xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตไฟฟ้า ชัยชนะของ “เสี่ยเพ้ง” ยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แผนข่มขู่ขูดรีดประชาชนจากการสร้างสถานการณ์วิกฤตไฟฟ้าเทียมของ “เสี่ยเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ผลเกินคาดหมาย เพราะไม่เพียงแต่สามารถขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) โดยไม่มีเสียงโวยวายแม้สักแอะเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดทางสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะได้เป็นอย่างดี ส่วนจะมีใครเดือดร้อนจากการสร้างวิกฤตการณ์เทียม “เสี่ยเพ้ง” ไม่สน

หลังจากประชาชนถูกปล้นค่าเอฟทีไปอย่างหน้าด้านๆ ทั้งที่ความรับผิดชอบนี้เป็นเรื่องที่ผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ กฟผ. คือ ยักษ์ใหญ่ ปตท. ต้องเป็นผู้จ่าย แต่สัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับปตท. ซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ บวกกับโครงสร้างกลไกการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่พิกลพิการ เปิดช่องโยนภาระให้ประชาชนอย่างไม่อายแล้ว ชาวบ้านตาดำๆ ยังต้องมาเดือดร้อนซ้ำสองจากการปั่นข่าวก๊าซฯขาดแคลน มีการกักตุนก๊าซฯ หวังปรับขึ้นราคา ขณะที่ภาคขนส่งก็เริ่มปั่นป่วนโดยอ้างเหตุพม่าไม่สามารถส่งก๊าซฯ ให้ไทย ซึ่งเป็นการฉกฉวยโอกาสจากการประโคมข่าวใหญ่โตสร้างความโกลาหลของรัฐมนตรีพลังงาน

เมื่อสถานการณ์ดูท่าจะบานปลาย “เสี่ยเพ้ง” จึงกุลีกุจอออกมายืนยันว่า ก๊าซแอลพีจีในประเทศไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน เนื่องจากโรงแยกก๊าซในภาคตะวันออก ยังสามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบจากการหยุดจ่ายก๊าซของพม่า ขณะที่การสำรองแอลพีจีอยู่ในระดับสูง จึงไม่ขาดแคลน และได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงาน ไปตรวจสอบโรงบรรจุก๊าซ และร้านจำหน่าย รวมถึงสถานีบริการแอลพีจี ไม่ให้มีการฉวยโอกาสกักตุนแอลพีจีในช่วงนี้ ส่วนก๊าซฯเอ็นจีวีสำหรับยานยนต์ ก็ไม่ขาดแคลนเช่นกัน ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และกักตุนก๊าซฯ เพราะเชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวของคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดี

การปล่อยข่าวของ “คนบางกลุ่มที่ไม่หวังดี” ต่อประชาชนนั้น เสี่ยเพ้งน่าจะรู้ตัวดีว่าเป็นใคร ตัวเขาเองเป็นหนึ่งในกลุ่มคนพวกนั้นหรือไม่

แต่อย่าเพิ่งวางใจ เพราะนี่อาจเป็นหมากอีกตาหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาก๊าซฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ปตท. ร่ำร้องมาตลอดว่า รัฐบาลควรต้องลอยตัวราคาก๊าซฯ ตามราคาตลาดโลก เรื่อง นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่นั่งหัวโต๊ะที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ไฟเขียวแล้วว่า จะตรึงราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนที่ 18.13 บาท/กก. สิ้นสุดถึงแค่เดือนมีนาคม 2556 หลังจากนั้นให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) หาทางปรับราคาขายปลีกก๊าซฯ แอลพีจีภาคครัวเรือนให้สะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กก. ภายในปี 2556 นี้

คำขู่ไฟฟ้าวิกฤต จึงได้ผลสองเด้ง ทั้งขึ้นค่าเอฟที และค่าก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน ซึ่งก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนนั้นถือว่าปรับขึ้นได้ยากที่สุดเพราะกระแสคัดค้านมีมาก กระทบกับประชาชนในวงกว้าง สะเทือนค่าครองชีพเป็นลูกโซ่

การสร้างวิกฤตเทียมในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน รู้ดีว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ประชาชนยอมรับการถูกเอารัดเอาเปรียบแต่โดยดี เหตุนี้ การหว่านเงิน 65 ล้านบาท เพื่อจ้างสื่อพีอาร์รณรงค์ประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเดียวกันนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทันทีที่รัฐบาลออกมาปั่นกระแสวิกฤตไฟฟ้า สื่อทั้งหลายแหล่ต่างแห่เสนอข่าวช่วยรัฐบาลเรียกว่าได้ผลเกินคาดหมาย

