xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ชายหมู” ผู้ว่าฯ ดรามาเกือบตาย สุดท้ายเสร็จแก๊งไอติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ชัยชนะของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นชัยชนะที่สามารถกล่าวได้ว่า “น่าสมเพช” ที่สุดครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นชัยชนะที่ไม่ได้มาจากหัวใจของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด หากแต่มีส่วนผสมของ “ความหวาดกลัว” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ยิ่งกล่าวสำหรับตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ด้วยแล้ว ยิ่งมีผลต่อคะแนน 1,256,349 คะแนนที่ได้รับน้อยมาก เพราะตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมามิได้สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนกรุงเทพฯ เลยแม้แต่น้อย

งานนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมกลืนเลือด ประกาศยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคเอาไว้ชั่วคราว พร้อมใช้วิชาก้นหีบด้วยการปลุกความกลัวของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยลืมเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง แล้วรวมพลังช่วยกันหาเสียง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์คงไม่สามารถรักษาเก้าอี้และขุมทรัพย์มหึมาแหล่งนี้เอาไว้ได้

เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นรับสมัครจนถึงโค้งสุดท้าย แม้กระทั่งเอ็กซิตโพลที่ออกมา พล.ต.อ.พงศพัศก็ยังคงมีคะแนนเหนือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มาโดยตลอด ซึ่งก็ต้องบอกว่า นักโทษชายทักษิณไม่ได้คำนวณผิดพลาด เนื่องจากคะแนน 1 ล้านคะแนนที่ พล.ต.อ.พงศพัศได้เพียงพอและเหลือเฟือต่อการเป็นผู้ว่าฯ กทม.เสียด้วยซ้ำไปถ้าหากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งก่อนๆ

ทว่า ความทรงจำอันเจ็บปวดต่อเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง รวมทั้งการปล่อยข่าวอันทรงพลังเรื่องการวางตัว “ตุ๊ดตู่-นายจตุพร พรหมพันธุ์” เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ได้ทำให้คนกรุงเทพฯ จำต้องตัดสินใจลงคะแนนให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในช่วงวินาทีสุดท้ายของการเลือกตั้งทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้อาจเทใจให้ผู้สมัครอิสระเสียด้วยซ้ำไป ไม่เช่นนั้นคะแนนของผู้สมัครอิสระรวมกัน ทั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช นายโฆสิต สุวินิจจิตและนายสุหฤท สยามวาลาคงไม่ออกมาน้อยถึงขนาดนี้(คะแนนของผู้สมัครอิสระทุกคนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนผู้มาออกเสียงทั้งหมด) กระทั่งทำให้คะแนนจัดตั้ง 1 ล้านคะแนนไม่เพียงพอต่อแผนการกินรวบประเทศไทยแบบไร้รอยต่อ

รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด วิพากษ์ชัยชนะที่เกิดขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์อย่างตรงไปตรงมาชนิดแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า…

“ประชาธิปัตย์อย่าได้ผยองกับชัยชนะครั้งนี้เด็ดขาด เพราะคะแนนที่ได้ 1 ล้าน 2 แสนนั้น ไม่ใช่ vote for คุณชายทั้งหมด แต่เป็นคะแนน vote against พงศพัศ ที่เป็นคนของทักษิณ คะแนนที่ได้มาคือ คนรักประชาธิปัตย์+คนรักคุณชาย+คนเกลียด กลัว สยอง ทักษิณ ขอให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนแนวในการทำงาน

(1) อย่าหยิ่งทะนงว่าเก่งจนไม่ฟังใคร

(2) รู้จักสร้างมิตร หาแนวร่วมจากสื่อ นักวิชาการ ผู้นำทางความคิด ผู้นำขุมชน

(3) กล่าวคำว่า “ขอบคุณ” ให้เป็น ไปพบบ้าง โทรศัพท์บ้าง e-mail บ้าง ทำแบบไหนได้ก็ควรทำ ไม่ใช่ชนะแล้วไม่หันไปทบทวนเลยว่าผู้นำทางความคิดคนใดบ้างที่แกนนำหรือตัวคุณชายเองควรจะกล่าวขอบคุณเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ขอบคุณทางสื่อรวมๆ กันถือว่าพอแล้ว

