xs
xsm
sm
md
lg

“เต้น ไพร่เทียม” แจ้นเข้าทำเนียบฯ จี้ “ปู” ดันนิรโทษแดง อ้างปรองดองกันง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ณัฐวุฒิ” บุกทำเนียบ แจงนายกฯ ถึงจุดยืนร่าง พ.ร.ก.นิรโทษฯ ฉบับแดงให้พิจารณา อ้างจะได้ปรองดองกันง่ายขึ้น เผยนายกฯ โยนให้กฤษฎีกาช่วยดู ยันล้างผิดแค่แนวร่วม ไม่รวม “นช.แม้ว-มาร์ค-เทือก” หวั่นมีแรงต้าน ปัด “ไอ้ตู่” จ่อโดดนั่งเก้าอี้ รมต.

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวภายหลังเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงจุดยืนในการนำเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรม ฉบับ นปช.ว่า เป็นร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายให้ผู้ถูกคุมขังและผู้ต้องคดีความทางการเมืองจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้รับอิสรภาพ และถือเป็นช่องทางหนึ่งในการการสร้างความปรองดองให้คนภายในชาติ และหากมีการนิรโทษกรรมประชาชนแล้วน่าจะลดความกดดันจากทุกกลุ่มสีเสื้อลงได้ การเจรจาระหว่างผู้ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยโอกาสนี้นายกฯ ได้สอบถามถึงปฏิกิริยาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมด้วย

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า มีการเสนอแนวทางอื่นๆ เข้ามาด้วย ทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของคณะนิติราษฎร์ การออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) หรืออาจมีแนวทางอื่นอีก ส่วนฝ่ายที่ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจน และไม่มีการต่อต้านรุนแรงจากฝ่ายใด มีเพียงการตั้งข้อสังเกตจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าการนิรโทษกรรมนี้จะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่เท่านั้น นอกจากนี้ นายกฯ ให้รวบรวมข้อเสนอการนิรโทษกรรมทั้งจากกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง นายอุกฤษ และ นปช. ส่งให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ และขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากนั้นจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรโดยมีผลสรุปจากกฤษฎีการเป็นผลประกอบการพิจารณา ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะร่วมหารือกันจะเป็นใครบ้างยังไม่ได้ลงรายละเอียด

เมื่อถามว่าจะยื่นร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับ นปช.ให้นายกฯ ด้วยตนเองหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า วันนี้ตนยังไม่ได้ยื่นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลังจากนี้จะเร่งกลับไปนำร่างที่เตรียมมาเสนอแก่นายกฯ เพื่อส่งต่อให้แก่คณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ทั้งนี้การเข้าพบนายกฯ วันนี้ มาในฐานะแกนนำ นปช. และได้หารือกับแกนนำ นปช.คนอื่นๆ แล้ว และจะไม่มีออกมาเคลื่อนไหวกดดัน เพราะเห็นว่ารัฐบาลรับฟังข้อเรียกร้อง และไม่ได้ปิดกั้น ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต้องคุยกันอีกทีหนึ่ง

“นายกฯ บอกว่าการสร้างความปรองดองของคนในชาติเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้อยู่แล้ว ช่องทางใดที่สร้างบรรยากาศความปรองดองได้ รัฐบาลก็ยินดีดำเนินการ เพียงแต่ตอนนี้ยังมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและเห็นต่างอยู่ จึงอยากให้กฤษฎีกาศึกษาให้แน่ชัด” นายณัฐวุฒิกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ว่าหากมีการนิรโทษกรรมแล้ว อาจทำให้มีการนิรโทษแกนนำคนอื่นๆ ต่อไป นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หากประชาชนได้รับความเป็นธรรมแล้วก็น่าจะทำให้การเจรจากับกลุ่มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนจะรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่ได้คิด เพราะหากคิดถึงเรื่องนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งอีก

เมื่อถามว่าหากข้อสรุปจากกฤษฎีกาตกไป จะไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ถ้าคำว่านิรโทษกรรมผู้ต้องคดีความทางการเมืองยังคงอยู่ จะเป็นแนวทางใดตนก็เคารพ แต่ต้องไม่ทอดทิ้งผู้ต้องขังทางการเมืองให้รอโดยไม่มีโอกาส

“หากคุยแล้วเห็นว่า พ.ร.ก.ไปไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ. หรือหากทั้ง พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ไปไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอ ผมว่าทุกฝ่ายยอมรับฟังร่วมกันได้ แต่ก่อนที่ นปช.จะแถลงเป็นร่าง พ.ร.ก. เราได้ปรึกษาอาจารย์ นักวิชาการและผู้รู้ทางกฎหมายหลายท่านแล้วเพื่อยืนยันว่าแนวทางที่นปช.เสนอสามารถทำได้ แต่ที่ยังมีความเห็นแตกต่างซึ่งก็ต้องให้กฤษฎีความทำหน้าที่ในการสรุปหาความจริง” นายณัฐวุฒิกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมอาจจะซ้ำซ้อนกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมของสภาฯ เนื่องจากมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน นายณัฐวุฒิกล่าวว่า พ.ร.บ.ปรองดองมีรายละเอียดคลอบคลุมมากกว่า พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพราะไม่ได้พูดเจาะจงถึงประชาชนผู้ถูกคุมขังเพียงอย่างเดียว แต่ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากกว่า ฉะนั้นทั้งสองอย่างนี้ถือว่าแตกต่างกัน จะนำมากล่าวรวมกันไม่ได้ ซึ่งการนิรโทษกรรมจะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความปรองดอง

เมื่อถามถึงกรณีการที่ นปช.ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพราะโดนกดดันจากกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง นายณัฐวุฒิกล่าวปฏิเสธว่า กลุ่มที่ออกมาชุมนุมนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ นปช. ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวเร่งให้รัฐบาลดำเนินการ ไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มให้กับรัฐบาลแต่อย่างใด อย่างน้อยการที่รัฐบาลรับเรื่องและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ถือว่าเป็นการเริ่มดำเนินการแล้ว ดังนั้นยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ซื้อเวลา เพียงแต่เวลาไม่ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลทำตามที่คิดได้ทั้งหมด

เมื่อถามว่ารัฐบาลกล้าประกาศหรือไม่ว่าการนิรโทษกรรมจะสำเร็จในปีนี้ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า คงจะประกาศแบบนั้นไม่ได้ เพราะยังมีคนเห็นด้วยและเห็นต่าง หากประกาศอย่างนั้นจะหลายเป็นว่ารัฐบาลสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งระหว่างรอการนิรโทษกรรมก็พยายามช่วยเหลือผู้ต้องขังโดยการให้ย้ายสถานที่คุมขังมาที่เรื่อนจำหลักสี่ และแกนนำ นปช.ก็เดินทางไปเยี่ยมพร้อมทั้งให้กำลังใจ

เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์มีข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรม จะนำมาพิจารณาหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หากมีข้อมีกลุ่มอื่นมาเสนออีกก็พร้อมพิจารณา สังคมจะได้เห็นทั้งหมด และจะพิจารณาเพียงข้อเสนอของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงโอกาสที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.จะได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ตน แต่อยู่ที่อำนาจการพิจารณาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว





กำลังโหลดความคิดเห็น