xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯห่วงกรอบค้าอียูทำยาแพง วิปค้าน หวั่น 3 ประเด็นถกเอฟทีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(28ม.ค.56)ในการประชุมวุฒิสภานายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา กล่าวหารือก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 29 ม.ค. จะมีการเลื่อนวาระการพิจารณาร่างกรอบเจรจาการตกลงการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนที่ 3 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคม จึงอาจมีการเร่งรัดเรื่องดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเท่าที่ทราบกรอบการเจรจาดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้ครม. ก่อนที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการเร่งรีบ ซึ่งจะกระทบต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ควรจะพิจารณาปรับปรุงเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยา ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบการเจราจาจะมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนหลายล้านราย นอกจากนี้ เกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดให้ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือก ซึ่งเรื่องนี้ต่อไปจะทำให้ประเทศไทยถูกกองทุนต่างชาติที่มาลงทุนใช้กลไกดังกล่าวเรียกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายสาธารณะบางประการซึ่งมีปัญหา เพราะไปขัดกับกรอบข้อตกลงเอฟทีเอ ที่ตกลงกันไว้
นอกจากนี้ ในส่วนของ แอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่ทางสหภาพยุโรปมีความประสงค์ จะลดภาษีให้เหลือ 90 % ภายใน 7 ปี จะทำให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาขายเพิ่มเติมมากขึ้น จะเป็นการทำลายสุขภาพประชาชน จึงฝากไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเองเห็นด้วยที่จะมีการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปแต่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ต้องการให้กรอบเจรจาเป็นประโยชน์เฉพาะเอกชนบางราย แต่ส่งผลเสียหายต่อประชาชนหลายล้านคน จึงขอให้ได้มีการปรับปรุงกรอบเจรจาในการประชุมร่วมรัฐสภาในครั้งนี้ด้วย
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 29ม.ค.นี้ ที่มีวาระสำคัญ เรื่องกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 17ประเด็น โดยวิปฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตและห่วงใยในเรื่องแอลกอฮอล์ บุหรี่ ซึ่งไม่มีการระบุว่าจะนำเหล้ากับบุหรี่ออกจากกรอบการเจรจา จึงต้องการคำตอบจากรัฐบาลว่ามีเรื่องนี้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะเรื่องดังกล่าวอาจนำไปสู่ผลกระทบที่เกี่ยวพันกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ เช่นกรณีบุหรี่ ที่ไทยมีรูปแบบคำเตือนบนซอง ซึ่งถ้ามีข้อตกลงไปในทางใดทางหนึ่ง จะมีผลกระทบต่อบุหรี่ที่นำเข้ามาในประเทศไม่จำเป็นต้องทำตามกฎระเบียบนี้หรือไม่ และถ้าข้อตกลงเกินเลยถึงลักษณะที่ปรากฏในการทำเอฟทีเอกับบางประเทศ ก็อาจจะถูกบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาตินำไปร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้
"ยังมีความเป็นห่วงในกรอบการเจรจาเรื่องยา ซึ่งเป็นเอกสารระบุเพียงว่าต้องการเจรจาให้สอดคล้องกับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เรื่องนี้รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจนด้วย เพราะผู้ใช้ยาที่เป็นคนไทย อาจจะนำไปสู่การขยายอายุสิทธิบัตรเกินกว่าที่กฎหมายปัจจุบันใช้อยู่ก็ได้ เช่น ปัจจุบันใช้อยู่ 20 ปี อาจจะขยายเพิ่มอีก 5 ปี และอาจจะมีการกีดกันการขึ้นทะเบียนยา หรือขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาชนิดเดียวกัน แม้หมดอายุสิทธิบัตรแล้วก็ยังกีดกัดอยู่ใช่หรือไม่ รัฐบาลต้องตอบเรื่องนี้เพื่อป้องกันการผูกขาดยาและซื้อยาแพงเกินกว่าคนยากจนจะซื้อยาได้"นายจุรินทร์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น