xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มอนุรักษ์ผิดหวังท่าทีคุมปัญหาลอบค้างาช้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


WWF - รัฐบาลทั่วโลกยังไม่ใช้มาตรการเร่งด่วนควบคุมปัญหา การลักลอบค้างาช้างในการประชุมว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า

WWF แถลงว่า รัฐบาลทั่วโลกที่เข้าร่วมหารือในการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) เมื่อวันอังคาร 12 มี.ค.56 เลือกที่จะไม่ใช้มาตรการเร่งด่วน ในการคว่ำบาตรหลายประเทศที่ล้มเหลวอย่างซ้ำซากในการจัดการกับปัญหาค้างาช้าง

“เรารู้สึกผิดหวังที่แต่ละประเทศไม่ได้รู้สึกถึงความเร่งด่วนในการเร่งกระบวนการคว่ำบาตรต่อประเทศที่ไม่สามารถควบคุมปัญหาการลักลอบค้างาช้างในประเทศได้ ขณะที่การสังหารหมู่ช้างหลายพันตัวในแอฟริกายังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม เราจะเฝ้าจับตาว่า CITES จะให้ประเทศดังกล่าว รับผิดชอบการกระทำในปีต่อๆไปหรือไม่” คาร์ลอส ดรูวส์ หัวหน้าคณะผู้แทน WWF ที่เข้าร่วมการประชุม CITES กล่าว

แม้จะมีการหารือตั้งแต่ช่วงต้นของการประชุม CITES เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรประเทศที่ไม่สามารถควบคุมตลาดงาช้างในประเทศ และรัฐบาลที่ไม่บังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ละเมิด ไม่ว่าจะเป็นแคเมอรูน สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย กาบอง โมซัมบิก ไนจีเรีย และ อูกันดา

แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้สั่งให้ประเทศข้างต้น จัดทำมาตรการและกำหนดเส้นตายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการควบคุมการลักลอบค้างาช้างให้แล้วเสร็จก่อนปี 2557 พร้อมระบุจะคว่ำบาตรในช่วงเวลาดังกล่าวหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ประเทศทั้ง 9 ประเทศมีเวลาเพียงหนึ่งปีกว่าๆ ที่จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการแก้ปัญหา

“รัฐบาลประเทศต่างๆ รับทราบมาหลายปีแล้วว่า มีหลายประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ตอนนี้ช้างป่าในแอฟริกากลางลดลงอย่างรวดเร็ว จนแทบจะไม่มีเวลาเหลืออยู่แล้ เราหวังว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะเร่งมามาตรการร่วมกันเพื่อลงโทษประเทศที่ไม่สนใจข้อห้ามเกี่ยวกับการค้างาช้าง” ดรูวส์กล่าว

มีการคาดการณ์ว่าประเทศที่ละเมิดข้อห้าม ซึ่งรวมถึงประเทศที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดอย่างจีนและประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ และประเทศอย่างเคนยา แทนซาเนีย อูกันดา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะร่วมหารือกันในการประชุมหัวข้อย่อยในวันพฤหัสบดี

“เราหวังว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะมีจุดยืนที่เข้มแข็งต่อประเทศที่ถูกจับตาว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดด้านการค้างาช้าง และควรจะมีมาตรการที่เร่งด่วนกว่าที่เราเห็นในวันนี้” ดรูวส์กล่าว

ภายใต้ข้อตกลงของอนุสัญญาสมาชิก CITES สามารถเสนอให้ที่ประชุมหยุดการค้าขายกับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ครอบคลุมสายพันธุ์ 35,000 ชนิดภายใต้อนุสัญญา ตั้งแต่ดอกกล้วยไม้ไปจนถึงหนังจระเข้

การตัดสินใจที่มีออกมาในวันอังคาร (12) เกิดขึ้นในช่วงที่การลักลอบล่าช้างพุ่งสูงถึงขั้นวิกฤต ในแต่ละปีจะมีช้างถูกสังหารมากกว่า 30,000 ตัว เพื่อสนองตอบต่อความต้องการค้างาช้างเถื่อน ซึ่งการค้างาช้างนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้อนุสัญญา CITES มาตั้งแต่ช่วงปี 2513 แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีมาตรการหลายมาตรการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำไปใช้เพื่อควบคุมปัญหาลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย นั่นคือ :

· การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเกี่ยวกับงาช้าง ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือบังคับใช้กฏหมายระหว่างประเทศต่างๆ ดียิ่งขึ้น

· การจัดทำฐานข้อมูลเทคนิคการพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาแหล่งที่มาของงาช้างที่ถูกยึดให้ดียิ่งขึ้น

· การรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เพื่อลดความต้องการงาช้าง

ในส่วนของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีของไทยประกาศกลางที่ประชุมไซเตสให้สัญญาที่จะแก้กฎหมายเพื่อยุติการค้างาช้างในประเทศไทยและตัดช่องทางของขบวนการค้าสัตว์ป่าโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยประกาศจุดยืนนี้ต่อสาธารณชน แต่ประเทศไทยก็จำต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการหยุดค้างาช้างบนบรรทัดฐานเดียวกับสากลในการปกป้องช้างทั่วโลก

ประเทศไทยนับเป็นตลาดค้างาช้างที่ไร้การควบคุมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ทางการได้ให้การรับรองผู้ค้างาช้างทั้งสิ้น 67 ราย อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจตลาดพบว่า มีร้านขายงาช้างมากกว่า 250 ร้าน และลูกค้าส่วนมากก็เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่มาตรการต่อต้านการล่าสัตว์รวมทั้งการล่าช้างเอางาในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญของไทย ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการร่วมกันในทุกภาคส่วนภายในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากุยบุรี โดยสนับสนุนเครือข่ายข่าวกรองเพื่อเสริมความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ลาดตระเวนร่วมในพื้นที่ พัฒนาถิ่นอาศัยของช้าง สังเกตุการณ์อย่างเป็นระบบในการนับความถี่ของประชากรช้าง รวมทั้งดึงชุมชุนเข้ามาเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ ความพยายามของทุกภาคส่วนในพื้นที่กุยบุรี ได้รับการยกย่องทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ช้างที่มีมาตรการเป็นรูปธรรม







กำลังโหลดความคิดเห็น