xs
xsm
sm
md
lg

วาระซ่อนเร้น วาระเร่งด่วน เร่ง FTA ไทย-อียู เร่งทำลายประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การดึงดันเร่งรีบเลื่อนวาระพิจารณากรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างผิดปกติ ถูกจับตามองว่ามีวาระซ่อนเร้นในยุคที่ “สภาสั่งได้” เตือนส่งผลกระทบรุนแรงในเรื่องยาและเวชภัณฑ์เสียหายไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้าน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ล้นทะลัก เปิดช่องกองทุนต่างชาติใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐอ่วมแน่

การเร่งรีบพิจารณาร่างกรอบเจรจาการตกลงการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เป็นประเด็นที่กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนติดตามท้วงติงรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาโดยตลอด นับจากกระทรวงพาณิชย์ไม่เปิดเผยร่างกรอบพิจารณาต่อสาธารณะ ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 กระทั่งรัฐบาลจำต้องเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างขอไปที และเร่งรีบกระบวนการพิจารณา โดยคาดว่าจะให้เสร็จทันก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคม 2556 นี้

ล่าสุดในการประชุมรัฐสภาในวันที่ 29 มกราคมนี้ จะมีการเลื่อนวาระการพิจารณาร่างกรอบเจรจาฯ ขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ 3 จากเดิมที่เป็นวาระพิจารณาในเรื่องที่ 24

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวหารือก่อนเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556 ว่า ​การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 29 มกราคมนี้จะมีการเลื่อนวาระการพิจารณาร่างกรอบเจรจาการตกลงการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนที่ 3 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคม จึงอาจมีการเร่งรัดเรื่องดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา ​​ซึ่งเท่าที่ทราบกรอบการเจรจาดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์เสนอให้​ครม.​ ก่อนที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการเร่งรีบ ซึ่งจะกระทบต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม ​ควรจะพิจารณาปรับปรุง​เรื่อง​ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยา ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบการเจราจาจะมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนหลายล้านราย ​นอกจากนี้ ​เกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดให้ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน โดยใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือก ซึ่งเรื่องนี้ต่อไปจะทำให้ประเทศไทยถูกกองทุนต่างชาติที่มาลงทุนใช้กลไกดังกล่าวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายสาธารณะบางประการซึ่งมีปัญหา เพราะไปขัดกับกรอบข้อตกลงเอฟทีเอที่ตกลงกันไว้ 

นอกจากนี้ ​ ในส่วนของแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ทางสหภาพยุโรปมีความประสงค์ จะลดภาษีให้เหลือ 90% ภายใน 7 ปี จะทำให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาขายเพิ่มเติมมากขึ้นจะเป็นการทำลายสุขภาพประชาชน ​จึงฝากไปยังนายกรัฐมนตรี ​ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะมีการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แต่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ต้องการให้กรอบเจรจาเป็นประโยชน์เฉพาะเอกชนบางรายแต่ส่งผลเสียหายต่อประชาชนหลายล้านคน จึงขอให้ได้มีการปรับปรุงกรอบเจรจาในการประชุมร่วมรัฐสภาในครั้งนี้ด้วย
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
***ภาคประชาชนตั้งข้อสงสัยมีวาระซ่อนเร้น

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะมีวาระซ่อนเร้นจึงต้องรีบกระทำการอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็มีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2555 โดยที่ไม่มีการเผยแพร่ร่างกรอบเจรจา และไม่มีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน และเพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา จะประมวลผล หรือนำกรอบดังกล่าวให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยไม่มีเวลาได้ศึกษาล่วงหน้าได้อย่างไร

“ภาคประชาชนไม่มีเจตนาคัดค้านการเจรจาการค้าเสรี แต่การเจรจาต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลต้องทำด้วยความรอบคอบ มีข้อมูล ฟังความเห็น ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจ ไม่ใช่รีบทำให้เสร็จเพื่อเอาใจนักลงทุน แต่ละเลยชีวิตประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว

ภาคประชาชนขอวิงวอนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้อย่าเพิ่งรีบเร่งลงมติเห็นชอบกรอบเจรจาดังกล่าว เพื่อให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยเสนอขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีมติให้คณะรัฐมนตรีกลับไปพิจารณาร่างกรอบใหม่ โดยปรับให้สอดคล้องกับข้อเสนอที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลที่สุด ได้แก่ประเด็น 1. ทรัพย์สินทางปัญญา 2. สินค้าแอลกอฮอล์และยาสูบ และ 3. การลงทุน

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ วอตช์ กล่าวว่า ข้อกังวลที่ภาคประชาสังคมมีข้อห่วงกังวลสูงที่สุด มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐอย่างรุนแรง ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย และกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด จะมีผลเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ทางด้านผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ และการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรแพงมากขึ้นอีก 3-4 เท่าตัว ทำให้ผู้บริโภคต้องบริโภคอาหารที่แพงขึ้น

“ประเด็นใหญ่ที่สองคือการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอันตรายเข้าไปอยู่ในกรอบเจรจา จะทำให้คนบริโภคได้ง่ายและมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศโดยตรง

และสุดท้ายคือประเด็นการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งมีค่าเท่ากับไทยเสียเอกสิทธิ์แห่งรัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องค่าเสียหาย แม้รัฐจะมีนโยบายที่คุ้มครองคนในประเทศก็ตาม” กรรณิการ์กล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเครือข่ายประเทศโลกที่ 3 (Third World Network-TWN) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อปี 2527 มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขมาตลอด มีจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีฯ โดยมีข้อความเตือนว่าอย่ายอมรับเงื่อนไขใดๆ ที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือทริปส์พลัส ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขไทย และความสามารถในการดูแลให้ประชากรไทยเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม ส่งผลทำให้ยาราคาแพงขึ้น และแพงยาวนานขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลความเสียหายจากการเจรจาซึ่งหลายประเทศต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลจากบทว่าด้วยการค้าการลงทุน 

***เตือนภัยหายนะใหญ่หลวง

เนื้อหาในจดหมายที่องค์กรเครือข่ายประเทศโลกที่ 3 แสดงความกังวลถึงผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อการพัฒนาและสังคม ทั้งนี้มาจากการวิเคราะห์อย่างรอบคอบถึงประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่ได้จัดทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปแล้ว จึงขอเตือน ฯพณฯ ด้วยความเคารพ ว่าอย่ายอมรับเงื่อนไขใดๆ ที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก และยังขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ปฏิเสธที่จะยอมรับกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement -ISDS) ซึ่งรวมอยู่ในบทการคุ้มครองการลงทุนของความตกลงทวิภาคี ดังมีเหตุผลในต่อไปนี้

1. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปส์พลัส)

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปส์พลัส) จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตการเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งด้านการศึกษา อีกทั้งยังทำให้เทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมีราคาแพง อย่างไรก็ตามในจดหมายนี้เราจะขอเน้นที่ผลกระทบต่อราคายา

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับยา 3 กลุ่มซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้ถึงปีละ 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารโลกเคยประมาณการไว้ว่า หากไทยประกาศบังคับใช้สิทธิจะทำให้สามารถลดราคายาต้านไวรัสเอชไอวี สูตรสำรองที่ใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้มากถึงร้อยละ 90 และรัฐบาลไทยจะสามารถลดภาระงบประมาณแผ่นดินได้มากถึง 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่สหภาพยุโรปได้เคยเสนอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องปฏิบัติตาม (ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเสนอให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม) โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) จะกีดขวางประสิทธิภาพของการประกาศบังคับใช้สิทธิได้

ข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือทริปส์พลัสนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขไทย และความสามารถในการดูแลให้ประชากรไทยเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม ส่งผลทำให้ยาราคาแพงขึ้น และแพงยาวนานขึ้น ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ตั้งอยู่บนข้อเรียกร้องว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่สหภาพยุโรปเคยยื่นในการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-สหภาพยุโรป 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบ ดังนี้ 

สหภาพยุโรปต้องการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้มากไปกว่า 20 ปีที่คุ้มครองอยู่ตามข้อตกลงในองค์การการค้าโลกเป็น 25 ปี โดยพยายามกีดกันผู้ผลิตยาชื่อสามัญ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทยาต้นแบบไม่ให้เข้าสู่ตลาดยาวนานออกไปอีก ยาต้นแบบนั้นมีราคาแพงกว่ายาชื่อสามัญมาก ตัวอย่างเช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวีต้นแบบมีราคา 15,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี แต่ราคายาชื่อสามัญเพียงแค่ 67 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้น อายุสิทธิบัตรที่ยาวออกไปจึงหมายถึงการที่ประเทศไทยต้องจ่ายค่ายาสิทธิบัตรแพงขึ้น ยาวนานยิ่งขึ้น

การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity-DE) การผูกขาดข้อมูลทางยาจะกีดขวางไม่ให้เข้าถึงข้อมูลการทดลองด้านความปลอดภัย และประสิทธิผลของยาที่มีมาตลอดหลายปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญใช้ข้อมูลดังกล่าวในการขอขึ้นทะเบียนยาวนานสูงสุดอาจถึง 11 ปี ทั้งๆ ที่ยาเหล่านั้นไม่มีสิทธิบัตรแล้ว นี่จะเป็นการผูกขาดชนิดใหม่นอกเหนือจากสิทธิบัตร และยังกีดขวางการประกาศใช้สิทธิในช่วงเวลาของการผู้ขาดข้อมูลยา

มาตรการชายแดน (Border Measure) มีแนวโน้มสูงที่สหภาพยุโรปจะสั่งให้ประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอจับยึดยาชื่อสามัญที่นำเข้า ส่งออก หรืออยู่ระหว่างการขนส่ง ด้วยข้อหาว่าต้องสงสัยละเมิดสิทธิบัตร มาตรการดังกล่าวทำให้การขนส่งยาชื่อสามัญถูกกฎหมายถูกจับยึด ทำลาย หรือถูกส่งกลับประเทศต้นทาง (เกิดขึ้นจริงหลายครั้งแล้ว) ทำให้ยารักษาโรคที่ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวไปไม่ถึงประเทศปลายทาง

หลายครั้งที่สภายุโรปได้ออกมติซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ คัดค้านการบังคับทริปส์พลัสที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในเอฟทีเอ ที่สหภาพยุโรปไปเจรจากับประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 สภายุโรปได้ออกข้อมติ มีความว่า

“เชื่อมั่นว่านโยบายของสหภาพยุโรปควรมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ยาในประเทศกำลังพัฒนาด้วยราคาที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด;

“8. ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสนับนุนประเทศกำลังพัฒนาใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์และยอมรับปฏิญญาโดฮาเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถจัดหายาจำเป็นในราคาที่เหมาะสมภายใต้โครงการสาธารณสุของประเทศได้

9. ให้กำลังใจประเทศกำลังพัฒนาใช้ทุกวิถีทางที่มีภายใต้ความตกลงทริปส์ เช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิ และกลไกที่มีอยู่ในข้อบทที่ 30 ของความตกลง

“11. เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปปฏิบัติตามปฏิญญาโดฮาและจำกัดบทบาทของคณะกรรมาธิการ พร้อมทั้งไม่ให้ไปเจรจาเนื้อหาที่เกินไปกว่าทริปส์อันจะส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขและการเข้าถึงยา เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา, การขยายอายุสิทธิบัตร และการจำกัดเหตุผลในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศในทวีปแอฟริกาและหมู่เกาะแคริบเบียน รวมทั้งความตกลงระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคกับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ;”

ปี 2551 สภายุโรปได้ออกข้อมติอีกครั้งเกี่ยวกับเอฟทีเอ อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ระบุว่า “รับรู้ว่าความตกลงนี้จะสร้างกลไกด้านกฎหมาย และอุปสรรคในทางปฏิบัติต่อการใช้มาตรการยืดหยุ่นในปฏิญญาโดฮา ว่าด้วยทริปส์และการเข้าถึงยา จึงขอให้คณะกรรมาธิการซึ่งรับผิดชอบการเจรจาเคารพข้อมติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2550 ในหัวข้อ; ..ย้ำเตือนคำมั่นสัญญาของสหภาพยุโรปที่สนับสนุนปฏิญญาโดฮาและการใช้มาตรการยืดหยุ่นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุข และการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการไม่กระทำการใดๆ ที่จะบ่อนทำลายความพยายามของประเทศไทยในการรับรองให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงยาถ้วนหน้า” 

นอกจากนี้ องค์กรภายใต้สหประชาชาติเคยได้แสดงความกังวลต่อข้อเรียกร้อง ทริปส์พลัส โดยผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติในสิทธิด้านสุขภาพได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรยอมรับมาตรการที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปส์พลัส) ในกฎหมายภายในประเทศ และประเทศพัฒนาแล้วไม่ควรสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องรับทริปส์พลัสในการเจรจาเอฟทีเอ แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะด้านบนเอาไว้ แต่คณะกรรมาธิการยุโรปก็ยังคงยืนยันที่จะเรียกร้องให้ไทยต้องยอมรับทริปส์พลัส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นในราคาที่เหมาะสมของไทย
 