(4) นักวิชาการที่ไปเชิญเขามาร่วมงานต้องให้เกียรติเขา ให้ความสำคัญกับเขา ด้วยการฟังข้อเสนอแนะที่ดี

(5) รู้จักใช้หลักการตลาดในการทำงานสร้างคุณค่าให้ประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ปัญหาให้ประชาชนให้ถูกจุด โดนใจ

(6) ต้องรู้จักใช้การประชาสัมพันธ์บอกให้ประชาชนรับรู้ผลงานอย่างต่อเนื่อง

(7) อย่าทำอะไรที่ผิดหลักธรรมาภิบาลให้คนเขามาด่าว่าเลวพอกันกับฝ่ายตรงกันข้าม ขอให้โปร่งใสตรวจสอบได้

(8) กราบไหว้วิงวอนแม่ยกและแฟนพันธุ์แท้ทั้งหลาย หยุดใช้วาจาหยาบคายด่าฝ่ายตรงกันข้าม สร้างความแตกต่างให้ชัดเจนสมกับที่คุณเปลวบอกว่าเป็นฝ่ายเทพ ไม่ใช่เขาหยาบมาก็หยาบตอบ แล้วจะอ้างว่าดีกว่าพวกเขาตรงไหน

(9) ให้ระมัดระวังถ้อยคำที่ดูถูกฝ่ายตรงกันข้าม อย่าให้เขาอ้างได้ว่าพวกประชาธิปัตย์ทำตัวเป็นกลุ่มอำมาตย์สูงส่งเท้าไม่ติดดินดูถูกคนจน

(10) ต้องล้างภาพ NATO (no action; talk only) หรือภาพที่ดีแต่พูด แต่ไร้ผลงานที่โดดเด่น เมื่อฝ่ายตรงกันข้ามเขาเลวจับต้องได้ ประชาธิปัตย์ก็ต้องดีจับต้องได้ถึงจะแสดงให้เห็นว่ากตัญญูกับประชาชนที่เทเสียงให้ ยกเป็นร่างทรงเทพ (ตามคำพูดของคุณเปลว) ในการต่อสู้กับร่างทรงมาร (ไม่ได้คิดจะดูถูกคนเลือกพงศพัศหรือตัวพงศพัศนะ แต่หมายถึงการกระทำหลายๆอย่างของทักษิณที่ได้รู้ได้เห็น เป็นเชิงประจักษ์ชัดแล้ว ”

เช่นเดียวกับ “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Sasin Chalermlarp" ว่า“ถ้าผลการเลือกตั้งเป็นไปตามนี้...หรือแม้จะไม่เป็นตามนี้ ผมอยากชวนประชาชนเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ทบทวนแนวทางการทำงานการเมืองอย่างจริงจัง มีคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง ทำงานเชื่อมร้อยกับการเมืองภาคประชาชนให้มากขึ้น วางยุทธศาสตร์ระดับประเทศให้แหลมคม แสดงออกให้คนที่สนับสนุนมีความหวังได้จริง วางตัวคนทำงานที่มีบุคลิก และผลงานที่ทำงานจริงให้คนมั่นใจ ไม่เบื่อหน่าย ซึ่งคงต้องอาศัยมือยุทธศาสตร์มือดีอีกมาก ทำงานวิชาการสนับสนุนนโยบายให้หนักแน่น หามือดีๆทางการสื่อสารสาธารณะให้ขาดๆ ที่สำคัญคือ ใช้ผลคะแนนครั้งนี้เป็นกำลังใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่หลงอยู่กับคะแนนที่เทมาจากสถานการณ์มากกว่าคุณภาพจริงๆ ของพรรค และตัวผู้สมัคร”

