ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เสียงปรบมือดังกึกก้องหอประชุม ทันทีที่จบการแสดงบทเพลง “ดอกจำปา” หรือ “จำปาเมืองลาว” หรือที่คนไทยมักเรียกกันในชื่อ “โอ้ ดวงจำปา” ตามวรรคแรกของเนื้อเพลง อันเป็น 1 ในบทเพลงพื้นบ้านของลาวที่คนไทยรู้จักดี เพราะมีนักร้องไทยหลายคนได้นำมาร้อง
บทเพลงที่มีท่วงทำนองนุ่มนวล หวานซึ้ง และกินใจ หลังจากถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ และบรรเลงผ่านเครื่องดนตรีออร์เคสตราของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย หรือ TPO แห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพลง “จำปาเมืองลาว” กลับฟังดูคึกคัก สนุกสนาน แต่ยังคงความกินใจได้ไม่แพ้ต้นฉบับ โดยได้น้ำเสียงของนักร้องลาวมาช่วยขับกล่อมให้เพลงนี้รื่นรมย์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเพลงพื้นบ้านของลาวอีกหลายเพลงที่คนไทยรุ่นก่อนรู้จักกันดี อาทิ “กุหลาบปากซัน” และ “บ้านแม่เรา” รวมถึงเพลงที่เป็นที่นิยมของทั้งคนลาวและคนไทย อย่างเพลง “ลาวดวงเดือน” ซึ่งได้ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่และขับกล่อมผ่านวงออร์เคสตราของไทยวงนี้ บนเวทีคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า “มนต์เวียงจันทน์” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2556 ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
คอนเสิร์ตครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีระหว่างไทย-ลาว โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อสานสัมพันธ์ ถ่ายทอดผ่านวง TPO ซึ่งเป็นวงดนตรีออร์เคสตราที่มีความผูกพันกับไทยเบฟฯ มาตั้งแต่ปี 2551 ผ่านทาง รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการดนตรีวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจาก “ท่านบัวเงิน ชาพูวง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ของประเทศลาว มาขับร้องเพลงร่วมกับวงของไทย โดยมีนักธุรกิจไทย นักธุรกิจลาว สื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนลาว ทูตานุทูต เซเลบริตี้ลาว นักเรียนนักศึกษาด้านการดนตรีจากลาว ตลอดจนประชาชนลาว เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
นอกจากเพื่อสานสัมพันธภาพทางด้านดนตรีระหว่างประเทศไทยและลาว อีกหนึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของคอนเสิร์ตมนต์เวียงจันทน์ คือการระดมทุนเพื่อการพัฒนาทางด้านการดนตรีและเพื่อซื้อเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียนศิลปะและดนตรีแห่งชาติของลาว
“กีฬา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงดนตรี เป็นกิจกรรมที่เรียกได้ว่าไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีผิวพรรณ ไม่มียศตำแหน่ง เข้าใจกันได้ทั่วโลก ถ้าเพียงรู้ตัวโน้ตก็สื่อสารกันได้แล้ว เช่นเดียวกับกีฬา พอมีกติกาก็เล่นกันได้หมด ก็เปรียบเสมือนธุรกิจ ธุรกิจที่กำลังจะเชื่อมโยงกัน ไทยเบฟฯ มีความเชื่อว่า ถ้าเราสื่อสารกันในอาเซียนด้วยกีฬาและวัฒนธรรมจะทำให้การทำทุกอย่างราบรื่น รวมถึงธุรกิจด้วย” วิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงนัยที่ซ่อนอยู่ภายใต้เสียงดนตรีที่ละมุนละไม
“มนต์เวียงจันทน์” ถือเป็นคอนเสิร์ตระหว่างประเทศครั้งแรกที่ไทยเบฟฯ ให้การสนับสนุนในการจัดแสดงขึ้นที่ประเทศลาว หลังจากนี้อีกไม่นาน ไทยเบฟฯ มีแผนจะไปจัดคอนเสิร์ตลักษณะนี้ในประเทศสิงคโปร์ และตามด้วยประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนจนครบอีกด้วย
ทั้งนี้ วิเชฐบอกเหตุผลการเริ่มต้นที่ประเทศลาวเป็นแห่งแรกว่า เนื่องจากคนไทยและคนลาวมีภาษาที่ใกล้เคียงกันมากกว่าทุกประเทศในอาเซียน ขณะที่เพลงพื้นบ้านลาวหลายเพลงเป็นเป็นที่รู้จักของคนไทย ขณะเดียวกันสินค้าไทยก็ได้รับความนิยมจากคนลาวอย่างสูง รวมถึงเครื่องดื่มของไทยเบฟฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
“เครื่องดื่มกับกีฬาและดนตรีมีความเหมือนกันอีกประการคือ โซดาก็คือโซดา วิสกี้ก็คือวิสกี้ เบียร์ก็คือเบียร์ ชาเขียวก็คือชาเขียว ฯลฯ ทั้งเรื่องรสชาติและรูปลักษณ์โดยรวมเหมือนกัน ไม่ว่าจะที่อยู่ประเทศไหน”
