xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความเชื่อและศรัทธาผลโพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4.3 ล้านคน จะต้องตัดสินทิศทางของกรุงเทพมหานครในไม่กี่วันข้างหน้าเพื่อเลือกผู้ว่าฯ กทม.มาบริหารงานอีก 4 ปี ด้วยงบประมาณปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท

แต่โพลลำสรวจความนิยมตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง!!??

จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า จะเป็นผลบวก หรือผลลบต่อตัวผู้สมัคร และการตัดสินใจของคนทั่วไป

แม้ว่าพรรคเพื่อไทย และพล.ต.อ.พงศพัศ พยายามถีบคนเสื้อแดง ซึ่งไม่มีฐานเสียงในกทม. ออกนอกเส้นทางหาเสียง เพราะเกรงกลัวความเกลียดชังที่มีต่อแกนนำเสื้อแดงที่เคย “เผากรุงเทพฯ” มาแล้ว

แต่ผลการสำรวจจากโพล กลับยกให้ พล.ต.อ.พงศพัศ เริ่มทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

จนทำให้หลายฝ่าย “เกิดความระแวง” ต่อผลการสำรวจ ??? ว่ามีลักษณะชี้นำการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม.

ทำให้ “วีระ ยี่แพร” ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) อธิบายวิธีการตามกฎหมายว่า “การทำและเผยแพร่ผลโพลสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 แต่กรณีนี้มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง แนะนำวิธีการและลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ปี 2551 ที่ขอความร่วมมือว่า ไม่ควรเผยแพร่ผลโพลช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง”

“ ตอนนี้แม้จะมีการมองว่าผลโพลที่เผยแพร่ออกมามีลักษณะชี้นำ แต่ตามกฎหมายแล้ว กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปตักเตือน หรือสั่งให้ระงับ รวมถึงถ้าไม่มีคนร้องแล้วเราไปเชิญผู้จัดทำมา ก็อาจกลายเป็นประเด็นว่า กกต.ไม่กลางหรือเปล่า” ผอ.กกต.กทม. อธิบายไว้

หากลองพิจารณาผลการสำรวจของสำนักวิจัยขาประจำ พบว่า มีการเปิดเผยผลการสำรวจอย่างเป็นกระบวนการ  สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่กลับไปถามอีก กลุ่มตัวอย่าง 16 จังหวัดของประเทศด้วย

จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 2,195 ตัวอย่าง วันที่ 10 - 15 ธันวาคม 2555 ดังนี้ ผลปรากฏว่า เมื่อถามว่า ถ้าต้องเลือก ตั้งใจจะเลือกบุคคลที่ตกเป็นข่าวว่าอาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ท่านใด พบว่า อันดับ 1 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 32.1 อันดับ 2 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 31.7 อันดับ 3 เลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 14.5

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความเห็นของประชาชนครั้งที่สอง เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ใครนำใครตามในโค้งที่สอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อถามว่า “วันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ท่านจะเลือกใคร” ผลปรากฏว่า ความนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจิรญ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ จากร้อยละ 32.1 ก่อนวันรับสมัคร มาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในโค้งที่ 1 และร้อยละ 43.1 ในโค้งที่ 2

ขณะที่สัดส่วนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ในโค้งที่ 2

ส่งผลทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ออกไปอีก จาก 4.2 จุด เป็น 10 จุด ในการสำรวจครั้งนี้

เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กรณี “การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในสายตาของคนกรุงเทพฯ” จำนวน 3,214 คน โดยกระจายครบทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2556 ผลปรากฏว่า

เมื่อถามว่า “ผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่คนกรุงเทพฯ จะเลือก” คือ อันดับ 1 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 41.00% อันดับ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 36.12% อันดับ 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 6.88% อันดับ 4 นายโฆษิต สุวินิจจิต 0.97% อันดับ 5 นายสุหฤท สยามวาลา 0.53% ยังไม่ตัดสินใจ 13.93%

นั่นทำให้ “ความระแวงสงสัย” ในผลการสำรวจว่า จะสะท้อนความรู้สึกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.3 ล้านคนจริงหรือ ???

อาจจะเป็นเพียง “โพลรับจ้าง” ???

แต่เมื่อ “มานิจ สุขสมจิตร” สื่อมวลชนอาวุโส อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ขอลาออกจากตำแหน่ง “นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต” เพราะทนเห็นพฤติกรรมของสวนดุสิตโพล ในสังกัดของมหาวิทยาลัยไม่ไหว แม้ว่าจะทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี 2530 รวมเป็นเวลา 25 ปีเต็ม

ทำให้ “ความระแวง” แปรเปลี่ยนกลายเป็น “ความหมดศรัทธา”

มานิจ บอกกับสำนักข่าวอิศราว่า “สาเหตุที่ลาออก เพราะจุดยืนการทำงานต่างกัน หลังจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ไปรับจัดเวทีสานเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 เวที ของรัฐบาล ซึ่งผมคงเห็นด้วยไม่ได้”

