กาญจนบุรี - เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เยือนศูนย์อนุรักษ์ช้าง บ้าน “ช.ช้างชรา” ที่กาญจนบุรี เชื่อรัฐบาลไทยแก้ปัญหาค้างาช้างได้ แนะต้องออกกฎหมาคุ้มครองสัตว์ป่าชนิดอื่นให้เข้มแข็งด้วย
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (11 มี.ค.) นางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เดินทางมาที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี หรือบ้าน “ช.ช้างชรา” พื้นที่หมู่ 4 บ้านหนองหอย ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยมีนายสัตวแพทย์สามารถ ประสิทธิ์ผล นายสัตวแพทย์ ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ริเริ่มในการก่อตั้งศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งนำชมช้างชรา 10 เชือก
นายสัตวแพทย์สามารถ กล่าวว่า บ้าน ช.ช้างชรา แห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 32 กิโลเมตร เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2551 ซึ่งขณะนั้นเราได้มองเห็นสภาพปัญหาของช้างที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาช้างบาดเจ็บ ช้างชราที่ประสบปัญหาในการดูแลสุขภาพ ช้างเร่ร่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช้างด้อยโอกาสไม่สามารถทำงานตามปางช้างได้ จึงได้มองหาสถานที่สำหรับแก้ไขปัญหาช้างที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูช้าง มีความเป็นธรรมชาติ มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับช้าง
โครงการแก้ไขปัญหาช้างจึงเกิดขึ้นโดยมีเจ้าของที่ดินผู้มีจิตใจอันเป็นกุศล เป็นผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการจัดทำโครงการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เลี้ยงดูช้างชรา เป็นที่พักของช้างเร่ร่อน ซึ่งให้คนกับช้างได้ใกล้ชิด และเรียนรู้การใช้ชีวิตซึ่งกันและกันท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยว และอาสาสมัครผู้รักช้าง และต้องการให้ช้างไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นสุขท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามของจังหวัดกาญจนบุรี กิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น ปลูกพืชอาหารช้าง เช่น กล้วย อ้อย สับปะรด ฟักทอง หญ้าบาน่า เลี้ยงช้างและอาบน้ำร่วมกับช้าง การดูแลสุขภาพช้างเบื้องต้น
“ขณะนั้นเรามีช้างอยู่ในความดูแลทั้งหมด 5 เชือก ซึ่งช้างส่วนใหญ่เป็นช้างที่มีอายุมากแล้ว หรือเรียกว่าช้างที่ถูกปลดระวางไม่สามารถทำงานได้ บางเชือกก็มีสภาพที่ผอมโซ อีกทั้งตายังบอดอีกด้วย ในปัจจุบัน บ้าน ช.ช้างชรา มีช้างที่เราดูแลอยู่ทั้งหมด 10 เชือก เป็นช้างเล็กเพศผู้ 2 เชือก ช้างชราเพศผู้ 5 เชือก และเพศเมีย 3 เชือก เฉลี่ยช้างชราอายุอยู่ที่ประมาณ 60 ปีขึ้นไป และถูกปลดระวางจากการทำงานแล้วทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของเราคือ การดูแลช้างชราเหล่านี้ให้เขามีความสุขในปั้นปลายของชีวิต ซึ่งไม่ต่างจากมนุษย์ ที่บุตรหลานจะต้องดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายยามวัยชรา ฉันใดก็ฉันนั้น” นายสัตวแพทย์สามารถ กล่าว
นางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีการรณรงค์ห้ามค้างาช้างว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจะต่อต้านการค้างาช้างอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการปกป้องช้างนั่นเอง ส่วนกรณีมีขบวนการค้าช้างตามแนวชายแดน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนไทย และประเทศไทย ซึ่งจะต้องมีการออกกฎระเบียบขึ้นมาให้ชัดเจน เพื่อปกป้องช้าง หรือสัตว์ป่าที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ถ้าหากมีกฎระเบียบออกมาให้เป็นที่แน่ชัดก็จะสามารถปกป้องสัตว์เหล่านี้ได้มากเลยทีเดียว
ส่วนของมาตรการในการช่วยเหลือประเทศไทยเกี่ยวกับการป้องกันรักษา และคุ้มครองสัตว์ป่าที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ขณะนี้รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดแคมเปญผ่านสถานทูต และได้มีการรณรงค์เพื่อให้จะได้สร้างความตระหนักในสังคมเกี่ยวกับเรื่องของช้างรวมทั้งสัตว์ป่า ซึ่งช้างเองมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งช้างยังเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยด้วย
“ดังนั้น จึงขอร้องให้สื่อมวลชนได้กระจายข่าวออกไปเพื่อเป็นการรณรงค์อีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เหตุที่ดิฉัน และคณะเลือกที่จะเดินทางมาที่ศูนย์อนุรักษ์ หรือบ้าน ช.ช้างชรา เนื่องจากเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ดิฉันพร้อมคณะเคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ได้รู้จักกับผู้ก่อตั้งที่นี่ และพบว่าทางจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง อีกทั้งไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือหน่วยงานอื่นเลย ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์อื่นใด และเป็นการช่วยเหลือช้างที่แก่ชราอย่างแท้จริง อีกทั้งในวันที่ 13 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ยังเป็นวันช้างไทยอีกด้วย” นางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าว
รายงานว่า หลังจากนางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เดินทางมาถึง จากนั้นได้รับประทานอาหารกลางวันที่ศูนย์อนุรักษ์ หรือบ้าน ช.ช้างชรา โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นคณะได้เดินทางไปดูช้างชราที่มีอยู่ทั้งหมด 10 เชือก โดยช้างทั้งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 ปี ขณะเดินดูช้างอยู่นั้นนายสัตวแพทย์สามารถ ได้บอกว่า ช้างที่ยืนอยู่ข้างหน้าชื่อ พังลำดวน อายุ 60 ปี โดยช้างเชือกดังกล่าวพิการตาบอดทั้งสองข้าง หลังทราบ นางคริสตี้ เคนนี่ย์ จึงได้เดินไปดูอย่างใกล้ชิด และได้แสดงอาการสงสารช้างเชือกดังกล่างออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยใช้เวลาอยู่กับช้างเชือกดังกล่าวประมาณ 10 นาที
จากนั้นคณะได้เดินไปยังบริเวณโรงผลิตอาหารเลี้ยงช้างชรา โดยมีอาสาสมัครชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งกำลังปั้นข้าวเหนียว ซึ่งเป็นข้าวดิบ ผสมกับผลไม้ประเภทฟักทอง หรือกล้วย โดยทำเป็นก้อน เมื่อเห็นนางคริสตี้ เคนนี่ย์ ก็ได้ขอลองทำดูบ้าง สามารถสร้างรอยยิ้มให้แก่กลุ่มอาสาสมัครชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังนำอาหารชนิดดังกล่าวไปป้อนให้แก่ช้างชราอีกด้วย โดยคณะได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงเดินทางกลับ