xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ตัดงบฯลดใช้ไฟพม่าเลื่อนซ่อมท่อก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ล้อมคอกรับวิกฤต สั่งทุกหน่วยประหยัดไฟ ขู่ตัดงบฯลดใช้ไม่ได้10% ตุนNGVใช้ผลิตไฟฟ้า "ปู"สั่งพลังงานติดตามการใช้ไฟทุกวัน ยันพลังงานสำรองเพียงพอ ไม่ถึงขั้นวิกฤตไฟดับทั้งเมือง ด้าน"เพ้ง"เตรียมเจรจาเลื่อนปิดซ่อมท่อส่งก๊าซพม่าให้ใกล้ช่วงสงกรานต์ เผย พม่ายอมเลื่อนเวลา ขีดเส้นหยุดส่งก๊าซ 30 ชม. ด้านภาคประชาชนข้องใจรัฐบาลสร้างเงื่อนไขขึ้นค่าไฟ ฝ่ายค้านจี้นายกฯตอบให้ชัดถึงแนวทางการผลิตพลังงานทางเลือก ก.พลังงานเตรียมระดมสมองวันนี้ (20ก.พ.) หามาตรการรับมือก๊าซฯพม่าหยุดจ่าย ป้องไฟฟ้าดับ ธพ.สั่งปตท.ดูแล NGV ไม่ให้ขาดแคลนฝั่งตะวันตก แจงประชาชนหากมีปัญหาคุณภาพก๊าซฯ คาดรัฐเล็งสารพัดมาตรการดูแล

วานนี้ (19 ก.พ.56) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. นายพงศ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้รายงานถึงสภาพปัญหาพลังงานในอนาคต ที่สืบเนื่องมาจากการปิดซ่อมแหล่งขุดเจาะก๊าซบางจุดในพม่า ในช่วงวันที่ 4-12 เม.ย.นี้ โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้แก้ไขเต็มที่ และอยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า และขอกำชับกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย ช่วยประสานทุกกระทรวงให้ช่วยกันประหยัดไฟ โดยขอให้เริ่มทันที

ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าลดใช้พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิงให้ได้ 10 % หากหน่วยงานใดมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น15 % ก็จะจัดการโดยให้สำนักงบประมาณปรับลดงบประมาณในปีต่อไป พร้อมกันนี้ขอให้เปิดเครื่องปรับอากาศ(แอร์)และลิฟท์ให้เป็นเวลาเท่าที่จำเป็น โดยตั้งอุณหภูมิแอร์ที่ 25-26 องศาเซลเซียส พร้อมให้ตรวจล้างเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ส่วนลิฟท์ให้เปิดใช้บางตัว และเปิดใช้ชั้นเว้นชั้น พร้อมกันนี้ให้หน่วยงานลดการใช้น้ำมัน หันมาใช้รถแบบคาร์พูล และให้ตรวจสอบการจำกัดความเร็ว และให้ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล คู่กับ ก๊าซเอ็นจีวี

"ครม.จะทำตัวเป็นตัวอย่าง โดยจะไม่ใส่สูทประชุมครม. และให้หน่วยราชการปฏิบัติด้วย เพื่อจะช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น ขณะเดียวกันให้ยกเว้นโรงพยาบาล และท่าอากาศยาน ที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการบริการสาธารณชน" นพ.ทศพร กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.มีมติขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือ 0.005 บาท/ลิตร ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค.56 จากปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ.56 ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

"ยิ่งลักษณ์"มั่นใจเอาอยู่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่กระทรวงพลังงาน เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉิน ด้านพลังงาน ช่วงเดือนเม.ย.นี้ว่า ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานที่เป็นแม่งานหลักไปหารือเรื่องการดูแลช่วยเหลือประชาชน และขณะนี้รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยราชการทั้งหมด รณรงค์เรื่องการประหยัดไฟตั้งแต่วันนี้ และคงจะนำทุกมาตรการที่มีอยู่มาใช้ส่งเสริมรณรงค์ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันรณรงค์ประหยัดไฟด้วย

