ช้างไทยคือสัตว์ประจำชาติโดยมีประวัติความเป็นมาในการมีชีวิตอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน ทว่า มาถึงทุกวันนี้ ช้างไทยกลับกลายเป็นสัตว์หายากที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธ์
โดยการประชุมไซเตสที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในด้านการบังคับใช้กฎหมายและควบคุมงาช้างผิดกฎหมาย แม้ว่าช้างจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประจำประเทศก็ตาม และเมื่อไม่นานมานี้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังมีข่าว การยิงแม่ช้างตายอย่างโหดเหี้ยมโดยสันนิษฐานว่าเพื่อเอาลูกช้างไปขาย
ในทุกวันที่ 13 มีนาคมของทุกปีคือวันช้างไทย มีกิจกรรมรำลึกปลุกจิตสำนึกให้คนไทยหันมาอนุรักษ์ช้างไทยกันมากขึ้น ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือช้างไทยยิ่งถูกคุกคามมากกว่าเดิม
ช้างไทยในประวัติศาสตร์
ความเป็นมาอันยาวนานของช้างกับสังคมไทย เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ช้างกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย ในสมัยโบราณมีการใช้ช้างในการทำสงคราม บอกได้ว่าช้างไทยเป็นกำลังสำคัญในการสู้ศึกเพื่อเอกราชของชาติไทย
โดยในการสู้รบนั้น พระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพจะใช้ของ้าวนั่งไปบนหลังช้างแล้วต่อสู้กัน ช้างของแต่ละฝ่ายต้องต่อสู้กัน ช้างที่มีกำลังมากกว่า สามารถงัดช้างของศัตรูได้ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ดังนั้นผล แพ้ - ชนะจึงขึ้นอยู่กับทั้งแม่ทัพและช้างด้วย
ในด้านของพระราชพิธีต่างๆ ก็มีการนำช้างเข้ามาประกอบพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยช้างเผือกถือเป็นช้างที่สำคัญในพระราชพิธีต่างๆ เช่น งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5 กล่าวถึงการนำพระวิมลรัตนกิริณีช้างเผือกในรัชกาลที่ 4 แต่งด้วยเครื่องคชาภรณ์ออกยืนแท่นพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการขอความสมบูรณ์ให้กับต้นข้าวพืชพันธุ์ของประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นอกจากนี้ ช้างยังอยู่ในความเชื่อทางด้านพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น ช้างนาฬาคีรีเป็นช้างที่มีรูปสูงใหญ่ วิ่งเร็ว ดุร้าย เป็นช้างที่พระเทวทัตใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายพระพุทธเจ้า ช้างปาลิไลยกะเป็นช้างที่รับใช้พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่หมู่บ้านปาลิไลยกะ
ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย โดยในสมัยก่อนนั้นจะเห็นว่าช้างเป็นสัตว์ที่ได้รับเกียรติสูงส่งทั้งทางด้านการเมือง สังคมเศรษฐกิจ และด้านขนบธรรมเนียมประเพณี แต่มาถึงปัจจุบันกลับกลายเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปทุกที
ช้างไทยในปัจจุบัน
ช้างในประเทศไทยเหลือน้อยลงทุกที จากการเปิดเผยของมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ว่าช้างในประเทศไทยประกอบไปด้วยช้างป่าประมาณ 3,000 ตัว กับช้างเลี้ยงประมาณ 4,000 เชือก
โดยในการประชุมไซเตส(CITES) หรืออนุสัญญาซึ่งว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ มีรายงานขององค์กรฐานข้อมูลการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากช้างที่ผิดกฎหมาย (Elephant Trade Information System : ETIS) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ติดตามและควบคุมสถานการณ์การค้างาช้างซึ่งระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของโลกในฐานะที่มีความอ่อนแอที่สุดในด้านการบังคับใช้กฎหมายและควบคุมงาช้างผิดกฎหมาย นำหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีน
ทั้งนี้ แม้จีนจะเป็นตลาดค้างาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่จีนก็มีท่าทีที่จริงจังกับเรื่องการตรวจจับงาช้างผิดกฎหมาย และมีมาตรการลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงมาก มีการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้กระทำผิดเรื่องงาช้างไปแล้วถึง 32 ราย
นอกจากนี้ คณะเลขาธิการไซเตสยังให้ข้อมูลอีกว่าที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่ากังวลที่สุดในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยเป็นทั้งเส้นทางของขบวนการค้างาช้าง และยังเป็นผู้ค้าขายงาช้างเองอีกด้วย
โซไลดา ชวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เผยถึงปัญหาการอนุรักษ์ช้างไทยจากการทำงานมา 21 ปีปัญหายังคงมีอยู่แม้การรับรู้ของสังคมจะดีขึ้นก็ตาม ซึ่งปัญหาของช้างป่าคือถูกฆ่าเพื่อเอางาไปขาย หรือเอาลูกไปเลี้ยง ขณะที่ปัญหาของช้างเลี้ยงซึ่งมีจำนวนมากกว่าในประเทศไทยนั้น คือการถูกทารุณหรือเลี้ยงอย่างไม่ถูกต้อง
“จริงๆมันก็ไม่ควรนำช้างออกมาจากป่าอีกแล้ว อยู่ในป่าเหมาะดีแล้วเพราะเป็นสถานที่ของเขา แต่อยู่ดีๆ นำมาเลี้ยง ซึ่งเกิดจากการมีนายทุนมากว้านซื้อ ช้างแก่ ช้างเด็ก ช้างพิการ เอาหมด ซึ่งเมื่อก่อนก็จะเห็นได้ว่ามีการนำมาปล่อยให้เช่าเป็นช้างเร่ร่อน แล้วมีคนมาขายผลไม้ให้คนเมืองสงสาร”
ทว่า ถึงตอนนี้ช้างที่ถูกนำมาเลี้ยงมักจะอยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อไว้เป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งเธอบอกว่า เป็นเฉพาะบางที่เท่านั้นที่มีการเลี้ยงดูช้างที่ผิด ทั้งยังมีวิธีได้ลูกช้างมาอย่างไม่ถูกต้องอีกด้วย
“มันก็ต้องพรากลูกพรากแม่ ลูกช้างยังกินนมแม่ไม่ถึงวัยหย่านม ร่างกายสรีระความสมบูรณ์ก็หายไป มันทำให้เกิดความเครียดทั้งตัวช้าง และอันตรายต่อทั้งผู้พบเห็น”
ในส่วนของการขายงาช้างในประเทศไทยกลายเป็นตลาดใหญ่เพราะยังคงเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายนั้น เธอเผยว่า ส่วนมากแล้วเป็นงาที่มาจากต่างประเทศ แต่มาบอกว่าเป็นงาของช้างไทย
“ประเด็นงามันต่อเนื่องกันมาว่า งาในประเทศเราไม่ได้เหลือมากขนาดนั้นแต่ทำไมตลาดค้างาถึงมีเยอะ ก็เพราะเป็นงาของช้างแอฟริกาที่ส่งต่อไปในประเทศบ้างบางส่วน ประเทศเรากลายเป็นทางผ่านของทั้งการค้าสัตว์ป่าและงาช้างที่ผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ จนเขาประณามไปทั่วโลก”
ต้นตอของปัญหานั้นก็มาจากกฎหมายยังไม่มีมาตรฐานจะเอาผิดกับผู้ขายงาช้างได้ ด้วยเพราะช้างยังคงเป็นสัตว์ที่อยู่ในพ.ร.บ.สัตว์พาหนะพ.ศ.2482 ทำให้ยังคงมีการเป็นเจ้าของสามารถซื้อขายซาก ขายงา ขายได้ทุกอย่างเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
“เราอยากให้รัฐบาลจริงใจกับการแก้ปัญหามากกว่านี้ ปัจจุบันก็ไม่มีเจ้าภาพเรื่องช้างเร่ร่อนเลย พอบอกว่าช้างเลี้ยงก็ต้องอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยในฐานะของนายทะเบียน พอมาเป็นช้างป่าก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากร
“ทางกลุ่มได้เสนอให้ยกเลิกช้างจากการเป็นสัตว์พาหนะ ตั้งแต่ปี 2536 ตอนนี้ก็ขึ้นปีที่ 21 ช้างก็ยังอยู่ที่เดิม งาก็ยังขายได้ตามพ.ร.บ.สัตว์พาหนะ เจ้าของสามารถขายซากได้ ขายงา ขายอะไรก็ได้ ตัวเป็นๆ ก็ได้ เลยได้เรียกร้องให้มีพ.ร.บ.ช้างเป็นการเฉพาะ ให้เหมาะสมกับปัจจุบันที่ช้างไม่ได้ใช้เป็นสัตว์พาหนะแล้ว”
หนทางอนุรักษ์
พื้นที่หนึ่งที่ปัญหาช้างถูกพูดถึงและเป็นปัญหาอย่างหนัก ตั้งแต่ช้างถูกไล่ล่า ขาดแคลนอาหารจนบุกรุกพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน และถูกวางยาพิษ มาถึงวันนี้ที่คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกัน พงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี ประธานเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี และประธานมูลนิธิช้างบ้านพ่อ เผยถึงกุยบุรีโมเดลว่า มาจากความสำเร็จในการต่อสู้ที่มีมาอย่างยาวนาน