“รัฐธรรมนูญปี 2550 ผมมีส่วนร่างมากับมือ และผมคิดว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง เพราะไปอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ให้นายทุนเข้ามากอบโกย หรือเข้ามาโกงประเทศ หรือหลายสิ่งหลายอย่างที่นักการเมืองจะเข้ามาล้วงลูก มีการห้ามเอาไว้หมด ฉะนั้น การล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมคงเห็นด้วยไม่ได้”

เมื่อถามถึงอะไร คือ ฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ต้องตัดสินใจประกาศลาออกนั้น นายมานิจ บอกว่า “คือ การทำผลโพล มีการตั้งคำถาม ซึ่งก็อ่านออกว่า ทำโพลขึ้นมาเพื่ออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 มีการไปสำรวจว่า โลกแตกแล้วอยากให้ใครมีชีวิตอยู่ จนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ทำโพลเพื่อเอาใจ เรื่องนี้เป็นที่มาที่รับไม่ได้ จึงพิจารณาตัวเอง จากกันด้วยดี”

มานิจ บอกว่า “อธิการบดีได้ยับยั้งการลาออก แต่ผมก็ตอบไปว่า หากผมอยากอยู่ต่อ คงไม่ลาออก ผมแถลงลาออกในที่ประชุม ทุกคนก็ปรบมือให้ ซึ่งที่ปรบมือให้ผมก็ไม่รู้เขาชอบหรือเปล่า ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแนวร่วม หรือใครที่ลาออกตามผม”

เมื่อถามอีกว่า หลังจากลาออกแล้ว มีผลโพลอะไรที่เห็นว่า แปลกๆ ออกมาบ้างหรือไม่ นายมานิจ กล่าวว่า “ก็มีคำถามอะไรแปลกออกมาอยู่ในโพลเรื่อยๆ เช่น การพิจารณาเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูจากอะไร เป็นต้น ผมไม่ได้ดูในรายละเอียด”

มานิจ ยังบอกอีกว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะว่าการเมืองมันมาแล้วมันก็ไป แต่มหาวิทยาลัยยังอยู่ การไปผูกพันกับรัฐบาลช่วงใดช่วงหนึ่งแล้วถ้าหากว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วมันก็จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญก็คือว่า เรื่องที่เขาไปรับจัดเวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 เวที และที่รัฐมนตรีมหาดไทย (นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ) สั่งให้ผู้ว่าฯ ให้นายอำเภอ เกณฑ์คนมาฟังแล้วก็บอกว่า คนโง่ไม่ต้องออกมา เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2555 ผมก็คิดว่ามหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไป ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ เขาไปส่วนตัว เขาไม่ใช้ทั้งมหาวิทยาลัย ไม่เอามหาวิทยาลัยมาเกี่ยวข้องด้วย”

ผลโพลที่ถูกสังคมวิพาษ์วิจารณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่มาของเหตุผลการลาออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ของนายมานิจ นั้นก็คือ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวกระแสข่าววันสิ้นโลก หรือ วันโลกแตก ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 จำนวน 1,461 คน ระหว่างวันที่ 12-18 ธันวาคม 2555

คำถามสิ้นคิดดังกล่าวก็คือ เมื่อถามว่า “7 นักการเมืองไทย” ที่ประชาชนอยากให้รอด ถ้าหาก “วันสิ้นโลก” เป็นจริงอันดับ 1 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 32.35% อันดับ 2 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19.48% อันดับ 3 ทักษิณ ชินวัตร 12.86% อันดับ 4 ชวน หลีกภัย 10.66% อันดับ 5 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 9.92 % อันดับ 6 เฉลิม อยู่บำรุง 9.19% อันดับ 7 บรรหาร ศิลปอาชา 5.54%

แต่กระนั้น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล กลับตะแบงไปว่า การรับงานจัดเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 เวที นั้น ยังไม่ได้เริ่มต้น ทั้งๆที่ “รับงาน” มาแล้ว

“ผมมั่นใจว่าข่าวที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ หรือความน่าเชื่อถือของสวนดุสิตโพล เพราะการทำโพลที่ผ่านมาของสวนดุสิตโพล เป็นการสะท้อนถึงความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งโจมตีใคร และขอยืนยันว่าสวนดุสิตโพลดำเนินการทุกอย่างถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่รับจ้างแก่ใครทั้งสิ้น” สุขุม บอกไว้

สวนดุสิตโพล จะรับจ้างใครหรือไม่ ? ต้องตามไปดูการรับงานรับเงินของสวนดุสิตในช่วงที่ผ่านมา

สำนักข่าวอิศรารวบรวมการ “รับจ้าง” หน่วยงานราชการของสวนดุสิต พบว่า นับจากปี 2547-2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้รับว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาวิจัยเชิงสำรวจ และรับจ้างทำโพล ให้แก่หน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น 21 แห่ง 42 ครั้ง วงเงินรวม 141,833,820 บาท ในจำนวนนี้ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 12 ครั้ง และการว่าจ้างในช่วงปี 2555 มีจำนวน 4 ครั้ง 35.1 ล้านบาท

นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่า สวนดุสิตรับจ้างใคร





กำลังโหลดความคิดเห็น