎหมาย
แต่ยอมรับว่า การค้าไม้พะยูงในสวนป่าเอกชนเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการในอนาคต โดยอาจจะสนับสนุนให้มีสวนป่าเอกชนปลูกไม้พะยูงเพื่อการค้าได้ แต่ยังไม่ใช่ระยะนี้ เพราะเป้าหมายเราคือจะต้องรักษาไม้พะยูงในป่าที่เหลือแค่ 1 แสนต้นให้ได้ก่อน รวมทั้งเตรียมการปลูกเสริมไม้พะยูงอีก 2 หมื่นไร่ในแหล่งไม้พะยูง และยังเตรียมเพาะกล้าพะยูงอีก 1 ล้านกล้าเพื่อปลูกทดแทนในป่า และที่ดินของชาวบ้านอีกด้วย ส่วนการจะส่งเสริมขายไม้พะยูงจากป่าปลูกในเชิงการค้านั้น มองว่าอาจต้องหลังจากนี้นับ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย โดยกรมประมง ยังได้เสนอต่อที่ประชุมในการขอปรับบัญชีจระเข้จากเดิมบัญชีที่ 1 ที่ห้ามซื้อขายเด็ดขาด มาเป็นบัญชีที่ 2 อนุญาตใหัทำการค้าได้แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหรือลดจำนวนลง โดยประเทศที่ส่งออกจะต้องออกหนังสืออนุญาตเพื่อการส่งออกและรับรองว่าเกิดส่งออกนั้นไม่เกิดความเสียในธรรมชาติ
ด้วยเหตุผลที่ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะขยายพันธุ์จระเข้ทั้งจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มในฟาร์มเลี้ยงเพื่อทดแทนจำนวนจระเข้ที่หายไปในธรรมชาติ หรือเพื่อการค้า หรือเพื่อการท่องเที่ยว ได้จำนวนมาก ราวปีละกว่า 2 แสนตัว ทำให้อุตสาหกรรมการค้าจระเข้ค่อนข้างที่จะเติบโต และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะหากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในอีก 2 ปี ข้างหน้า หากเราสามารถค้าขายได้ภายใต้กฎระเบียบไซเตส จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจระเข้ซึ่งมีกว่า 800 ฟาร์ม สามารถดำเนินการส่งออกได้สะดวกมากขึ้น
แต่ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยในการขอปรับลดบัญชีในครั้งนี้ ประเทศไทยก็ต้องรวบรวมข้อมูลความจำเป็นและเหตุผลประกอบว่าการปรับบัญชีจะไม่กระทบต่อจระเข้ในธรรมชาติ และเสนอต่อที่ประชุมไซเตสใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า
เมื่อมีมติที่น่ายินดีแล้ว เรื่องนี้รัฐบาลไทยหรือผู้ที่รับผิดชอบ คงจะต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาจากเวทีระดับชาตินี้ได้ทันที แต่ต้องถามกลับไปยังสังคม ดังๆว่า “คนไทยได้อะไรจากการประชุมไซเตส”