ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ก่อนที่ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะออกมาในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ผลการสำรวจความนิยมในตัวผู้สมัครชิงเก้าอี้ตัวนี้ ค่อนข้างจะตื่นเต้นเร้าใจ มากกว่าข้อเท็จจริงเสียด้วยซ้ำ
นั่นจึงทำให้มีการตั้งข้อสงสัยชวนรังเกียจ ผลการสำรวจของสำนักโพลบางแห่ง
ทำนองว่า เป็นสำนักโพลรับจ้างนักการเมือง !!
ด้วยเหตุที่ว่า ปัญหาใหญ่จริงก็คือ ผลการสำรวจเหล่านี้สะท้อนความต้องการ ความรู้สึกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ประมาณ 4.3 ล้านคน ได้จริงหรือไม่
อย่าลืมว่า คนที่อาศัยอยู่ในกทม.กว่า 10 ล้านคนนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด และภายใต้บรรยากาศความเกลียดชังทางการเมือง อาจจะไม่มีใครอยากให้ข้อมูลที่แท้จริง
ด้วยความกลัวว่า จะถูกประทับตราค่ายสีสังกัดไป
จนเป็นเหตุให้ผลการสำรวจผิดเพี้ยนไป
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง โพลกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 - 13 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 15,000 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 52.40 คิดว่า โพลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ขณะนี้มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลาง
ประชาชน ร้อยละ 9.07 เชื่อว่า สำนักโพล ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง เพราะผลการสำรวจที่ออกมาทำให้เชื่อว่าน่าจะมีส่วน และอาจมีการว่าจ้างในการทำสำรวจ
ประชาชน ร้อยละ 35.27 คิดว่า ผลโพลผู้ว่าฯกทม. กับผลเลือกตั้ง น่าจะตรงกัน เพราะเมื่อเทียบจากหลาย ๆ สำนักที่ออกมาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประชาชน ร้อยละ 70.87 เชื่อว่า ผลโพลไม่สามารถชี้นำ หรือมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะแต่ละคนย่อมมีคนที่ตัวเองชอบ หรือตัดสินใจเลือกไว้อยู่แล้ว ผลโพลเป็นเพียงข้อมูลสร้างสีสัน ในการเลือกตั้ง ส่วนการจะเลือกใครนั้นจะพิจารณาจากบุคคล หรือนโยบายมากกว่า และท้ายที่สุดก็คือตัวเราเองเป็นผู้ตัดสินใจ
นั่นหมายความว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เชื่อว่า ผลโพลไม่สามารถชี้นำความคิดความรู้สึกต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม.ได้
ที่สำคัญ หากลองสำรวจพิจารณา ผลการสำรวจความคิดเห็นของแต่ละสำนักโพล จะพบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผลการสำรวจของนิด้าโพล กับสวนดุสิตโพล และเอแบคโพล
นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มาแล้ว 4 ครั้ง ยังคงตอกย้ำอย่างมั่นคงว่า คนกรุงเทพฯ ยังไม่ตัดสินใจอีกจำนวนหนึ่ง ชนิดที่ใครครองใจคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะชนะขาด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนกรุงเทพฯ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โค้งที่ 5" โดยทำการสำรวจจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,485 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2556
คำถามที่สำคัญคือ เมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 26.80 ระบุว่า จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯกทม. รองลงร้อยละ 25.86 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส่วนร้อยละ 4.58 จะเลือกพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และอีกร้อยละ 1.62 จะเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ขณะที่ร้อยละ 0.67 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกรุงเทพฯในสัดส่วนที่มากสุดร้อยละ 36.84 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ และมีเพียงร้อยละ 3.30 ที่ระบุว่า ไม่ลงคะแนนเสียง
นิด้าโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เรื่องคนกรุงฯ กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 4 พบว่า ร้อยละ 25.20 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯกทม. รองลงมาร้อยละ 23.07 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ที่สำคัญ คนกรุงเทพฯอีกร้อยละ 41.33 ยังไม่ตัดสินใจ สาเหตุที่คน กทม. ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้น ร้อยละ 76.45 ระบุว่า รอพิจารณาว่า นโยบายอันใดเหมาะสม
การสำรวจครั้งที่ 3 ของนิด้าโพล ในเรื่อง “คนกรุงฯ กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. โค้งที่ 3 ” ระหว่างวันที่ 5 - 6 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ
เมื่อถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯกทม.” พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 24.47 ระบุว่า จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯกทม. รองลงมา ร้อยละ 22.87 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 7.60 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 1.67 จะเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 0.40 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.07 จะเลือกนายโสภณ พรโชคชัย
ที่สำคัญ ร้อยละ 41.07 ที่ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ และมีเพียงร้อยละ 1.87 ที่ระบุว่า ไม่ลงคะแนนเสียง
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครนั้น พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 83.44 ระบุว่า รอพิจารณาว่านโยบายใดเหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 8.60 ระบุว่า ไม่มีใครน่าสนใจ และ ร้อยละ 1.46 รอดูผลโพล
การสำรวจครั้งที่ 2 ขอ นิด้าโพล เรื่อง "คนกรุงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.โค้งที่ 2" โดยสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,503 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.56
พบว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ร้อยละ 23.82 จะเลือก พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯกทม. รองลงมาร้อยละ 19.16 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อันดับสาม ร้อยละ 5.12 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 1.13 เลือกนายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 0.20 เลือกนายโฆสิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.07 เลือกนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง
การสำรวจครั้งที่ 1 ของนิด้าโพล เรื่อง "คนกรุงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โค้งที่ 1" โดยเมื่อถามว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่าร้อยละ 20.60 ระบุจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รองลงมาร้อยละ 19.13 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ และมีร้อยละ 52.80 ที่ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ
ผลการสำรวจของนิด้าโพล แตกต่างราวฟ้ากับดินกับ ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล และเอแบคโพล
ทั้งสองสำนักโพลให้ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ “ ชนะขาดไปเรียบร้อยแล้ว
สวนดุสิตโพลสำรวจมาแล้ว 4 ครั้ง ทั้ง 4 ครั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ นำหน้ามาตลอด
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 25 คน เป็นครั้งที่ 4 จากคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งโดยสุ่มตัวอย่างกระจายครบทั้ง 50 เขต จำนวน 4,393 คน ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2556 สรุปผลได้ดังนี้
คะแนนจากผลสำรวจ คนกรุงเทพฯ จะเลือกผู้สมัคร “ผู้ว่าฯกทม.” ตามลำดับดังนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 46.69 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพราะ มีความสุภาพ เป็นกันเอง ทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ดี มีความตั้งใจในการทำงาน ชอบพรรค ฯลฯ
อันดับ 2 ร้อยละ 32.99 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เพราะ มีความสุภาพ เป็นคนดีซื่อสัตย์ อยากให้สานงานเดิมต่อให้เสร็จ ตั้งใจทำงาน ชอบพรรค ฯลฯ
อันดับ 3 ร้อยละ 6.21 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เพราะไม่สังกัดพรรคการเมือง สามารถทำงานเป็นอิสระ เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริงทำจริง ฯลฯ
อันดับ 4 ร้อยละ 0.56 นายสุหฤท สยามวาลา เพราะ นโยบายมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ เป็นทางเลือกใหม่ ฯลฯ
อันดับ 5 ร้อยละ 0.44 นายโฆษิต สุวินิจจิต เพราะ ไม่สังกัดพรรคการเมือง สามารถทำงานเป็นอิสระ เป็นทางเลือกใหม่ ฯลฯ
ประเด็นสำคัญคือ มีคนกรุงเทพฯที่ยังไม่ตัดสินใจอยู่ที่ ร้อยละ 12.69 เท่านั้น
แตกต่างกับนิด้าโพล ที่ระบุว่า มีคนกรุงเทพฯที่ยังไม่ตัดสินใจอยู่ร้อยละ 41
การสำรวจครั้งที่ 3 ก็ไม่แตกต่างกัน
สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. กรณี “การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในสายตาของคนกรุงเทพฯ” (ครั้งที่ 3) จำนวน 3,198 คน โดยกระจายครบทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง และแสวงหาฐานข้อมูลด้านความคิดเห็นของประชาชน ปรากฏว่า ผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่คนกรุงเทพฯจะเลือก คือ
อันดับ 1 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 44.04 % อันดับ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 34.13 % อันดับ 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 6.09 % อันดับ 4 นายสุหฤท สยามวาลา 1.20 % อันดับ 5 นายโฆษิต สุวินิจจิต 0.65 %
แต่ข้อมูลที่สำคัญคือ ยังมีคนไม่ตัดสินใจเพียงแค่ 13.47 %
ผลการสำรวจครั้งที่ 2 ของสวนดุสิตโพล กรณี “การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในสายตาของคนกรุงเทพฯ” (ครั้งที่ 2) จำนวน 3,410 คน โดยกระจายครบทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2556 ปรากฏว่า อันดับ 1 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 42.59% อันดับ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 34.31% อันดับ 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 6.38% อันดับ 4 นายสุหฤท สยามวาลา 0.77% อันดับ 5 นายโฆษิต สุวินิจจิต 0.58%
โดยยังมีคนที่ไม่ตัดสินใจอีก 15.04%
ผลการสำรวจเหล่านี้ และผลการสำรวจอื่นๆ ทำให้ “มานิจ สุขสมจิตร” สื่อมวลชนอาวุโส อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ขอลาออกจากตำแหน่ง “นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต” เพราะทนเห็นพฤติกรรมของสวนดุสิตโพล ในสังกัดของมหาวิทยาลัยไม่ไหว แม้ว่าจะทำหน้าที่นายกสภาฯ มาตั้งแต่ปี 2530 รวมเป็นเวลา 25 ปีเต็ม
ที่สำคัญยังมีการเปิดเผย ข้อมูลตัวเลขว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มรภ.สวนดุสิต) ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานภาครัฐอย่างน้อย 21 แห่ง เป็นที่ปรึกษาและทำโพลกว่า 141 ล้านบาท !!
เอแบคโพลเจ้าเก่า ก็ไม่มีความแตกต่างกับสวนดุสิตโพล
ผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ศึกษาเปรียบเทียบความตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ของคนกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่โค้งที่ 1 ถึง โค้งที่ 4 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน ทั้งสิ้น 2,498 ตัวอย่าง พบว่า ความตั้งใจของประชาชนที่ถูกศึกษาระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 43.9 ในโค้งที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 46.6 ในโค้งที่ 4
แนวโน้มความตั้งใจของประชาชนที่ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.9 ในโค้งที่ 4 และแนวโน้มความตั้งใจของประชาชนที่ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 10.4 ในโค้งที่ 3 และยังคงอยู่ที่ร้อยละ 10.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
ทั้งในการสำรวจครั้งที่ 3 พบว่า ในกลุ่มคนที่ตั้งใจจะไปเลือกตั้งแน่ๆ ร้อยละ 47.1 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 38.5 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 8.0 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์
การสำรวจครั้งที่ 2 เรื่อง ต้นเหตุการเมืองระดับชาติ กับ การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ใครนำใครตามในโค้งที่สอง ของเอแบคโพล ระบุว่า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,673 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มกราคม -2 กุมภาพันธ์ 2556
พบว่า ความนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจิรญ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ จากร้อยละ 32.1 ก่อนวันรับสมัคร มาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในโค้งที่ 1 และร้อยละ 43.1 ในโค้งที่ 2
ขณะที่สัดส่วนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ในโค้งที่ 2
ส่งผลทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ออกไปอีก จาก 4.2 จุด เป็น 10 จุด ในการสำรวจครั้งนี้
นั่นจึงทำให้ เว็บไซต์ ประสงค์ดอทคอม เปิดข้อมูลการรับจ๊อบของเอแบคโพล จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง 100 กว่าล้านบาททีเดียว
หลังจากถูกวิจารณ์หลายครั้งหลายครา ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อธิบายผลการสำรวจแบบใหม่
เป็นผลการสำรวจเรื่อง สำรวจลักษณะเด่น หรือโปรไฟลิงก์ (Profiling) ของกลุ่มคนที่ยังเปลี่ยนใจเลือกคนอื่นได้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,498 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีความเป็นไปได้ว่า ผลสำรวจกับผลการเลือกตั้งจริงไม่ตรงกันอาจพลิกได้ เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมในกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้ โดยพบว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่อาจเปลี่ยนใจได้ ร้อยละ 25.6 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แต่ร้อยละ 24.8 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร หมายความว่าห่างกันเพียงไม่ถึง 1 จุดเท่านั้น โอกาสที่จะพลิกจึงยังคงมีอยู่ ถ้าประชาชนผู้อาจเปลี่ยนใจได้มีเพิ่มมากขึ้น และไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากกว่ากลุ่มคนที่บอกว่าไม่เปลี่ยนใจแล้วในผลโพล แต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ในกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้อีกร้อยละ 21.3 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส นั่นก็หมายความว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็มีลุ้นเช่นกัน เพราะคะแนนที่ทิ้งห่างกันไม่เกิน 7 จุด
ดร.นพดล เริ่มแสดงพฤติกรรมจิ้งจกเปลี่ยนสีอีกครั้ง หลังจากทีมงานกฎหมายของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเตรียมฟ้องร้อง
ปัญหาสำคัญก็คือ ทำไมผลการสำรวจของเอแบคโพล และสวนดุสิตโพล จึงแตกต่างกับนิด้าโพล ??
หรือเกิดความคลาดเคลื่อนจากการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
หรือเกิดจากโพล “รับจ็อบ” กับโพล “ไม่รับจ็อบ”
3 มีนาคม มีคำตอบครับพี่น้อง !!!