เว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า การว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ วงเงิน 65 ล้านบาท ของกระทรวงพลังงานนั้น เอกชนที่ได้รับว่าจ้างจะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชน โดยมีการกำหนดชื่อ สื่อ ช่วงเวลา รายการที่จะออกอากาศ และจำนวนครั้งอย่างชัดเจน เช่น ช่อง 3 ,ช่อง 5 , ช่อง 7 , ช่อง 9 , ช่อง 11 , สถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม เคเบิลทีวี โดยยกตัวอย่าง VOICE TV, TNN, เนชั่น สำหรับหนังสือพิมพ์ มีการระบุชื่อ อาทิ ฐานเศรษฐกิจ มติชน เนชั่น นอกจากนี้ ยังจะต้องจัดทำต้นฉบับโฆษณา หรือบทความพิเศษ เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน หรือ ข่าวสด และนิตยสารเพื่อนพลังงาน

การทุ่มเงินทำพีอาร์คราวนี้ กระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีศักยภาพปิโตรเลียมที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะพยายามสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งพลังงาน ที่บางกลุ่มมีความคิดสวนทางกับนโยบายรัฐบาล รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมของหลายฝ่าย ทำให้เกิดกระแสการคัดค้าน บางข้อมูลที่ได้รับบิดเบือน จากความเป็นจริง ว่า ประเทศไทยยังมีแหล่งพลังงานเพียงพอ

“หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลมีอุปสรรคที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานได้ตามเป้าหมาย หากไม่ทำความเข้าใจกับประชาชน อย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับภัยคุกคามจากพลังงานที่กำลังจะหมดไป รวมถึงปรับทัศนคติของประชาชน ให้ตระหลักถึงสภาพปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องดำเนินการโครงการฯ นี้” ร่างทีโออาร์ ระบุ

เหตุและผลที่กระทรวงพลังงาน ยกมาอ้างดูสมจริงสมจังเพราะเข้ากับกระแสการปั่นข่าววิกฤตไฟฟ้า แต่ความจริงแล้ว นี่คือการกรุยทางสู่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน โดยอ้างว่าเรากำลังเผชิญ “ภัยคุกคามจากพลังงานที่กำลังจะหมดไป” ซึ่งในที่นี้หมายถึงก๊าซฯ สอดรับกับการออกมารณรงค์ของ กฟผ. ในจังหวะเดียวกันพอดิบพอดี

บทโฆษณาชวนเชื่อของ กฟผ.ที่เผยแพร่ผ่านสื่อ เช่น ข่าวสด เรื่อง “กฟผ.: ความมั่นคง...ด้านพลังงานต้องตระหนักถึงภาวะวิกฤตแม้ในยามสถานการณ์ปกติ” บอกชัดว่า ทางรอดด้านพลังงานไฟฟ้าไทยต้องมองไปที่ถ่านหิน เพราะน้ำมันมีต้นทุนที่สูงเกินไปที่จะนำมาปั่นไฟ ส่วน ก๊าซฯ สายป่านหดสั้นลงทุกที ส่วนนิวเคลียร์คงอีกสักพักใหญ่ เห็นชัดว่าเราเหลือทางเลือกไม่มากนัก และถ่านหินคือ คำตอบเพราะยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีสำรองอยู่มากมายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก เราสามารถนำเข้าถ่านหินจากบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอินโดนีเซียได้โดยสะดวก ส่วนพลังงานหมุนเวียนนั้นต้นทุนสูง ต้องใช้เงินมหาศาล

"อย่างที่ทราบ สำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่พิสูจน์แล้วเหลืออยู่แค่ 8 ปีในระดับของความเป็นได้ ซึ่งจะต้องสำรวจเพิ่มเติมอาจจะต่อลมหายใจออกไปได้อีก 6- 5 ปี ท่านคิดว่า 13 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนานไหม" กฟผ.ขู่สำทับให้เห็นวิกฤตที่รออยู่เบื้องหน้า

เป็นความจริงที่ว่า การพึ่งพาก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 70% เป็นความเสี่ยง แต่ไม่พึ่งก๊าซฯแล้วต้องหันมาพึ่งถ่านหิน ยังมีคำถามว่าใช่จะเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ่านหินก็จัดอยู่ในประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีวันหมดไปเช่นเดียวกัน ขณะที่คำโฆษณาถ่านหินสะอาด เทคโนโลยีการกำจัดมลพิษที่ได้ผลล้ำเลิศยังน่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะ ผีโรงไฟฟ้าแม่เมาะยังตามหลอกหลอนคนไทยอยู่จนถึงวันนี้

แต่ถึงแม้จะมีเสียงค้าน งานนี้ "เสี่ยเพ้ง" ไม่สนสั่งลุยเต็มที่ ล่าสุด นายพงษ์ศักดิ์ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2556-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2013 ปรับปรุงครั้งที่ 1) ไปกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยให้ลดการใช้ก๊าซฯ จากปัจจุบัน 70% ให้เหลือ 45% เพิ่มสัดส่วนถ่านหินจาก 18% เป็น 20% น้ำและการซื้อไฟจากต่างประเทศ 10% เป็น 15% พลังงานทดแทน 20% ตามแผนแต่สัดส่วนดังกล่าวให้เพิ่มผลิตไฟจากชีวมวลโดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ให้เพิ่มขึ้นเป็น 15%

“ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้จะมีปัญหาค่าไฟแพงแล้วยังมีปัญหาความมั่นคงที่เสี่ยงมากเพราะก๊าซมาตามท่อสำรองไม่ได้ ขณะที่ถ่านหินนั้นสต็อกไว้ที่โรงไฟฟ้าได้มากถึง 100 วัน หรือใช้ได้ 3-6 เดือนจึงเป็นสำรองที่มั่นคงและยังมีราคาต่ำ และเทคโนโลยีขณะนี้ก็ก้าวหน้าไปมากจึงอยากเห็น เพิ่มสัดส่วนถ่านหินสะอาด ขณะนี้มีแผนผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ให้เป็น 10,000 เมกะวัตต์ และพลังน้ำที่รวมซื้อจากต่างประเทศเป็น 10,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์อีก 10,000 เมกะวัตต์” นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งเป้าหมาย

ในการเดินทางร่วมคณะของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเยือนมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นายพงษ์ศักดิ์ ยังแพลมว่า จะมีการหารือร่วมกันเรื่องพลังงาน โดยล่าสุดมาเลเซียเสนอตัวสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินให้ไทย 1,600 เมกะวัตร์ นอกจากนี้ยังมีพม่าอีก 4,000 เมกะวัตต์ และกัมพูชา 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งการเสนอขายไฟจากเพื่อนบ้านถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง อาจเป็นไปได้ที่จะให้กฟผ.ในส่วนของกฟผ.อินเตอร์ไปลงทุนร่วมกับเอกชนเหล่านั้นแทน

การเพิ่มสัดส่วนการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ผลักดันโดยกระทรวงพลังงาน และกฟผ.เชียร์ออกหน้าว่าถ่านหินที่อินโดนีเซียมีมากและนำเข้าสะดวก มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่านี่เป็นการทำธุรกิจของกฟผ. โดยบริษัทบ้านปูฯ ผู้ถือหุ้นในบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของกฟผ.นั้น มีธุรกิจถ่านหินอยู่ในอินโดนีเซีย และกลุ่มบ้านปูที่จับมือเป็นพันธมิตรกับกฟผ.ผ่านทางบริษัทลูกกำลังรุกลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน

"การลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคต บ้านปูฯ จะเน้นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าที่สอดคล้องกับธุรกิจถ่านหินที่มีอยู่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย" เว็บไซต์ของบริษัทบ้านปูฯ ระบุชัด

หากพีดีพี 2013 เป็นไปตามแผน ไม่ใช่เพียงกฟผ. บริษัทลูกและพันธมิตรธุรกิจอย่างบ้านปูเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ แม้แต่ ปตท. เองก็ไม่พลาดที่จะเข้าเก็บเกี่ยวดอกผลด้วย เพราะปตท.ไม่ได้มีแค่ธุรกิจก๊าซฯและน้ำมัน แต่ยังเข้าไปลงทุนในธุรกิจถ่านหินที่อินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

ทาง ปตท. เพิ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อเดือนตุลาคม 2555 นี้เอง ว่าการทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ซึ่งทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เข้าถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 90.2% จากเดิมที่ถืออยู่ 45.3% ใช้เงินลงทุน 960 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ดังนั้น ไม่ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ หรือถ่านหิน ก็เสร็จ ปตท. ทั้งนั้น แต่หากเป็นก๊าซฯ ปตท.ก็จะได้มากเพราะผูกขาดอยู่รายเดียว ยิ่งถ้าสามารถสร้างกระแสก๊าซฯในอ่าวไทยจะหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า ให้ประชาชนตื่นตระหนกได้เป็นผลสำเร็จเช่นเดียวกับการปั่นข่าววิกฤตไฟฟ้า ก็จะยิ่งทำให้ ปตท. ค้าขายทำกำไรกับการนำเข้าก๊าซ LNG ได้อย่างงดงามอีกเด้งหนึ่ง

ทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์ก๊าซฯ อ่าวไทยที่จะลดน้อยลงว่า จะต้องมีแผนรองรับเพื่อทดแทน หนึ่งในนั้นคือ การนำเข้าก๊าซฯ เหลว (LNG) ซึ่งในเฟสแรกกำหนดไว้ที่ 5 ล้านตัน/ปี หรือประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และในเฟสที่สองอีก 5 ล้านตัน/ปี สามารถรองรับความต้องการได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งราคาของ LNG สูงกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทยถึง 2 เท่า เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น ทาง ปตท.สผ.เองก็กำลังหาแหล่งก๊าซ LNG อยู่ จากการเตรียมโครงการในโมซัมบิก หรือการไปเจรจาซื้อก๊าซ LNG จากสหรัฐในแหล่งเชลล์ก๊าซ ที่คาดว่ามีปริมาณ LNG มากถึง 500 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

การขาดแคลนก๊าซฯ และต้องนำเข้า LNG จึงมีคำถามจาก นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ว่า "ขณะนี้รัฐมนตรีพลังงาน ประกาศทำนองว่า เตรียมดีเซล 1 ล้านลิตร หรือน้ำมัน เตา แต่จริงๆ แล้วแอลเอ็นจี 1 ล้านตัน ที่เขายังไม่ได้เผยโฉมออกมา และก็เริ่มมีคนออกมาพูดว่า ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้แอลเอ็นจี 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ปตท. เซ็นสัญญาซื้อไว้กับการ์ตาร์ ปัญหาคือถ้าความต้องการใช้แก๊สลดลง แอลเอ็นจี 5 ล้านตันก็จะไม่มีตลาดขาย"

เช่นเดียวกับนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นผ่านเฟชบุ๊ค โดยแสดงความแปลกใจที่อยู่ดี ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม บอกว่า เดือนเมษายน จะมีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรง เพราะก๊าซที่พม่าปิดซ่อม ทั้งที่มีการปิดซ่อมแซมเป็นประจำทุกปี และก็มีการเตรียมการป้องกันอยู่แล้ว สงสัยการสร้างสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อหาเหตุผลในการสร้างโรงไฟฟ้า

"อีกด้านหนึ่ง ประธานปตท. คนใหม่ที่เพิ่งแต่งตั้ง (วิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลทักษิณ) ก็คือคนสนิทของผู้มีบารมีจากดูไบ เพื่อมากดรีโมทดูแลบริษัทมูลค่าล้านล้านบาทด้วยตนเอง ผลประโยชน์เรื่องพลังงานแบบผูกขาดมันมหาศาลกว่าที่หลายคนคิด"นายวันชัย กล่าว และขอให้สังคมจับตา การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า จะยกเลิกก๊าซLPG กับรถยนต์ และให้คนขับรถมาใช้ NGV ที่ผูกขาดโดยปตท.แทน รวมถึงราคาน้ำมันก๊าซโซฮอลล์พุ่งพรวดอีกสิบสลึงเกือบจะเท่าน้ำมันเบนซิน

นี่ไม่นับว่า การสร้างสถานการณ์ก๊าซฯ ขาดแคลน จะช่วยเร่งให้มีการเริ่มเจรจาผลประโยชน์ในเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลฮุนเซน เปิดประตูรอรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ไปสานต่อจากผู้เป็นพี่ชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำเกือบสำเร็จหากไม่ถูกรัฐประหารเสียก่อน เพราะขุมทรัพย์เขตทับซ้อนมูลค่า 5 ล้านล้านบาท ยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานจากทั่วโลกรวมถึงกลุ่มปตท.ต่างจับจ้องตาเป็นมัน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสให้ "การตั้งด่าน" เรียกเงินใต้โต๊ะขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพงขึ้นไปอีก ดังที่ ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นักวิชาการด้านพลังงานและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้สัมภาษณ์วิทยุจุฬาฯ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่มีการวางแผนรับมือการปิดซ่อมท่อก๊าซฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันปกติและมีการแจ้งล่วงหน้าแล้ว