เครื่องดื่มหลายแบรนด์ในเครือไทยเบฟฯ อาทิ แรงเยอร์, โซดาช้าง และชาเขียวโออิชิ ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่มี Brand Awareness ดีอยู่แล้วในประเทศลาว ส่วนหนึ่งมาจากคนลาวนิยมดูละครไทยจึงมักได้เห็นโฆษณาไทยอยู่บ่อยครั้ง อีกส่วนมาจากพันธมิตรทุนหนาของลาวอย่าง “กลุ่มพงสะหวัน” ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบิน เจ้าของธนาคาร เจ้าของปั๊ม ธุรกิจก่อสร้าง และเป็น Distributor ที่มีเครือข่ายในการกระจายสินค้าให้กับไทยเบฟฯ ได้ทั่วประเทศลาว
นอกจากนี้ เครื่องดื่มบางตัวยังมีการทำโปรโมชั่นแรงๆ เหมือนในเมืองไทย เช่น “โออิชิ” ซึ่งมีการทำโปรโมชั่น “เปิดฝา รับโชค ทุกชั่วโมง” เช่นเดียวกับเมืองไทย โดยรางวัลสูงสุดคือ 100 ล้านกีบ เป็นต้น
สำหรับ “เบียร์ช้าง” วิเชฐยอมรับว่า เนื่องจากประเทศลาวมี “เบียร์ลาว” ซึ่งเป็นเบียร์ประจำชาติที่มีรสชาติดีและแข็งแกร่งในตลาดลาวอยู่แล้ว ฉะนั้นเบียร์ช้างอาจจะไม่ใช่สินค้าที่ไทยเบฟฯ จำเป็นต้องโหมตีตลาดลาว แต่เครื่องดื่มที่น่าสนใจและมีอนาคตอย่างมากสำหรับไทยเบฟฯ ในตลาดลาวและตลาดอาเซียน คือ เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ (Non-Alcohol Beverage) โดยจะเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการเข้าซื้อ F&N ซึ่งเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ในสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอาเซียน
“ในประเทศที่มีแบรนด์ระดับชาติอยู่แล้ว ไทยเบฟฯ จะต้องระมัดระวัง เพราะเราอยากทำธุรกิจแบบ วิน-วิน ไม่ต้องการสู้กันจนตายไปข้าง เราไม่ชอบ เพราะเราอยากทำ 'ASEAN Brand' คือเครื่องดื่มของอาเซียนที่สามารถนำเสนอสู่ตลาดโลกได้ ดังนั้นตอนนี้ก้าวของเราต้อง 'นุ่ม' และ 'humble' ดูเหมือนจะเป็น 'หนังบู๊' คนละม้วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดเบียร์และตลาดชาเขียวบ้านเรา”
สำหรับเหตุผลในการเลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่ถัดไป วิเชฐระบุว่า การนำคอนเสิร์ตไปจัดแสดงน่าจะสะท้อนความมุ่งมั่นของไทยเบฟฯ ที่จะเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ ในฐานะที่ไทยเบฟฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ และยังได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทสิงคโปร์ ที่เป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มแบบไร้แอลกอฮอล์ในตลาดสิงคโปร์และมาเลเซีย นั่นคือ F&N
“เรามีความตั้งใจว่า เราอยากจะเข้าไปเชื่อมโยงในลักษณะคล้ายๆ กับที่ทำในลาว คือเลือกเพลงที่เป็นที่นิยมของลาวและคนไทยรู้จัก นำมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นรูปแบบออร์เคสตรา ซึ่งเนื้อหาของมันก็คือว่า เวลาเราคบหาสมาคมหรือทำธุรกิจกันในอาเซียน มันสามารถปรับแต่งให้เชื่อมโยงและเข้ากันได้ถ้าเราตั้งใจ ไม่ว่าจะมีความต่างกันมากน้อยแค่ไหน นี่คือวัตถุประสงค์ของเรา”
ธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประสานงานภายนอกของกลุ่มไทยเบฟฯ ในฐานะผู้ดูแลโปรเจ็กต์นี้ ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ถ้าเป็นไปได้ ไทยเบฟฯ ก็อยากจะไปตระเวนจัดคอนเสิร์ตลักษณะนี้ในทุกประเทศอาเซียน ขณะที่วิเชฐก็ยืนยันเช่นกันว่า ในทางธุรกิจไทยเบฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจไปในอาเซียนอยู่แล้ว และกำลังศึกษาโอกาสในทุกประเทศ พร้อมกับยืนยันว่า ไทยเบฟฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะผลิตสินค้าป้อนอาเซียนไว้อยู่แล้ว
“เราตั้งเป้าว่า เราต้องการเป็น 'Total Beverage Company: Regional Play' หมายความว่า อะไรก็ตามที่เป็นเครื่องดื่ม Ready-to-Drink เราต้องการที่จะครอบคลุมทั้งหมด และต้องการดำเนินธุรกิจระดับภูมิภาค คือเราต้องมีส่วนร่วมในการมีธุรกิจขนาดใหญ่ในอาเซียน ซึ่งถือเป็นขั้นแรกในการบุกตลาดอาเซียนของเรา” คำกล่าวของวิเชฐสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงแนวทางในการต่อยอดความสำเร็จจากดีล F&N ในอนาคต
เสียงดนตรีออร์เคสตราที่บรรเลงเพลงลาวอย่างนุ่มนวลและฮึกเหิมอยู่ในที ดูจะสะท้อนก้าวย่างในการบุกตลาดอาเซียนของไทยเบฟฯ ครั้งนี้ได้อย่างเป็นอย่างดี นั่นคือการก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ด้วยท่าทีที่ “อ่อนน้อม”