xs
xsm
sm
md
lg

รัฐซุกเงื่อนไขถกบีอาร์เอ็น-ทำเสียดินแดน3จว.ชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เลขาฯ สมช.แจงกมธ.ทหารสภา ยันเจรจากับบีอาร์เอ็น 28 มี.ค. ไม่มีการต่อรองใดๆ ด้านส.ส.ใต้ "ปชป." ตั้งกระทู้เชื่อ “รัฐ”ซุกเงื่อนไขหวั่นทำไทยเสียดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ ปูด “ยิ่งลักษณ์”เยือนสวีเดน มีเบื้องหลัง ด้าน “เฉลิม”โต้ ไร้ข้อต่อรองเสียดินแดน ซัดกลับเป็นพวกเพ้อ เพราะสัญญายังไม่ได้เกิด มาร์ค แนะดึงผู้ก่อเหตุทุกกลุ่ม เข้าร่วมเจรจา พร้อมกำหนดขอบเขตให้ชัด พร้อมเตือน ระวังมัดประเทศไทย ทำปัญหาบานปลาย ขณะที่โจรใต้ป่วนต่อ กราด M16 ถล่มสายข่าวปัตตานีร่างพรุน

วานนี้ (7 ม.ค.56) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 ห้องประชุม 220 คณะกรรมาธิการทหาร (กมธ.) และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณา กรณีที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานฯ โดยเชิญฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง อาทิ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี และธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าฯ เป็นต้น

พล.อ.สมชาย กล่าวเปิดการประชุม ว่า การกำหนดนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้นจึงเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแสดความคิดเห็นการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะยาว โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติต่อไป

ส่วน พล.ท.ภราดร กล่าว ว่า การทำงานของตนเป็นการเปิดหน้าเพื่อที่จะให้มีการพูดคุยระหว่างกัน ยังไม่มีการเจรจา หรือต่อรองกันใดๆทั้งสิ้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. เป็นต้นไป ก็จะเป็นอีกคณะบุคคลหนึ่งที่จะต้องไปเจรจาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีตัวหลักบางคน และเปลี่ยนบางตัวบุคคลไปเรื่อยๆเพื่อให้สอดคล้อต่อเรื่องที่จะหารือ ซึ่งจะเริ่มตกผลึกมากขึ้น เรียกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เพราะเมื่อมันลงตัวก็จะนำไปสู่กระบวนการต่อไป โดยเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ไม่ต้องกังวล เพราะมาเลเซีย เป็นเสมือนฝ่ายเสมียน จัดหาพื้นที่ให้มีการเจรจา เนื่องด้วยมาเลเซียมีพื้นที่ติดต่อกับไทย และกลุ่มผู้ก่อการฯก็เชื่อเรื่อความปลอดภัย

“การบังคับสภาพวิถีโดยมาเลเซียจะจำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการฯเอง เหตุหนึ่งที่มาเลเซียเปิดตัวอย่างชัดเจนเป็นการส่งสัญญาณบอกกลุ่มก่อความไม่สงบว่า หากต่อไปนี้คุณทำอะไรมา และจะหลบมาอยู่ในมาเลเซียนั้นไม่ได้อีกต่อไป และผู้ที่ต่อสู้กับเราเขาก็สู้มานานและก็เริ่มเห็นสัญญาณเหมือนกันแล้วว่าเขาจะหันไปทางไหนต่อ และก็จะส่งสัญญาณไปยังกลุ่มใหม่ๆที่เกิดขึ้นว่ามันกำลังจะไม่ที่ไปแล้ว ซึ่งสภาวะแวดล้อมนี้มาเลเซียก็มีความจำเป็นจะต้องเร่งทำเพื่อรองรับต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะหากมีความขัดแย้งตามแนวชายแดนความร่วมมือก็จะไม่แข็งแรง มาเลเซียจึงไม่พึงประสงค์จะให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว” พล.ท.ภราดร กล่าว

ด้าน พล.อ.เอกชัย กล่าว ว่า ขอยืนยันว่าคนที่มาลงนามร่วมกับเลขาฯสมช. คือตัวจริงที่อยู่ในระดับฝ่ายเสนาธิการ คอยกำหนดยุทธการ และวางแผน ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปิดที่ดี แต่ต้องมีความระมัดวังมากขึ้น เพราะจากเดิมมีกลุ่มผู้ก่อการฯทั้งหมด 12 กลุ่ม ปัจจุบันเหลือประมาณ 5 - 9 กลุ่ม เนื่องจากมีการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มที่แนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งการแก้ปัญหาของเรานับว่ายากกว่า กรณีของอาเจะห์ อินโดนีเซีย 5 เท่า เนื่องจากอาเจะห์มีโครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อการอย่างชัดเจน แต่ของเราไม่ใข่ เพราะการเจรจาอาจจะทำให้กลุ่มหนึ่งอาจพอใจ แต่อีกกลุ่มอาจไม่ เราจึงต้องหาจุดสนใจของแต่ละกลุ่มเหมือนกัน และพิจารณาเป็นเรื่องๆไป ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวเบ็ดเสร็จ

**เฉลิมปัดยื่นข้อเสนอใต้โต๊ะกับบีอาร์เอ็น

ที่รัฐสภา ภายในการการประชุมสภาฯ มีการถามประทู้สดเรื่องการลงนามสันติภาพ โดยนายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งคำถาม โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ผอ.ศปก. กปต. เป็นผู้ชี้แจงแทนนายกฯ

นายเจะอามิง กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลทำข้อตกลงกลับบีอาร์เอ็นที่ ประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นเกิดความหวาดหวั่น และกังวลจากประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรงเพราะหลังจากนั้นเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จึงอยากถามว่าการไปเจรจาถือว่าถูกต้องถูกตัวหรือไม่ วันนี้รัฐบาลมอบให้สมช.ไปเซ็นสัญญา ที่ประเทศ มาเลเซีย อยากถามว่ารัฐบาลมีข้อสัญญาอะไรอยู่ใต้โต๊ะและไม่เปิดเผยต่อสังคม เพราะฝ่ายก่อเหตุเขาพูดชัดเจนหากรัฐบาลไม่ให้อะไรกับเขา เขาก็ไม่ยอมร่วมมือ และเจรจากับรัฐบาล

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า รัฐบาลยึดหลักรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เรื่องการลงนามกลุ่มบีอาร์เอ็น ไม่ขัดมาตรา 190 เพาะไปเซ็นกลับคนไทย ที่หลงผิด แต่อุดมการณ์ไม่ตรงกันจึงไปอยู่มาเลเซีย ไม่ใช่ลงนามกลับต่างประเทศ และเรื่องดังกล่าวเรียกว่าการแสดงเจตนาร่วมกันในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพไม่มี “สัญญา”เกิดขึ้น

โดยมีประเทศมาเลเซียอำนวยความสะดวกเท่านั้นไม่ได้ทำสัญญากับมาเลเซีย ส่วนจะเชื่อถือได้หรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าเชื่อได้ เพราะคนที่เปิดประเด็นคือนายกฯมาเลเซีย หากไม่มีน้ำหนักเขาไม่เสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีพยานในการลงนามที่น่าเชื่อถืออีกคือ เลขาสมช. ผบ.ตร. ผบ.สส. ของมาเลเซีย เป็นต้น เมื่อเกิดความน่าเชื่อถือแล้ว สมช.ไทยจึงลงนาม และเมื่อไปเจรจาก็ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองแล้วต้องนำกลับมา ศปก.กบต.

ที่ผ่านมา การเจรจายังไม่ได้เริ่มขึ้น ส่วนที่ระบุว่าหลังจากลงนามแล้วเกิดความรุนแรง ไม่เป็นความจริง แต่มีแต่การเผายางรถยนต์ 50 แห่งรุนแรงแห่งเดียวที่ จ.ยะลา และ ตำรวจก็จับคนร้ายได้แล้ว5 คน และกำลังเจรจาให้มามอบตัว

“หลังจากเซ็นสัญญาแล้วถามว่าได้อะไรไหม ก็ดีกว่าไม่ทำ ดีกว่าอยู่เฉยๆ หากทำแล้วเสียเปรียบก็ทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วประโยชน์เราก็ปฏิบัติการต่อไป” รองนายกฯระบุ

ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ถามต่อว่า ร.ต.อ.เฉลิม ตอบแบบลวงโลก ถามในสิ่งไม่ได้ถาม และคิดคำตอบมาจากบ้าน จึงไม่ตรงกลับคำถาม อย่าลืมว่าเครือข่ายตนก็มีเหมือน ร.ต.อ.เฉลิม ทั้งนี้หากดูในเนื้อหาของเอกสารที่ไปลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ระบุว่า มาเลเซีย จะเป็นผู้ลงนามเป็นพยานเท่านั้น ข้อตกลงไม่มีสภาพการบังคับมาเลเซียไม่ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ฝ่ายเรารับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว

“ไปสอบถามได้เลยนาย ฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เป็นผู้ไม่มีอำนาจสั่งการ ปัญหาภาคใต้จะสงบได้อย่างไร ย้อนไปดู 16 ศพ มีการบอกกล่าวจากญาติผู้เสียชีวิตไปเพราะความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ตากใบ ที่ถูกทุบถูกตี จนในที่สุดไปอยู่กับแนวร่วมอาร์เคเค ซึ่งเกิดจากความเจ็บปวดจากรัฐบาลทักษิณ นี้คือข้อเท็จจริง"

นายเจะอามิง กล่าวและว่า วันนี้การแก้ปัญหาน่าจับตาร่วมทั้งการเดินทางของนายกฯไปสวีเดน น่าจะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ตนเชื่อว่ามีอะไรและเชื่อมโยงมาถึงเรื่องดังกล่าว และสิ่งที่ตนเป็นห่วง ที่สุดคือการลงนามกับบีอาร์เอ็น ที่ฝ่ายตรงข้ามเขียนไว้ชัดเจน หากรัฐบาลไทยมีความปรารถนาอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีความจริงใจ และรัฐบาลต้องแจ้งว่าจะให้อะไรกับฝ่ายเขา โดยตนเป็นห่วงว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้จะหลุดจากประเทศไทย

ร.ต.อ. เฉลิม กล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย ที่จะทำให้ 3 จังหวัดหลุดจากไทย ท่านเพ้อ จะมีรัฐบาลที่ไหนโง่ขนาดนั้น และหน่วยความมั่นคงคงไม่ยอมเด็ดขาด และที่ลงนามดังกล่าว ยังไม่มีการเจรจา โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 28 มี.ค. แต่สิ่งที่ท่านพูดเป็นการคาดการณ์ไปเองหมด

**“อภิสิทธิ์” แนะ ดึงผู้ก่อเหตุทุกกลุ่ม เข้าร่วมเจรจา

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 2 ว่า ภารกิจหลัก คือ 1.ต้องดึงผู้ก่อเหตุกลุ่มอื่นๆ เข้ามา เพราะโครงสร้างของกลุ่มผู้ที่มาลงนามไม่มีความชัดเจนในการสั่งการในพื้นที่ 2.กำหนดขอบเขตการพูดคุย เพราะทุกคนเป็นห่วง และผู้ก่อเหตุในพื้นที่จะไม่ตอบสนองอะไรจนกว่าจะได้ความชัดเจนในสิ่งที่พูดคุย จึงทำให้สภาพในพื้นที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เกิดเหตุความรุนแรงรายวัน และการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้สดในสภาฯ โดยบอกว่า ในพื้นที่ไม่มีอะไร เป็นการแสดงถึงความไม่เห็นใจคนในพื้นที่ เพราะมีเหตุการณ์ที่กระทบกับคนในพื้นที่ทุกวัน เป็นการพูดตีโวหาร โดยไม่มีคำตอบว่า ผู้ที่ลงนามมีศักยภาพมากเพียงใด

ดังนั้นจึงอยากย้ำว่า เอกสารที่ไปลงนามถ้าอ่านตามตัวอักษรจะเห็นว่า รัฐบาลไทยแสดงเจตนาฝ่ายเดียวว่า พร้อมมอบหมายสมช. พร้อมให้บีอาร์เอ็น มาพูดคุยสันติภาพ ขอให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ที่สำคัญคือ จะคุ้มครองความปลอดภัยของคนที่มาเจรจา แต่ไม่มีประโยคไหนเลยที่ผูกมัดคนที่ก่อความไม่สงบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้จะมีความพยายามดึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เข้ามาร่วมแก้ปัญหา แต่ขอยืนยันว่า ปัญหานี้ยังเป็นปัญหาภายในประเทศ แต่ปัญหาเรื่องการรับรองคนที่มาลงนามด้วยจะบานปลายออกไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไทยต้องแสดงจุดยืนให้ชัดต่อประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งตนไม่กลัวว่า ปัญหานี้จะมัดรัฐบาลแต่กลัวว่าจะมัดประเทศไทย และส่งผลต่อคนในพื้นที่ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเริ่มต้นแล้ว ก็ต้องเดินหน้าด้วยความระมัดระวัง ปิดจุดอ่อนให้หมด แต่ไม่แน่ใจว่า ร.ต.อ.เฉลิม เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของปัญหามากแค่ไหน และได้รับมอบหมายเกี่ยวกับงานพวกนี้หรือไม่ เพราะตนคิดว่า คนที่ทำงานจริงๆ คือ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

**นายกฯชี้แก้ไฟใต้ต้องใช้เวลา

เมื่อเวลา 16.40น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ตัวแทนของสมช.ไทยและมาเลเซียไปพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้นเป็นเพียงการเริ่มการพูดคุย ยังไม่เข้าสู่กระบวนการการเจรจา จึงอยากให้แยกกันระหว่างการเริ่มแนวทางการแก้ไขปัญหากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการพูดคุยกันก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถหยุดปัญหาความรุนแรงได้ทันทีก็คงต้องใช้เวลา ในหลายๆประเทศที่มีความไม่สงบก็ใช้เวลานานหลายปี บางทีใช้ถึง 6-7 ปี เราจะพยายามอย่างดีที่สุดและทำเต็มที่

**กราดM16ถล่มสายข่าวร่างพรุน

ด้านสถานการณ์เมื่อเวลา 00.30 น.ของวานนี้ (7 มี.ค.) พ.ต.ต.พริยา เจตวรานนท์ สว.สภ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งเหตุยิงกันตาย ม.8 บ้านแหลมแป้ง ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จึงไปครวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมด้วย พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.ปัตตานี ตำรวจพิสูจน์หลักฐานปัตตานีและกำลังตำรวจ ทหารจำนวนหนึ่ง ที่เกิดเหตุพบรถยนต์เก๋งนิสสัน ซันนี่ สีเงิน ทะเบียน กข 4530 นราธิวาส สภาพมีรอยถูกยิงพรุนทั้งคัน ภายในรถพบผู้เสียชีวิตคาพวงมาลัย ทราบชื่อคือ นายสะรี เจ๊ะอาลี อายุ 42 ปี เป็นเจ้าของบ้านหลังที่เกิดเหตุ มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปีนสงครามเอ็ม 16 ที่บริเวณศีรษะ และลำตัวในสภาพพรุนทั้งร่าง นอกจากนั้น บนพื้นถนนหน้าบ้านพบปลอกกระสุนปืน เอ็ม 16 จำนวน 22 ปลอก เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมเก็บหลักฐานเพื่อพิสูจน์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น