“ปัญหายอมรับว่า แต่ละที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เกิดจาก คนไปรุกล้ำที่อยู่กินของช้าง ทำให้ช้างต้องออกจากแนวป่าไปกินพืชไร่ของเกษตร ของเราก็เคยเจอ เหตุการณ์นั้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว แต่แก้แล้ว เมื่อก่อนเราเคยเจอปัญหาช้างมากินสับปะรดแล้วคนก็วางยาพิษช้าง หลังจากนั้น ก็มีช้างตายเพิ่มอีกหลายตัว ถูกวางยาพิษ ถูกยิงตาย ถูกเผานั่งยาง”
หลังจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้าง เขาเผยถึงหนทางออกที่มีเริ่มมาจาก โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการทวงคืนที่ดินที่ชาวบ้านบุกรุก จากนั้นก็มีการปลูกหญ้า ทำโป่ง สร้างฝาย ทำแหล่งอาหารให้กับช้างจนช้างไม่ออกจากแนวป่าเพราะมีแหล่งอาหารเพียงพอ
และยังมีการประสานงานร่วมมือกับชาวบ้าน ติดป้ายป้องกันการบุกรุกโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับการป้องปรามโดยให้เบอร์ติดต่อ ทำให้ชาวบ้านสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันทีหากมีคนร้ายบุกรุกป่า
“พวกเราก็น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวมา ที่นี่เลยกลายเป็นกุยบุรีโมเดล คือป่าได้คืนกลับมาสู่ธรรมชาติจากเดิมที่ถูกบุกรุกแล้วมีแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้กับช้าง ทำให้ช้างหากินได้อย่างปกติ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวมาเจอช้างได้ทุกวัน”
ภาพอดีตอันเจ็บปวดในความทรงจำของช้างที่ถูกชาวบ้านทำร้าย กลายเป็นภาพที่ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างสงบสุข นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นช้างได้ทุกวันจนกลายเป็นจุดขายที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านกลับคืน
“ช้างสามารถหากินได้แบบตามวิถีเขาทุกวัน ช้างมั่นใจ ชาวบ้านที่เคยขัดแย้งก็กลับมารักช้าง เป็นมัคคุเทศ ตั้งชมรมท่องเที่ยว ขายสินค้า ชาวบ้านก็เกิดความรู้สึกว่าช้างช่วยเขาด้วย นักท่องเที่ยวที่มาก็มาช่วยช้างมาทำโป่ง ปลูกหญ้า”
แต่สิ่งที่ยังต้องทำอยู่ทุกวันคือการปกป้อง ลาดตระเวน ป้องกันแหล่งอาหารของช้างเพื่อให้ช้างออกนอกแนวป่ามารุกล้ำในเขตพื้นที่ไร่ของชาวบ้าน
ในส่วนของข้อกฎหมายกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น เขาเห็นว่า มาตรการทางกฎหมายยังมีปัญหา โทษเพียงจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ทำให้ยังคงมีคนกล้าแหกกฎ
“ถ้าเรื่องการเป็นเจ้าของ ผมเฉยๆ เพราะลักษณะของช้าง อย่างคนแถบสุรินทร์เขาจะถือว่าช้างเป็นลูกของเขาคนหนึ่ง ช้างเป็นช้างเลี้ยงที่ผูกพันกับเขา มันเป็นวิถีชีวิตของคนสุรินทร์ แต่งาช้างผมคิดว่าควรมีมาตรการทางกฎหมาย การห้าม แม้กระทั่งการล่าช้าง ฆ่าช้าง ความผิดตรงนี้มันน้อยมาก จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ขณะที่งาช้างมีค่าเป็นแสนเป็นล้าน มันคุ้ม คนก็กล้าที่จะทำ ผมว่าต้องเพิ่มโทษให้เยอะ”
การที่ช้างไทยอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งการอดอยากขาดแคลนอาหาร ทั้งการบุกรุกพื้นที่เกษตร และการถูกทำร้ายจากผู้คน เขาอยากฝากถึงการทำงานอนุรักษ์ช้างเพื่อให้เป็นสัตว์ของคนไทยถึงลูกหลานต่อไป เพราะยังคงมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศที่เริ่มประสบปัญหาแบบเดียวกับที่เขาเคยประสบมา ทั้งการลักลอบฆ่าช้าง ความขัดแย้งของคนกับช้างที่ออกมานอกพื้นที่ป่า และทางออกของปัญหาเหล่านั้นก็มีอยู่แล้ว หากแต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
ข่าวโดย ทีมข่าว ASTV manager LIVE