ด้วยความเคารพ เราขอเตือน ฯพณฯ ว่าอย่าไปตกลงเนื้อหาที่เป็นทริปส์พลัสในเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

2. บทว่าด้วยการลงทุน

บทว่าด้วยการลงทุนในเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement - ISDS) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากในขณะนี้ กลไก ISDS เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐบาลอย่างไม่จำกัดวงเงินค่าเสียหาย และขอบเขตผลประโยชน์ผ่านระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสำหรับการออกกฎหมาย แก้กฎหมาย ระเบียบ นโยบาย และแผนงานต่างๆ รวมไปถึงเรื่องสาธารณสุข, กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่นักลงทุนจะเห็นว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นไปกระทบการลงทุนหรือผลกำไรของพวกเขากรณีต่างๆ
 
ตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนที่ว่าได้ท้าทายมาตรการที่เป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุข เช่น การห้ามใช้สารเคมีอันตราย, ป้องกันการปนเปื้อนขยะสารพิษในแม่น้ำลำคลอง ล่าสุดบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรใช้กลไกที่ว่านี้ฟ้องรัฐบาลแคนาดาที่ถอนสิทธิบัตร แม้ว่าศาลแคนาดาจะยืนยันว่ารัฐบาลทำถูกกฎหมาย 8 บริษัทบุหรี่ใช้กลไกนี้ฟ้องรัฐบาลหลายประเทศ เป็นเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โทษฐานที่ออกมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบ

***กรณีตัวอย่าง ยักษ์ใหญ่ยาสูบฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ บริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ ฟิลลิป มอร์ริส ฟ้องรัฐบาลอุรุกวัยผ่าอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากรัฐบาลอุรุกวัยออกมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบ และฟิลลิป มอร์ริส ก็ได้ฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียที่ออกกฎหมายบังคับให้ซองบุหรี่ใช้สีเดียวกัน มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบถูกมองว่าละเมิดการปฏิบัติที่เป็นธรรมหรือเท่ากับการยึดทรัพย์นักลงทุน ดังนั้นประเทศต้องไปอยู่ใต้อาณัติของคณะอนุญาโตตุลาการ มาตรการต่างๆ ที่เสี่ยงจะถูกนำไปฟ้องร้อง เช่น กฎที่เกี่ยวกับระดับสารนิโคติน, การควบคุมสารปรุงแต่งรสชาติ, การลดช่องทางจำหน่าย, การลดจำนวนขายต่อสถานที่ขายในแต่ละปี, ไม่ให้บุหรี่จำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี, การออกแบบซองบุหรี่สีเดียว, การห้ามคำที่ชวนเข้าใจผิด (เช่น light, low-tar และ mind), การขยายคำเตือนบนซองบุหรี่, การลดการนำเข้าบุหรี่ ซึ่งมาตรการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องในลักษณะเดียวกัน

ประเทศไทยแพ้คดีเช่นที่ว่านี้ไปแล้วอย่างน้อย 1 คดีจนต้องจ่ายค่าชดเชยให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเงิน 29 ล้านเหรียญสหรัฐ (บวกดอกเบี้ย) และเสียค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายอีกประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลเอกวาดอว์ต้องจ่ายค่าชดเชยคดีเดียว 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐให้นักลงทุนต่างชาติที่ทำผิดกฎหมาย ดังนั้น บทว่าด้วยการลงทุนนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออธิปไตย ประชาธิปไตยของประเทศไทย รวมถึงความสามารถของรัฐบาลไทยในการออก และปฏิบัติตามนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ และโครงการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขภาพของประชากร รัฐบาลหลายประเทศ ตั้งแต่ ออสเตรเลีย, แอฟริกาใต้, บราซิล และหลายประเทศในละตินอเมริกา ปฏิเสธที่จะรับข้อบทที่ว่า เช่นเดียวกับอินเดียที่ประกาศเว้นวรรคจนกว่าจะมีการทบทวนผลกระทบที่ผ่านมาต่อประโยชน์สาธารณะ

“ด้วยความเคารพ เราขอเตือน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้คัดค้านและปฏิเสธข้อเรียกร้องใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสาธารณสุข, การเข้าถึงยา และพื้นที่การออกและใช้นโยบายและกฎหมาย
เพื่อประโยชน์สาธารณะ” ชี ยก หลิ่ง (Chee Yoke Ling) ผู้อำนวยการ
กำลังโหลดความคิดเห็น