"ผมฟังดูแล้วก็ยิ่งงง เป็นเรื่องที่ผู้บริหารไม่รู้เรื่อง ไม่มีการเตรียมการ หรือ จงใจเพื่อพูดสร้างกระแสบางอย่าง ไม่ใช่ไทยไม่มีกำลังการผลิตสำรอง เรามีกำลังการผลิตสำรอง แต่ไม่มีที่จะให้ในโรงไฟฟ้าพวกนั้นผลิต .... ช่วงหลัง 2 ปีที่ผ่านมา มีการ "ตั้งด่าน" ขึ้นมาในกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เหมือน "ตำรวจตั้งด่านกลางถนน" ทำให้ได้ใบอนุญาตยากมาก นโยบายต่างๆ เลยเดินไปไม่ได้

"ส่วนใครจะตั้งด่าน ผมพูดไม่ได้ ต้องไปถามเจ้ากระทรวงทั้ง 2 หรือไปถามคนที่มีอำนาจเหนือกระทรวงในทางการเมือง การตั้งด่านไม่ได้อยู่ในกฎหมาย ช่วงปีกว่าที่รัฐบาลชุดนี้รับงานมา ถ้าไม่ได้มาตั้งด่านบ้าๆ บอๆ เราจะมีกำลังการผลิตจากพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลม อีก 1,000 เมกะวัตต์ ฉะนั้นทางเลือกที่เปิดเอาไว้มี แต่เราเดินต่อไม่ได้"

ด่านที่ว่านั้น เป็นด่านที่ทุกคนต้องเจอหมด ทำให้โรงงานพลังงานหมุนเวียน เกิดการชะลอไป ไม่มีใครรู้สึก แต่พอตอนนี้ไฟฟ้าจะขาด ทุกคนเริ่มรู้สึกว่า โรงไฟฟ้าหลายแห่งที่สร้างแล้วเสร็จหลายโรง ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เพราะใบอนุญาตไม่ออก จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าผลิตบางแห่งมีกำลังผลิตเหลือ แต่หน่วยงานพลังงานบอกต้องผลิตเท่านั้นเท่านี้ ผลิตเกินไม่ได้ถือเป็นด่านหนึ่ง

"ต้องตัดด่านแบบนี้ออกไปทั้งหมด ถือเป็นต้นตอที่สำคัญ เราจะไปโทษพม่าอย่างเดียวไม่ได้ เขาปิดซ่อมเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว"

ส่วนภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าต้นตอปัญหามาจากอะไร เรามีโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ แต่ไปตั้งด่านเอาไว้ ความรับผิดชอบนี้ สมควรแล้วหรือที่จะให้ประชาชนต้องมาร่วมรับผิดชอบที่อยู่ในค่าเอฟทีแล้ว ดังนั้น ต้องไปเอาคืนมา ใครจะรับภาระก็ต้องดูว่าผู้ส่งก๊าซหรือเจ้าของกระทรวงพลังงาน หรืออุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบ ปัญหาส่วนหนึ่งมันมาจากที่ไปตั้งด่านทำให้โครงการมันล่าช้า โดยเฉพาะหน้าร้อน เราใช้ไฟมากที่สุด ค่าไฟเพิ่มอยู่แล้ว คำถามน่าสงสัย แล้วทำไมเราไม่คุยกับพม่าก่อนหน้านี้

"ส่วนการตั้งด่าน เกิดขึ้นจากรัฐบาล ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากเด็กๆ ปัญหาในไทย คอร์รัปชัน อย่าไปโทษเด็ก นอกจากเด็กเห็นผู้ใหญ่ทำก็จะเอาบ้าง"

นโยบายด้านพลังงานส่วนใหญ่ กำหนดขึ้นในช่วงที่ตนเองเป็นรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มมีมาตรการแปลกๆ เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลัง แย่มากๆ มีการตั้งด่านมากขึ้น ราคาก็เพิ่มขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแค่กระทรวงเดียว มันมากกว่า 1 กระทรวง

"ผมว่าต้องไปเรียกร้องรัฐบาลให้จัดการเป็นเรื่องเป็นราว ค่าไฟที่สูงขึ้น ต้องผลักดันให้ผู้รับผิดชอบรับภาระไป ไม่ใช่ผลักให้ประชาชน" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น

เห็นได้ชัดว่า วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงาน จับมือกันปั่นกระแสยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง แต่ประชาชนตาดำๆ มีแต่ก้มหน้ารับกรรมกันต่อไป อีกนานเท่านาน


กำลังโหลดความคิดเห็น