ส่วนการเจรจากับประเทศพม่า เพื่อให้เลื่อนวันซ่อมท่อส่งก๊าชนั้น ได้ฝากนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงานไปแล้ว สำหรับพลังงานสำรองของไทยในช่วงพม่าซ่อมท่อส่งก๊าชนั้น ยังพอมี แต่ถ้าเราเริ่มประหยัดตั้งแต่ส่วนนี้ ก็จะสามารถมีไฟฟ้าให้กับทุกครัวเรือนได้ใช้ จึงได้ขอความร่วมมือ แต่คงไม่ถึงขนาดวิกฤตมืดทั้งหมด ถ้าช่วยกันประหยัด ก็จะสามารถช่วยเรื่องพลังงานสำรองได้ เมื่อถามว่า จะไม่เกิดเหตุช็อคไฟดับทั้งเมืองใช่ไหม นายกฯ กล่าวว่า จากการฟังรายงาน หลังจากนี้ได้ให้กระทรวงพลังงานติดตามการใช้ไฟฟ้า ทุกวัน

เจรจาพม่าเลื่อนหยุดส่งก๊าซไปช่วงสงกรานต์

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าในวันนี้ (20 ก.พ.) กระทรวงพลังงาน จะหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแนวทางการใช้พลังงานส่วนอื่นเข้ามาทดแทน เพื่อชดเชยก๊าซที่หายไปกว่า 6,000 เมกะวัตต์ ที่จะมีผลต่อการผลิตไฟฟ้าของไทยจำนวน 6 โรง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วงที่พม่าหยุดซ่อมบำรุงแหล่งยานาดา ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องหาพลังงานทดแทนนั้น อาจจะเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าดับบ้างในบางพื้นที่ และบางช่วงเวลา ในช่วงวันที่ 4-12 เม.ย. 56 เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าจะขาดหายไปจากปัจจุบันที่ผลิตได้ 32,000 เมกกะวัตต์ หรือ 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยได้เตรียมแผนรองรับไว้ ด้วยการสั่งให้โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตา เตรียมการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ทดแทน เป็นต้น

พม่ายอมเลื่อนเวลา หยุดส่งก๊าซ 30 ชั่วโมง

แหล่งข่าวจากครม.เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลไทยประสานขอความร่วมมือไปยังประเทศพม่า เพื่อขอเลื่อนการซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซที่มางพม่ากำหนดไว้วันที่4 -12เมษายนนี้ ผลสรุปทางพม่ายินดีที่จะเลื่อนวันออกไปอีก1วันกับอีก6ชั่วโมง รวมเป็น30 ชม.ซึ่งถือว่าเป็นผลดีในระดับหนึ่ง เพราะในวันที่ 4 เม.ย.ถือว่าเป็นวันที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ทางพม่าจะยอมเลื่อนวันก็ตาม แต่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ไปเจรจาขอให้หยุดทำการ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ โดยล่าสุด บริษัทปูนซีเมนได้ให้การตอบรับในการร่วมมือแล้ว และในวันพุธที่20ก.พ.นี้ เวลา12.00น.กระทรวงพลังงานจะแถลงให้ทราบว่า พื้นที่ใดบ้างที่จะต้องหยุดจ่ายไฟชั่วคราว รวมทั้งบริษัทใดบ้างที่จะให้ความร่วมมือ

รัฐบาลยึดมาตรการประหยัดพลังงานปี 55

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า นายพงษ์ศักดิ์ ได้รายงานถึงกรณีที่พม่าประสบปัญหาแท่นขุดเจาะน้ำมันทรุดตัวลง ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก จึงจำเป็นต้องหยุดซ่อมบำรุงในวันที่ 4 - 12 เม.ย.นี้ ถึงแม้ในประเทศพม่ายังมีก๊าซอย่างอื่นที่สามารถมาทดแทนได้ แต่ก็เป็นก๊าซที่คุณภาพต่ำ ฉะนั้นจึงจะต้องมีการเจรจาเพื่อขอให้พม่าเลื่อนการซ่อมบำรุงออกไปประมาณ 7 วัน ซึ่งหากไม่สามารถเจรจาให้มีการเลื่อนการซ่อมบำรุงท่อก๊าซในครั้งนี้ของพม่าออกไปได้ จะทำให้กทม.ทางฝั่งตะวันตกได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมครม.ได้ขอให้หน่วยราชการเริ่มรณรงค์ประหยัดพลังงานตามมาตรการของปี 55 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และได้มีการมอบหมายให้น.ส.ศันสนีย์ นาคพงษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 เป็นผู้รับผิดชอบในการรณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงมาตรการดังกล่าว

ข้องใจรัฐบาลสร้างเงื่อนไขขึ้นค่าไฟ

วันเดียวกันเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ สภาธรรมาภิบาล สภาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง ประมาณ 20 คน นำโดย นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ สภาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง ได้เดินทางมาหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับหนังสือไว้

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ รมว.พลังงาน ออกมาให้ข่าวเรื่องที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซให้ไทย ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และสร้างความตื่นตระหนกเสมือนว่า จะขาดแคลนก๊าซที่เป็นต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าในเดือนเม.ย. จะเป็นการเตรียมการ และสร้างเงื่อนไข เพื่อขึ้นค่าไฟฟ้ากับประชาชนอีกหรือไม่

"ความผิดพลาดอยู่ที่สัญญาระหว่างไทย (ปตท.) กับพม่า ซึ่งภาคประชาชน ต้องการให้ปตท.เปิดเผยสัญญาและคนที่จะต้องรับผิดชอบคือปตท. กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กำหนดนโยบายให้ปตท. ผูกขาด การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ รับหน้าที่ผูกขาดการซื้อขายก๊าซทั้งที่ควรยกเลิก การผูกขาดและการนำเข้าออกก๊าซธรรมชาติจากปตท. เพียงผู้เดียว ควรให้มีการซื้อขายก๊าซอย่างเสรี เพราะเวลามีปัญหาก็จะโยนภาระให้ประชาชนแบกรับ ขณะที่เวลามีกำไร ก็นำไปแบ่งเฉพาะผู้ถือหุ้น ถือว่าเอาเปรียบเบียดเบียนประชาชน อีกทั้งประเทศไทย ยังขายก๊าซธรรมชาติของไทยในอ่าวไทยให้แก่มาเลเซีย ในราคาเพียง 2.6 บาทต่อกิโลกรัม แต่จัดหาในราคาแพงโดยซื้อจากพม่าในราคา 12 บาท ซึ่งถือว่าบริหารราชการผ่านดินเสียหายไม่ชอบธรรม"

นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติครม. สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติในประเทศมีสิทธิ์ใช้ก่อน และการกำหนดราคาให้มีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ-ขายคือ บริษัทในเครือปตท. ซึ่งผลประโยชน์ได้จากทรัพยากรแผ่นดินในประเทศ แต่กลับมีภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์ ขณะที่ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระ จึงขอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติให้ภาคปิโตรเคมี ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนน้ำมันเท่ากับอุตสาหกรรมอื่น คือ 12 บาท/กก. อีกทั้งต้องจ่ายในราคาซื้อเท่าราคานำเข้า เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนของปิโตรเคมี ที่ทำกำไรให้เอกชน และปตท.

ฝ่ายค้านตั้งกระทู้เรื่องวิกฤตพลังงาน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในการประชุมสภาฯ สัปดาห์นี้ ฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถามสดไปยังรัฐบาล.เรื่องการไม่เอาใจใส่ต่อการแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้า และล่าสุดรัฐบาลเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินด้านไฟฟ้า หลังประเทศพม่าปิดการจ่ายก๊าซ เพราะต้องซ่อมท่อส่งแก๊ส รวมถึงการเจรจากับรัฐบาลพม่า เพื่อขอให้เลื่อนวันที่ปิดซ่อมท่อก๊าซ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คงต้องรอการประชุมของกระทรวงพลังงานในวันนี้ ว่าจะสรุปแนวทางการรับมือ ออกมาว่าอย่างไร แต่ว่าก็ดูเหมือนหลายฝ่ายก็ออกมาตั้งข้อสังเกตคล้ายๆ กับที่เราคุยกันว่า เอ๊ะ มันมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความตื่นตระหนก ตกใจว่า ประเทศไทยพลังงานไม่พอหรือเปล่า จนกระทั่งจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้าง อะไรบ้าง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องโรงงานไฟฟ้านั้น ก็มีปัญหามาตลอด อย่างกรณีหินกรูด บ่อนอก และยังมีโรงไฟฟ้าอีกหลายโรง แต่ก็จะเกิดขึ้นใหม่ได้ยากมาก แล้วภาพที่เกิดขึ้นวันนี้ จะทำให้มีความกดดันทำให้มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะต้องทำให้ประชาชนยอมรับได้เสียก่อน

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าในอนาคตว่า เราก็ต้องมีทางเลือกที่ชัดเจนว่า จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งสมัยรัฐบาลที่แล้วก็ได้มีกำหนดชัดเจนว่า ควรจะทำไว้ 2 แผน เพราะว่าในแผนที่ส่วนราชการต่างๆ ทำมา ส่วนใหญ่ก็พยายามจะบอกว่า ก็คือต้องมีสมมติฐานว่า มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อันนั้นก็ก่อนที่จะเกิดเหตุที่ญี่ปุ่น พอเกิดเหตุที่ญี่ปุ่นหลายฝ่ายก็เริ่มยอมรับมากขึ้นว่า มันควรจะคิดถึงทางเลือกอื่นด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เราก็มีเรื่องพลังงานทดแทน มันก็มีการพูดถึงเรื่องถ่านหินว่า ถ้าคุณภาพดี เหมือนในบางประเทศนั้นจะยอมรับกันได้หรือไม่ อย่างไร แล้วก็แก๊สเองนั้นก็มีการต้องไปซื้อ แอลเอ็นจี อะไรต่างๆ ก็มีการพูดทางเลือกต่างๆ

นัดระดมกึ๋นวันนี้ป้องไฟดับ-NGVขาด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กลาวว่า การประชุมรองรับสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานที่มีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เป็นประธานวันนี้(20 ก.พ.) จะเน้นหามาตรการรองรับวิกฤตก๊าซพม่าที่จะหายไปจากระบบ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟให้หายไป 4,100เมกะวัตต์(จากเดิม6,000เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าราชบุรีสามารถใช้น้ำมันเตาได้ทันที2โรง) เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟดับหรือหากจะดับต้องไม่เป็นวงกว้าง และที่สำคัญจะต้องไม่ให้การบริการอื่นๆ มีปัญหาโดยเฉพาะการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)

สำหรับมาตรการเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการที่จะนำมาเสนอต่อที่ประชุม ภายหลังการหารือของคณะกรรมการบริหารเชื้อเพลิงที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เช่น ให้บมจ.ปตท.บริหารจัดหา NGV โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพก๊าซฯที่อาจมีปัญหาเล็กน้อย เจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯ ในแหล่งไพลินเหนือและแหล่งปลาทอง เพื่อขอเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงออกไปจากกำหนดเดิม

การรณรงค์ประหยัดพลังงานช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯเพื่อลดความต้องการใช้ไฟสูงสุด(พีค) โดยจะจัดงานรณรงค์วันที่ 5 เม.ย. เวลา 14.00 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซักซ้อมการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าอิสระรายใหญ่หรือ IPP และ โรงไฟฟ้าของกฟผ. และ หาแนวทางในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิงเสริมให้มีความเหมาะสม

ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรคกูเลเตอร์) ประสานกับผู้ใช้ไฟฟ้าในรูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่สามารถงดจ่ายไฟฟ้าได้หรือ Interruptible Rate คาดว่าน่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 200 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กฟผ. ได้แจ้งว่ามีโรงงานของ บริษัท ไทยอาซาฮี ปูนซีเมนต์ นครหลวง 1 และ 2 และ บริษัททีพีไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาในระบบของกฟผ. ได้ทันที และสามารถช่วยภาคการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 56 เมกะวัตต์

และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปดูแลผลกระทบและภาระขดเชย หากต้องมีการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งปตท.ให้ช่วยจัดหาเอ็นจีวีมาป้อนฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะฝั่งธนบุรีไม่ให้ขาดแคลน โดยปตท.มีแผนดึงก๊าซฝั่งตะวันตกมาเสริม อย่างไรก็ตามเรื่องของคุณภาพก๊าซฯที่อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อยนั้น ปตท.ควรประชาสัมพัน์ให้กับผู้ใช้ด้วย

ซึ่งหากคุณภาพก๊าซฯมีปัญหาจริงในกรณีนี้ธพ.ก็สามารถผ่อนผันคุณภาพได้ชั่วคราว
กำลังโหลดความคิดเห็น