ด้วยเหตุดังกล่าว ผลการเลือกตั้งที่มิได้หมายความว่า คนกรุงเทพฯ รักพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 1,256,349 คะแนน และมิใช่หมายความว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย หากแต่เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญระหว่างคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องการให้นักโทษชายหนีคดีผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองสามารถกินรวบประเทศไทยอย่างไร้รอยต่อ

ด้วยเหตุดังกล่าว ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นชัยชนะที่เปราะบางยิ่ง และถ้าหากยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในช่วง 4 ปีต่อไปนี้ โอกาสที่คนกรุงเคยหยิบยื่นให้จะหมดไป และจะหมดไปไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงทุกศึกการเลือกตั้งอีกด้วย

เพราะคะแนน 1,077,899 เสียงที่คนกรุงเทพฯ เทให้กับพรรคเพื่อไทยก็ส่งสัญญาณชัดเจนเช่นกันว่า ความเบื่อหน่ายและชิงชิงที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

นี่คือคะแนนที่สูงขึ้นกว่าตัวแทนของระบอบทักษิณทุกคนที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในเก้าอี้ตัวนี้

ปี 2543 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ 521,184 คะแนน
ปี 2547 ปวีณา หงสกุล ได้ 619,488 คะแนน
ปี 2551 ประภัสร์ จงสงวน ได้ 543,488 คะแนน
และหลังสุดปี 2552 ยุรนันทน์ ภมรมนตรี ได้ 611,669 คะแนน

เมื่อสถานการณ์เป็นเยี่ยงนี้ สถานะของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมิได้เป็นอิสระและสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ หรือนึกจะแต่งตั้งใครได้เหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมา หากแต่ถูกพรรคประชาธิปัตย์ยึดอำนาจคืนกลับไปแทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งนี่คือขุมทรัพย์เพียงแหล่งเดียวที่เหลืออยู่ด้วยแล้ว การมะรุมมะตุ้มเพื่อขอเข้ามามีเอี่ยวในเก้าอี้สำคัญๆ จึงเป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

ทั้งตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ

ดังจะเห็นได้จากการให้คำให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เองเกี่ยวกับตำแหน่งดังกล่าวว่า “อำนาจในการเลือกรองผู้ว่าฯ นั้นเป็นของผมตามกฎหมาย แต่ก็ต้องหารือกับพรรคด้วย”

เช่นเดียวกับ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยอมรับว่า “ผมทราบดีว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับการทำงานใน กทม.และของพรรค ....ประชาชนคาดหวังในแง่ผลงานใหญ่ๆ ที่เป็นรูปธรรม ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งเรื่องใกล้ตัวที่เป็นตัวสะท้อน ซึ่งต้องทำงานหนักขึ้น ผมเชื่อว่า 1 ปีหลังจากนี้ คน กทม.จะได้เห็นผลงานจากผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เรื่องความสะอาด การปรับภูมิทัศน์ การติดตั้งกล้องซีซีทีวี ไฟส่องสว่าง แต่เรื่องของอุโมงค์ยักษ์ งานขนส่งมวลชน คงต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง”

ดังนั้น ในการจัดทัพบริหาร กทม.เที่ยวนี้ นายอภิสิทธิ์จึงลงมือกำกับด้วยตัวเองในแทบจะทุกเก้าอี้ เพราะไม่อาจปล่อยให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ฉายเดี่ยวและมีอำนาจเต็มเหมือนที่ผ่านมา

ที่สำคัญคือทำท่าว่า ทีมรองผู้ว่าฯ ชุดเดิมจะไม่ปรากฏชื่อในทำเนียบเสาชิงช้าแม้แต่คนเดียว ทั้ง ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ นางทยา ทีปสุวรรณ นายวัลลภ สุวรรณดีและพญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ

โดยเฉพาะ ดร.ธีระชนนั้นถึงขนาดประกาศวางมือทางการเมืองด้วยข้ออ้างเรื่องต้องการให้เวลากับการดูแลแม่ที่กำลังป่วย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข่าวระแคะระคายมาก่อน แถมยังมีข่าวเรื่องจะอาสาลงสมัครรับเลือกตั้งในเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.อีกต่างหาก

มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจถึงสาเหตุที่ทีมบริหารชุดเดิมหลุดโผทั้งยวงว่า เป็นเพราะมือไม่ถึง ใช่หรือไม่ ประกอบกับนับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป กทม.คือสนามการเมืองสนามเดียวที่จะรักษาพรรคประชาธิปัตย์ให้ดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ถ้าหากยังขืนทำงานแบบเดิมอีก คงไม่แคล้วที่พรรคเก่าแก่แห่งนี้จะต้องสูญพันธุ์ ยิ่งเมื่อดูตัวเลขคะแนนของพรรคเพื่อไทยที่ขยับมาเป็น 1 ล้านเสียงด้วยแล้ว ยิ่งต้องเร่งสร้างผลงาน

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า สำหรับการวางตัวบุคคลดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. 4 คน รวมทั้งตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอื่นๆ นั้น ปรากฏว่า ด้วยความที่ กทม.เป็นพื้นที่เดียวที่เหลือให้พรรคประชาธิปัตย์มีสิทธิและมีอำนาจเต็มในการบริหาร ทำให้มีการส่งเด็กในคาถาของแต่ละมุ้งเข้าร่วมประกวดกันอย่างมโหฬารมากกว่า 20 คน

แถมทำไปทำมา โควตารองผู้ว่าฯ กทม.ที่เดิมมอบอำนาจให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจ 2 เก้าอี้ก็ตกอยู่ในภาวะง่อนแง่นเหลือกำลัง และทำท่าว่าจะถูกดึงกลับเข้าสู่โควตากลางของพรรคโดยมีนายอภิสิทธิ์ยืนทะมึนกำกับอยู่

กระนั้นก็ดี กล่าวสำหรับรายชื่อตัวเต็งรองผู้ว่าฯ ที่คาดว่าจะมีสิทธิมากที่สุดประกอบไปด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้อำนวยศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. นายกนก วงศ์ตระหง่าน และนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกทม.สายโยธา ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปี 2556 นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

งานนี้เห็นชัดเจนว่า ปรากฏรายชื่อ “แก๊งไอติม” 2 รายเข้าป้ายท้าชิงเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม.ด้วย นั่นคือนายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์

ทั้งนี้ ในรายชื่อดังกล่าวที่ถูกปล่อยออกมา ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายองอาจปฏิเสธที่จะไม่รับตำแหน่ง ขณะที่นายจุมพลคือเต็งหนึ่งที่จะคว้าเก้าอี้ตัวนี้เช่นกัน ส่วนฝ่ายหญิงที่นายอภิสิทธิ์ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะต้องมีรองผู้ว่าฯ เป็นผู้หญิง 1 คน แว่วว่า งานนี้มีตัวเต็ง 3 คนที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนัก คนแรกคือ “ผุสดี ตามไท” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ คนที่สองคือ “อานิก อัมระนันท์” ศรีภรรยาของปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ และ “อนุสรี ทับสุวรรณ” เลขาฯ ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่กอดคอทำงานกันมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยที่คุณชายหมูเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วแม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นชัยชนะบนซากปรักหักพังของพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกแยกกันอย่างหนัก เพราะต้องไม่ลืมว่า พรรคประชาธิปัตย์มิได้ตั้งใจที่จะส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ลงสมัครในเที่ยวนี้ แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ดื้อดึงพร้อมประกาศลงสมัครชิงเก้าอี้ตัวนี้ตัดหน้าก่อนที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะมีมติออกมา ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ต้องกลืนเลือดสนับสนุน มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ช่วงแรกของการประชุมโดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เข้าร่วมประชุมด้วย ได้เปิดให้ส.ส.ที่ช่วยหาเสียงได้แสดงความคิดเห็น อาทิ นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก นายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง ส.ส.ปทุมธานี น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม โดยแต่ละคนได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของคะแนนเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ที่มีทั้งแพ้ และชนะ

