xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พ.ร.บ.นิรโทษ”ผลงานชิ้นแรกเนติบริกรเฒ่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ.ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมทางการเมือง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนเสื้อแดง ถูกปูพื้นมาตั้งแต่ย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2556

เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. กลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เรียกตัวเองว่าคณะนิติราษฎร์ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ยกเว้นแกนนำหรือผู้สั่งการ

แต่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้การขานรับจากรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยเท่าที่ควร อันนำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนเสื้อแดงสายนักกิจกรรมและนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า“กลุ่ม 29 ม.ค. 10,000 ปลดปล่อยนักโทษการเมือง”ที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.)อันเป็นแขนขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ก็เสนอแนวทางการนิรโทษกรรม โดยออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้แก่ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองหลังวันที่ 9 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ยกเว้นแกนนำหรือผู้สั่งการเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอของแกนนำ นปช.ไม่ได้รับการขานรับจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีปมปัญหาสำคัญก็คือ การนิรโทษกรรมไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ซึ่งหากมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.ก.นี้จะกลายเป็นโมฆะแน่นอน

นอกจากนี้ หากรัฐบาลออกเป็น พ.ร.ก. ก็จะถูกต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม เพราะเป็นการใช้อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารรวบรัดออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่พรรคพวกของตัวเอง อันจะเป็นชนวนไปสู่ความวุ่นวายสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้

ท่าทีที่ไม่ตอบสนองต่อข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมจากฝ่าย นปช. ทำให้เกิดความระหองระแหงกันระหว่างแกนนำคนเสื้อแดงกับรัฐบาลอยู่ชั่วขณะหนึ่ง และแล้ว ข้อเสนอการนิรโทษกรรมาตามแนวทางของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานก็ปรากฏขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา นายอุกฤษ ได้จัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานและองค์กรของรัฐ เพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคี ให้ประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ใจความสำคัญของข้อเสนอดังกล่าว คือการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 - 30 พฤษภาคม 2554 ด้วย พ.ศ.... ซึ่งมีทั้งหมด 6 มาตรา โดยมีสาระสำคัญที่ มาตรา 3 “ระบุว่าให้การทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจา หรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการประท้วงด้วยวิธีการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น”

ข้อเสนอของ คอ.นธ.ดูเหมือนเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างฝ่ายคนเสื้อแดงกับรัฐบาล นั่นเพราะมีเนื้อหาสำคัญคือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเช่นเดียวกัน แต่เสนอเป็นกฎหมายในรูปของ พ.ร.บ.ซึ่งไม่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 และน่าจะลดแรงเสียดทานจากฝ่ายตรงข้ามลงได้

แนวทางของ คอ.นธ.ได้รับการขานรับจากรัฐบาลโดยทันที โดยเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล มีมติส่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ คอ.นธ.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูรายละเอียดว่า ความเห็นข้อเสนอดังกล่าวมีประเด็นใหม่อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยจะนำไปเปรียบเทียบกับการนิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อที่ คอ.นธ.บอกว่า ได้ใช้หลักการเดียวกัน

นอกจากนี้ แนวทางของ คอ.นธ.สอดคล้องกันกับสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ พูดมาตลอดว่า เขาได้ร่างกฎหมายปรองดองเตรียมไว้นานแล้ว โดยมีเพียง 6 มาตรา ซึ่งก็เท่ากับจำนวนมาตราในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ คอ.นธ.พอดิบพอดี

กล่าวได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ เป็นผลงานชิ้นแรกๆ ของ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ในฐานะประธาน คอ.นธ.นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2554

การตั้ง คอ.นธ.ขึ้นมานั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นใบสั่งของคนที่อยู่ทางไกล โดยการแต่งตั้งประธาน คอ.นธ.นั้นเป็นไปอย่างรวบรัด ใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 วินาที แต่มีการตั้งสำนักงานรองรับและมีอำนาจหน้าที่ครอบจักรวาล

อาทิ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และเชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้จัดส่งเอกสาร วัตถุ หรือข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน มอบหมายหรือจ้างองค์กร คณะบุคคล หรือบุคคลให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

หลังได้รับการแต่งตั้งใหม่ๆ นายอุกฤษได้ออกตัวไว้ก่อนว่า คอ.นธ.จะไม่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่นๆ และภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือการพิจารณาเรื่องที่ดินรัชดาฯ ที่จะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เป็นที่รู้กันว่า นายอุกฤษมีความใกล้ชิดกับ นช.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะอาจารย์กับลูกศิษย์ เคยได้รับการแต่งตั้งจาก นช.ทักษิณสมัยเป็นนายกฯ ให้เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรม และเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.ยส.จชต.) ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(คอส.)ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เนื่องจาก คอส.มีแนวทางที่ไม่ตรงกับแนวคิดของทักษิณ

ในช่วงการต่อสู้คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านนั้น นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ แห่งสำนักกฎหมายนิติธีรฉัตร ลูกศิษย์นายอุกฤษก็เป็นทนายว่าความให้ทักษิณ

ที่สำคัญเมื่อมองจากบทบาทและแนวคิดของนายอุกฤษในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นชัดเจนว่า อยู่ฝ่ายทักษิณมาตลอด อาทิ การต่อต้านกระแส “ตุลาการภิวัตน์”, การคัดค้านรัฐธรรมนูญ 2550,คัดค้านการยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551 ซึ่งทั้งหมดล้วนเข้าทาง นช.ทักษิณ

การมาเป็นประธาน คอ.นธ.ก็ไม่พ้นเข้ามาเพื่อรับใช้ นช.ทักษิณ โดยในช่วงแรกๆ นั้น พยายามเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ โดยไม่ต้องใช้ ส.ส.ร. แต่เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกชะลอออกไป นายอุกฤษจึงไม่มีผลงานอะไร และร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรม อันเป็นผลงานชิ้นแรก ก็ออกมาเพราะ นช.ทักษิณยังหาทางออกเรื่องการนิรโทษกรรมคนเสื้อแดงไม่ได้

การทำงานของ คอ.นธ.นั้น จึงไม่ต้องถามหาความอิสระตามชื่อของคณะกรรมการให้เสียเวลา เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มี ภารกิจหลักเนติบริกรวัย 79 คนนี้ คือการรับใช้ นช.ทักษิณเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น