ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ฝุ่นควันจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่ทันจาง ส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ก็เดินหน้าลุยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาทันที หวังให้ทันใจนายใหญ่ที่รอจะกลับบ้านโดยปราศจากความผิดมานานหลายปีแล้ว
การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น มีการปูกระแสมาตั้งแต่ช่วงปีใหม่ โดยฟากบริวารของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวตั้งตัวตี ทั้งในนาม ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.)ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน รวมถึงนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมีการเสนอเป็นกฎหมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็น พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่เมื่อปี่กลองศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวงเริ่มดังขึ้น ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ถูก นช.ทักษิณสั่งให้ชะลอเรื่องไว้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับการช่วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้ง กะว่ารอให้เสร็จภาระกิจยึดเมืองหลวงให้ได้ก่อนค่อยเดินหน้าต่อ
หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 จบสิ้นลง แม้ว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยพลาดหวัง แต่เมื่อนับจำนวนคะแนนเสียงที่ได้ประมาณ 1 ล้านเศษ น้อยกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์เพียงแค่ราวๆ 1.7 แสนคะแนน ยังถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2554
นั่นแสดงว่า ยังมีคนกรุงจำนวนมากหลงเชื่อในคารมของ นช.ทักษิณและบริวาร แม้คนเสื้อแดงจะเพิ่งก่อเหตุเผาบ้านเผาเมืองอย่างย่อยยับในปี 2553 มาไม่นาน ทำให้ นช.ทักษิณและบริวารเกิดความมั่นใจ เดินหน้าผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมต่อไปโดยไม่รอช้า
เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และนายคารม พลพรกลาง ทนายกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงร่วมกันเปิดโต๊ะแถลงข่าวที่รัฐสภา ถึงการนำเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ซึ่งมีทั้งหมด 7 มาตรา โดยจะเสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 7 มีนาคม เวลา 13.00 น.
นายวรชัย ที่สวมหมวกอีกใบเป็นแกนนำเสื้อแดงเมืองปากน้ำอ้างว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกสีทุกฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งจากการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่ม นปช.ที่ถูกแจ้งข้อหาก่อการร้าย ซึ่งคาดว่าสภาฯ จะมีการพิจารณากันภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้
นายวรชัยยังได้อ้างถึงคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งให้บริษัทเทเวศประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนแก่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นจำนวนรวมกว่า 3.7 พันล้านบาทกรณีที่มีเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ระหว่างการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง เนื่องจากศาลเห็นว่าเหตุเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากการก่อการร้าย
โดยนายวรชัยนำไปบิดเบือนว่า ศาลแพ่งได้ระบุว่าการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ได้เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่ม นปช. ดังนั้น ตนและเพื่อน ส.ส.รวม 21 คนจึงเข้าชื่อกันเพื่อหวังจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยไม่รวมบุคคลในระดับแกนนำผู้สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ตามมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
ขณะที่ นพ.เชิดชัยอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผันตัวมาเป็นแกนนำเสื้อแดงขอนแก่น อ้างว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย รัฐบาล และ พ.ร.บ.ปรองดอง แต่เพื่อต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และจะได้ยุติความขัดแย้งของคนในสังคมให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนการแยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมและแกนนำ ตามมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น นพ.เชิดชัยกล่าวว่า ก็ดูจากการที่กลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่ม นปช.ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีไปแล้ว หรืออย่างกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้นำศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ได้ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี ซึ่งรายชื่อในกลุ่มนี้มีอยู่หมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อความมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ระบุว่า “ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง แต่ไม่รวมการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง”นั้น เห็นได้ชัดว่า มีการกำหนดให้การกระทำที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้กว้างมาก แค่อ้างว่าเป็นการกระทำที่ “เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง...”ก็พ้นจากความผิดแล้ว
ส่วนที่ระบุว่า “ไม่รวมการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง”นั้น แกนนำคนเสื้อแดง รวมไปถึง นช.ทักษิณ ชินวัตร สามารถอ้างได้ว่า พวกเขาไม่มีอำนาจตัดสินใจและไม่ได้เป็นผู้สั่งการ นั่นเพราะการเคลื่อนไหวมวลชนนั้นเป็นการเคลื่อนไหวด้วยการปราศรัยโน้มน้าวด้วยวาจาหรือการสั่งการระดับแกนนำแบบลับๆ ไม่ได้มีการลงนามคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน ด้วยเหตุนี้ ทั้ง นช.ทักษิณและแกนนำคนเสื้อแดงก็จะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมตามกฎหมายนี้ไปด้วย
ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง อ้างว่า กฎหมายฉบับนี้เขียนไว้อย่างกว้างครอบคลุมการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ร่วมชุมนุมที่มีโทษทางอาญา ส่วนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมก็จะดำเนินคดีทางแพ่งกันต่อไปไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งเมื่อร่าง พ.ร.บ.ผ่านการโหวตวาระ 1 แล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญก็จะการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
นั่นแสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีโอกาสที่จะถูกสอดไส้บทบัญญัติที่จะทำให้ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมไปยังคดีอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือพวกเดียวกันเอง ด้วยข้ออ้างหยาบๆ แค่ว่า “เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง”เท่านั้น โดยเฉพาะความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนายคารมยอมรับว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะครอบคลุมถึงผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตีความของคณะกรรมาธิการว่าจะเห็นชอบอย่างไร เพราะเขียนไว้กว้างๆ ว่าเป็นโทษทางอาญา
ดังนั้น แม้ข้อกล่าวอ้างของ ส.ส.เสื้อแดงจะดูสวยหรูว่า ต้องการทำเพ่อคนทุกสีทุกกลุ่ม เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่เมื่อพิจารณาเนื้อความระหว่างบรรทัดของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว เห็นได้ชัดว่า มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือแกนนำคนเสื้อแดง รวมไปถึง นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่คดีอาญาและกระทำการทุจริตให้พ้นจากความผิดด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ยังต้องเจอด่านสำคัญคือกระแสต่อต้านทั้งจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงจุดยืนคัดค้านการนิรโทษกรรมคดีอาญาและคดีทุจริต เห็นด้วยเฉพาะการนิรโทษกรรมความผิดลหุโทษ ซึ่งแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.นี้ที่ระบุไว้กว้างๆ ครอบคลุมคดีอาญาทั้งหมด
หาก นช.ทักษิณ ชินวัตร ไม่สั่งให้ ส.ส.เสื้อแดงกลุ่มนี้หยุดการเสนอกฎหมายนี้เอาไว้ก่อน เค้าลางความวุ่นวายในบ้านเมืองก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว
กลุ่ม ส.ส.เสื้อแดงและทนายความ แถลงข่าวที่รัฐสภา เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก้ผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา