xs
xsm
sm
md
lg

บรรจุภัณฑ์ยาสูบ : คลื่นปัญหาใหญ่ที่กำลังรอประเทศไทยอยู่?

เผยแพร่:   โดย: ดร.กิตติพงษ์ แจ้งกมลกุลชัย

โดย...ดร.กิตติพงษ์ แจ้งกมลกุลชัย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการถกเถียงกันมากในหลายประเทศในเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับซองบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมุ่งไปที่กฎระเบียบที่กำหนดให้มีการใช้ภาพคำเตือนสุขภาพที่มีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ หรือการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ (Plain Packaging) ซึ่งเป็นการห้ามใช้เครื่องหมายการค้า โทนสี ภาพกราฟิกและโลโกบนซองบุหรี่อย่างสิ้นเชิง

เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่บังคับใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ แม้จะได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางจากองค์การด้านสุขภาพทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย แต่กฎหมายดังกล่าวได้สร้างปัญหาอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ออสเตรเลียเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศในองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งขณะนี้ออสเตรเลียกำลังโดนฟ้องร้องจากหลายประเทศที่เป็นสมาชิก WTO เกี่ยวกับกฎหมายซองบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบดังกล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขของประเทศนิวซีแลนด์ได้ประกาศความตั้งใจในการนำมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบมาใช้ และกล่าวว่าจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวประมาณปีหน้า อย่างไรก็ดี นิวซีแลนด์ได้รับทราบถึงปัญหาการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากกฎหมายซองบรรจุภัณฑ์นี้ นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์จึงออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่าจะนำกฎหมายบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ ก็ต่อเมื่อข้อพิพาททางการค้าของออสเตรเลียได้รับการตัดสินเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

ในประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้ประกาศว่ากำลังพิจารณากฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนสุขภาพครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 85 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของซองบุหรี่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเหลือพื้นที่เพียงร้อยละ 15 ช่วงด้านล่างของซองในการแสดงเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งพื้นที่เพียงน้อยนิดนี้ยังต้องใช้ในการสื่อสารถึงแหล่งผลิตและคำอนุญาตในการขายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มจะนำไปสู่การตรวจสอบในประเด็นการค้าระหว่างประเทศและทรัพย์สินทางปัญญาเช่นเดียวกับมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ เนื่องจากเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้ รวมถึงใช้องค์ประกอบของตราสินค้าตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนเครื่องหมายเหล่านี้

ดังนั้น หากเราพักข้อถกเถียงที่ว่าภาพคำเตือนสุขภาพจะช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้หรือไม่ (ซึ่งมีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล) และมุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์ในกรุงเจนีวาอันเป็นที่ตั้งของ WTO และข้อบังคับด้านการค้าที่จะปะทุขึ้นจากนโยบายนี้ในประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยอาจกำลังทำให้ประเทศตกอยู่ท่ามกลางปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากกฎหมายบรรจุภัณฑ์ยาสูบใหม่นี้ได้

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก WTO รัฐบาลย่อมมีภาระผูกพันและหน้าที่อันพึงปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงเรื่องมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าขององค์การการค้าโลก (TBT - Technical Barriers to Trade) ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงการแจ้งให้สมาชิก WTO ประเทศอื่นๆ รับทราบเกี่ยวกับกฎระเบียบของซองบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคทางการค้าที่ได้มีการเสนอใช้ในประเทศ เนื่องจากเป็นการประกาศใช้บทบัญญัติเทคนิคใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นกับรูปแบบมาตรฐานระหว่างประเทศ และเป็นบทบัญญัติที่อาจเป็นการละเมิดทางการค้า

เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่า ก่อนที่จะมีการใช้กฎระเบียบด้านเทคนิคใดๆ ภายใต้ข้อ 2.9 ของความตกลงมาตรการ TBT ประเทศไทยจะต้องแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวต่อ WTO และให้เวลาที่เหมาะสมต่อประเทศสมาชิกในการสอบถาม ให้ความเห็น และพูดคุยในเรื่องกฎระเบียบที่นำเสนอ ทั้งนี้เพื่อให้ความเห็นจากประเทศสมาชิก WTO ได้รับการพิจารณาเพื่อให้แน่ใจว่ากฎระเบียบนั้นจะไม่เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการค้าก่อนที่จะมีการนำกฎหมายนั้นมาใช้จริง

ออสเตรเลียได้ปฏิบัติตามข้อบังคับเหล่านี้ในการแจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ของตนให้ WTO ทราบ โดยประเทศสมาชิก อาทิ ยูเครน ฮอนดูรัส และสาธารณโดมินิกัน เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้ามากพอที่จะเปิดเป็นข้อพิพาทได้ สำหรับประเทศไทย เมื่อ 2-3 ปีก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอภาพคำเตือนสุขภาพบนบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รัฐบาลไทยเองก็ได้แจ้งกฎระเบียบดังกล่าวให้แก่ WTO ซึ่งมีหลายประเทศสมาชิก อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ได้เริ่มตั้งคำถามต่อข้อเสนอดังกล่าว ท้ายที่สุดส่งผลให้นโยบายนี้ได้หยุดชะงักลง

ยิ่งไปกว่านั้น ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) ได้มีข้อบังคับในลักษณะเช่นเดียวกับความตกลง TBT ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผู้นำเข้าบุหรี่ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์ของตนจากหลายๆ ประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ประเทศเหล่านี้อาจมีข้อกังวลด้านการค้าต่อกฎหมายบรรจุภัณฑ์ใหม่ของประเทศไทยเช่นดียวกัน

แนวทางเหล่านี้คือการดำเนินการด้านการค้าระหว่างประเทศในแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกฎหมายบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบต่างๆ และข้อกำหนดของการค้าระหว่างประเทศแล้ว รัฐบาลไทยควรจะต้องดูให้แน่ใจว่ากฎระเบียบเรื่องภาพคำเตือนสุขภาพนั้นสอดคล้องกับภาระผูกพันทางการค้าของประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นในระดับอาเซียนหรือ WTO รวมถึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้พูดคุยกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวคิดด้านบรรจุภัณฑ์ซองบุหรี่ใหม่นี้ โดยได้กล่าวว่ากฎหมายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้า แต่อย่างที่เราได้เห็นจากตัวอย่างทั้งในอดีตและปัจจุบัน บ่อยครั้งมากที่เราจะเห็นว่าประเทศหนึ่งๆ มักจะมีมุมมองที่ค่อนข้างแปลกในการตัดสินใจและประเมินว่าสิ่งใดจะสร้างความกังวลหรือไม่สร้างความกังวลให้แก่พวกเขา เมื่อใดก็ตามที่มีประเด็นการค้าระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น เป็นสิ่งที่ควรจะตั้งคำถามว่าได้มีการพิจารณาถึงภาระผูกพันด้านการค้าของประเทศก่อนมีการออกนโยบายใดๆ หรือไม่ และท่านรัฐมนตรีประดิษฐได้มีการพูดคุยในประเด็นข้อบังคับเหล่านี้กับท่านบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ซึ่งดูแลและควบคุมหน่วยงานทางด้านการค้าแล้วหรือยัง ผมเกรงว่าคำตอบต่อคำถามเหล่านี้คือ “ไม่” และประเทศไทยอาจจะกำลังสร้างปัญหาให้ตัวเองและอาจจะต้องเผชิญปัญหากับประเทศคู่ค้าของเราได้
กำลังโหลดความคิดเห็น