xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาผ่านกรอบเจรจาเอฟทีเอ “ไทย-อียู” ส.ว.-ฝ่ายค้านหวั่นไทยเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ผ่านกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ยุโรป ด้วยเสียง 347 เสียง แม้ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว.หลายเสียงกังวลหวั่นไทยเสียเปรียบ อีกทั้งรายละเอียดไม่ครบ ก่อนหน้านี้ผ่านร่างความตกลงรัฐบาลไทยกับไซเตรส กับการประชุมครั้งที่ 16 และข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าระหว่างไทย-ยุโรป

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ โดยสาระสำคัญของการจัดทำกรอบเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันต่อประเทศที่มีเอฟทีเอกับยุโรป อาจทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้รวมถึงการย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นที่มีเอฟทีเอกับยุโรป นอกจากนี้ การทำเอฟทีเอยังทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของสหภาพยุโรปในประเทศอาเซียน รวมทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพี ที่คาดว่าไทยจะถูกตัดสิทธิทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในแข่งขันได้

จากนั้นเปิดให้สมาชิกรัฐสภา แสดงความคิดเห็น โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเห็นว่า กรอบการเจรจาเอฟทีเอ ครั้งนี้มีความไม่สมบูรณ์ สาเหตุที่ทำให้ต้องเจรจากรอบเอฟทีเอ เนื่องจากเราจะถูกตัดสิทธิ์ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ดังนั้นจึงต้องนำการเจรจาเอฟทีเอมาชดเชย อย่างไรก็ตามการเจรจาเอฟทีเอกับอียู จะส่งผลกระทบต่อ สิทธิบัตรยาจากเดิมที่ยามีสิทธิบัตรประมาณ 20 ปี อาจจะทำให้ต้องขยายสิทธิบัตรออกไปอีก 7-8 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้คนไทยต้องจ่ายเงินค่ายาแพงขึ้น แทนที่จะได้ค่ายาถูกลงหลังจากยาบางตัวหมดสิทธิบัตร เช่น ยาละลายลิ่มเลือดที่ขายเม็ดละ 140 บาท หลังหมดสิทธิบัตรจะลดเหลือเม็ดละ 2 บาท ส่วนที่ระบุว่าไทยจะเสียเปรียบหากไม่ทำเอฟทีเอ โดยระบุว่ามูลค่าการส่งออก 2.97 แสนล้านบาท แต่ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าที่เสียไปหลังถูกตัดสิทธิจีเอสพี อยู่ที่ 79,420 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา “สอดคล้อง” กับการคุ้มครอง ตามความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย แต่ควรเปลี่ยนเป็นคำว่า “ไม่เกินไปกว่า” เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างสูงสุด

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การทำเอฟทีเอ น่าจะเป็นการเปิดเสรีกับเขา แต่เราบรรลัย เพราะจะทำให้เหล้า บุหรี่ หรือสินค้าเลวทั้งหลายถูกลง ซึ่งคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนที่ไปรับฟังความคิดเห็นมาแล้วกว่า 60 ครั้งทั่วประเทศทุกเวทีเสนอตรงกันว่า ให้ตัดเหล้า บุหรี่ ออกจากบัญชีสินค้าที่จะไปเจรจา เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าทั้งเหล้า บุหรี่เป็นอันตรายต่อประชาชน มีการเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคน หากไม่ตัดออกจะทำให้ราคาเหล้าและบุหรี่ ถูกลง ทำให้การเข้าถึงได้ง่ายและทำให้การรณรงค์ที่ผ่านมาต้องเสียเปล่า

ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่นำมาเสนอเพราะมีรายละเอียดไม่ครบ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการทำเอฟทีเอ ที่จะต้องมีผลผูกพัน กับการลงนามข้อตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนและความร่วมมืออย่างรอบด้าน (พีซีเอ) แต่กลับไม่มีเรื่องนี้บรรจุอยู่ในรายงานที่นำเสนอ ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นจะให้ ให้ความเห็นชอบได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่จะมีผลต่อการเจรจาเอฟทีเอ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ การจำกัดอาวุธทำลายล้างสูง รัฐบาลต้องระบุให้ชัดว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร อีกทั้งยังไม่มีการนำเสนอข้อมูล ผลการศึกษาเบื้องต้นซึ่งทราบว่ามีการทำเสร็จแล้ว แต่กลับไม่นำเสนอ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเรื่องของความบกพร่องหรือต้องการปกปิด ดังนั้นจึงอยากให้ถอนเรื่องนี้ไปก่อน แล้วเตรียมมาให้พร้อมแล้วค่อยเสนอเข้ามาใหม่

หลังการอภิปรายกว่า 3 ชม. นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า เป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องอยู่ในวงการค้าในลักษณะอย่างนี้ต่อไป จึงต้องมีการเจรจากรอบการค้า ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ซึ่งข้อสังเกตต่างๆ จะนำส่งให้กับหัวหน้าคณะผู้เจรจา เพื่อไปทำการยกร่างและนำเข้าสู่รัฐสภาอีกครั้ง เพื่อให้พิจารณาก่อนนำไปลงนามต่อไป ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยเสียง 347 เสียง จากนั้นประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 18.40 น. พร้อมกับนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 5 ก.พ.เวลา 09.30 น.

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้มีมติเห็นชอบเรื่องที่ ครม.เสนออีก 2 เรื่อ งคือ 1.ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เกี่ยวกับการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ครั้งที่ 16 และการประชุมคณะกรรมาธิการบริหาร ครั้งที่ 63 และ64 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย วันที่ 2-14 มี.ค.2556 และ 2.กรอบการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)


กำลังโหลดความคิดเห็น