ทั้งนี้ ทีเด็ดอยู่ตรงที่ น.ส.รังสิมา ได้เรียกร้องให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เข้าร่วมประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บ่อยครั้งขึ้น เพราะที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นคนหลงพรรค ไม่ค่อยเข้ามาที่พรรคประชาธิปัตย์ จึงอยากให้มีมนุษย์สัมพันธ์กับคนในพรรคบ้าง จะได้ดูเหมือนเป็นสมาชิกพรรคที่แท้จริง นอกจากนี้มี ส.ส.เสนอให้พรรคแต่งตั้งผู้สมัคร ส.ส.ที่สอบตก เข้าไปมีบทบาทใน กทม. เพื่อจะมีผลในการทำพื้นที่

รายงานข่าว ยังระบุอีกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้แต่นั่งรับฟัง โดยไม่มีการแสดงความเห็นแต่อย่างใด มีเพียงนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า เรารับรู้ปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้แล้ว ถือว่า เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพูดคุยกันในภายหลัง

ด้วยเหตุและผลดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่6 มีนาคม 2556 นายอภิสิทธิ์ จึงได้เรียกประชุมประธานสาขา และ ส.ข.พรรคประชาธิปัตย์ หารือ ในช่วงเช้าที่พรรคประชาธิปัตย์ และในช่วงบ่าย ได้เรียกประชุม ส.ส.กทม. และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในสัดส่วนของ กทม. ซึ่งคาดว่า จะเป็นการวิเคราะห์ถึงผลคะแนนการเลือกตั้งลงลึกในแต่ละพื้นที่ และวางแผนปรับการทำงานของพรรคใหม่

ส่วนคนกรุงเทพฯ ที่วันนี้ได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้บริหารงบประมาณก้อนมหึมาคงต้องนับถอยหลังกันแล้วว่า บรรดานโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ประกาศเอาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะสามารถเห็นจริงได้ในชาตินี้หรือไม่

ทั้งนโยบายการลดค่าโดยสารรถเมล์บีอาร์ทีและรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายจาก 15 บาทเหลือ 10 บาท

ทั้งนโยบายการเพิ่มรถไฟฟ้าอีก 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. ไลท์เรล สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. โมโนเรลจากศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) - อนุสาวรีย์ชัย - ถนนโยธี 3. โมโนเรล ม.รามคำแหง - ทองหล่อ 4 โมโนเรลสายสีเทา วัชรพล-ลาดพร้าว และ 5. โมโนเรลสายสีฟ้า ดินแดง - สาทร

ทั้งนโยบายการสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง

ทั้งนโยบายการจัดซื้อกล้องซีซีทีวี

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตรที่ทำงานแบบเช้าแก้วเย็นแก้วตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จะสร้างสิ่งปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ใช้เวลาไม่นานนักคงสามารถพิสูจน์ได้

ทว่า ท้ายที่สุดแล้ว ดูเหมือนว่า เส้นทางของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์บนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.จะไม่โปร่งใสเสียแล้ว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติเสียงข้างมาก ยังไม่รับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยให้รอผลการสืบสวนเรื่องร้องเรียนทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งอีก 30 วัน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ กทม. ซึ่งเห็นว่ายังมีเรื่องร้องเรียนการทำความผิดตามกฎหมายการเลือกตั้ง มาตรา 57 (5) 3 เรื่อง

แถมสภาพความเป็นจริงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังไม่ต่างอะไรจาก “ผู้ว่าฯหุ่นเชิด” ที่ถูกนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ยึดอำนาจการปกครองเอาไว้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นชัยชนะบนคราบน้ำตาที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

กลายเป็นว่า ดรามาเกือบตายสุดท้ายเสร็จแก๊งไอติมไปเสียดื้อ

ขณะที่เส้นทางของ จูดี้-พล.ต.อ.พงศพัศกลับราบรื่น เพราะงานนี้นายใหญ่มีสัญญาใจที่จะดึงกลับเข้ามารับราชการตำรวจใหม่ พร้อมผลักดันให้นั่งเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” อีกต่างหาก


กำลังโหลดความคิดเห็น