ประธานวิปค้านเผยชงญัตติจี้รัฐแถลงผลงานเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาพรุ่งนี้ แนะนายกฯ แสดงจุดยืนให้ชัดต่อ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม หวั่นขัด ม.184 ชี้ชิมลางปล่อยผีคนโกงหรือไม่
วันนี้ (28 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงหลังการประชุมว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติให้รัฐบาลแถลงผลการดำเนินการครบรอบ 1 ปีต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 เนื่องจากรัฐบาลต้องแถลงตั้งแต่สมัยการประชุมสามัญทั่วไปที่ผ่านมา แต่รัฐบาลกลับยื่นญัตติช้าทำให้แถลงไม่ทัน และเมื่อถึงสมัยการประชุมสมัยนิติบัญญัติไม่สามารถแถลงในที่ประชุมได้ ยกเว้นรัฐสภาหรือที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่อนุญาตให้พิจารณาได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 วรรค 4 ฝ่ายค้านจึงยื่นญัตติให้แถลงในการประชุมร่วมรัฐสภาแทนในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) แต่ขณะนี้สมาชิกรัฐสภาก็ยังไม่มีผู้ใดเห็นเอกสารผลการดำเนินงานของรัฐบาลครบ 1 ปี ซึ่งการประชุมในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) ตนและคณะจะขอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภานำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา เพื่อต้องการทราบว่า 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้มีผลงานและอุปสรรคการดำเนินงานอะไรบ้าง
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) ที่มีวาระสำคัญและต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล คือ เรื่องกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 17 ประเด็น แต่วิปฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตและห่วงใย 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. กรอบเจรจาด้านการค้า 2. ด้านการลงทุน และ 3. ทรัพย์สินทางปัญญา มีเรื่องเกี่ยวข้องที่น่าเป็นห่วงเรื่องแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยา โดยเฉพาะเหล้ากับบุหรี่ที่ไม่มีการระบุว่าจะนำเหล้ากับบุหรี่ออกจากกรอบการเจรจา จึงต้องการคำตอบจากรัฐบาลว่ามีเรื่องนี้หรือไม่ เพราะอาจจะนำไปสู่การเกิดผลกระทบที่เกี่ยวพันกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ เช่น กรณีบุหรี่ ที่เรามีรูปแบบคำเตือนบนซอง ซึ่งถ้ามีข้อตกลงไปในทางใดทางหนึ่งจะมีผลกระทบต่อไปนี้บุหรี่ที่นำเข้ามาในประเทศไม่จำเป็นต้องทำตามกฎระเบียบนี้หรือไม่ และถ้าข้อตกลงเกินเลยถึงลักษณะที่ปรากฏในการทำเอฟทีเอ (การค้าเสรี) กับบางประเทศ ก็อาจจะถูกบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาตินำไปห้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้
ส่วนเรื่องยาที่มีความเป็นห่วง คือ กรอบเจรจาที่เป็นเอกสารระบุเพียงว่า ต้องการเจรจาให้สอดคล้องข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เรื่องนี้รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจนด้วย เพราะผู้ใช้ยาที่เป็นคนไทย อาจจะนำไปสู่การขยายอายุสิทธิบัตรเกินกว่าที่กฎหมายปัจจุบันใช้อยู่ก็ได้ เช่น ปัจจุบันใช้อยู่ 20 ปี อาจจะขยายเพิ่มอีก 5 ปี และอาจจะมีการกีดกันการขึ้นทะเบียนยา หรือขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาชนิดเดียวกัน แม้หมดอายุสิทธิบัตรแล้วก็ยังกีดกัดอยู่ใช่หรือไม่ รัฐบาลก็ต้องตอบเรื่องนี้เพื่อป้องกันการผูกขาดยาและซื้อยาแพงเกินกว่าคนยายจกจนจะซื้อยาได้
ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงกรณีที่แกนนำ นปช.จะยื่น ร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) ว่า การออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม นายกรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องประกาศจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ที่บัญญัติว่าการออก พ.ร.ก.จะต้องจำเป็น เร่งด่วนและฉุกเฉินหรือไม่ และหาก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวผ่านไปได้แล้วก็จะถือเป็นการชิมลางหรือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำการทุจริตในโอกาสต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้ หากแกนนำ นปช.นำเรื่องนี้ไปหารือกับนายกฯ จริงก็ต้องมีคำตอบให้ชัดเจน ส่วนการดำเนินการของฝ่ายค้านนั้น ตนคิดว่ายังไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ส่วนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือนั้นก็ยังไม่จำเป็นต้องตอบคำตอบในตอนนี้