xs
xsm
sm
md
lg

“เกษียร” แยกทาง “มติชน” ประกาศเลิกเขียนบทความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – “เกษียร เตชะพีระ” ประกาศเลิกเขียนบทความใน นสพ.มติชนรายวัน ทั้งที่เขียนมาต่อเนื่อง 14 ปี เจ้าตัวไม่ได้ระบุสาเหตุ แต่โพสต์บทความชิ้นล่าสุดที่ไม่ได้ลงตีพิมพ์ ตั้งข้อสังเกตอาจโดนดี เพราะพาดพิง “บรรหาร” ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้กุมงบหลายกระทรวงที่มติชนรับงานอยู่

เช้าวันนี้ (8 ก.พ.) นายเกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์มติชน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Kasian Tejapira ระบุข้อความว่า ขอปิดคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชน ที่เขียนมาอย่างต่อเนื่องถึง 14 ปี นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา..... หลังจากเขียนประจำที่มติชนรายวันทุกศุกร์มา ๑๔ ปี ด้วยสาเหตุบางประการ ผมได้ตัดสินใจปิดคอลัมน์ในมติชนลงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สำหรับท่านผู้สนใจ บทความที่ไม่ได้นำลงสัปดาห์นี้เรื่อง “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” สามารถเปิดดูได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ https://dl.dropbox.com/u/98112122/Banharn-buri2.pdf นายเกษียรระบุ

เมื่อผู้สื่อข่าวตรวจสอบในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันนี้ ก็พบว่า บทความของนายเกษียรที่ปกติจะได้พื้นที่ตีพิมพ์ลงในหน้าที่ 6 หายไป โดยกลายเป็นบทความของ นายคณิน บุญสุวรรณ เรื่อง “วิธีไหนก็ได้เอาคนออกจากคุกเร็วที่สุด” ซึ่งกล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ให้พ้นจากการคุมขัง

ขณะที่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในบทความชิ้นสุดท้ายที่นายเกษียร เขียนลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.2556 พบว่า เป็นบทความเรื่อง “อำนาจแห่งเอกลักษณ์: ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี” โดย เกษียร เตชะพีระ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาจากหนังสือเรื่อง Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri (สิทธิอำนาจทางการเมืองกับเอกลักษณ์จังหวัดในประเทศไทย: การสร้างบรรหารบุรี) ซึ่งมีการปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่น ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยมีการกล่าวพาดถึงไปถึง นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตนายกรัฐมนตรี และน้องชายคือ นายชุมพล ศิลปอาชา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เพิ่งล่วงลับไป

“นิชิซากิ ยืนยันว่า ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี คือ ฐานที่มาแท้จริงแห่งอำนาจทางการเมืองอันยั่งยืนของคุณบรรหาร ไม่ใช่การใช้กำลังรุนแรง, การซื้อเสียง หรือการอุปถัมภ์ส่วนตัว อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักยิ่งกว่าการเมืองแบบดึงงบประมาณโครงการพัฒนาของรัฐบาลมาลงในพื้นที่จังหวัดโดดๆ อย่างเดียวด้วย เพราะแม้ปัจจัยหลังนี้จะมีส่วนส่งผลต่อคะแนนนิยมอยู่บ้าง แต่ลำพังตัวมันเองไม่เพียงพอจะอธิบายกรณีผิดปกตินอกกรอบ (anomalies) ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ (เช่น ชาวสุพรรณฯที่ไม่ได้ประโยชน์เชิงวัตถุเงินทองโดยตรงใดๆ จากโครงการเหล่านี้ก็ยังสนับสนุนบรรหาร, ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นบางรายที่ได้ประโยชน์ชัดเจนจากบางโครงการกลับเพิกเฉยไม่หาเสียงช่วยคนของบรรหารก็มี)

“อีกทั้งยังสะท้อนทรรศนะมุมมองต่อคนสุพรรณฯที่คับแคบ เห็นพวกเขาเป็นแค่สิ่งมีชีวิต นิยมผลประโยชน์ทางวัตถุ..... ราวกับว่า เป็นคนละเผ่าพันธุ์สปีชีส์ ไม่เหมือนคนกรุง หรือนักวิชาการที่มีการศึกษา ยึดมั่นอุดมการณ์การเมือง รักความเป็นไทย ไม่ขายเสียง ไม่บ้าประชานิยม ฯลฯ อันเป็นมายาคติหลงตัวเองและหลอกตัวเองที่ต่อต้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง!” บทความชิ้นดังกล่าวระบุ

ขณะที่บทความต่อเนื่องชิ้นที่ 2 เรื่อง “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” ซึ่ง นายเกษียร ระบุว่า ไม่ได้ถูกนำเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ก็ระบุด้วยว่า

“จากกรณีศึกษาบรรหารบุรี นิชิซากิ สรุปว่า การดำรงอยู่เคียงคู่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างเอกลักษณ์ระดับจังหวัด กับเอกลักษณ์แห่งชาติเป็นไปด้วยดีเมื่อเอกลักษณ์จังหวัดระมัดระวังจำกัดขอบเขต ไม่ก้าวล้ำก้ำเกินเอกลักษณ์แห่งชาติ ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลาง สรุปรวบยอด ก็คือ เอกลักษณ์จังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรีอยู่ใต้ร่มพระบารมีราชาชาตินิยมอย่างราบรื่นกลมกลืนเรื่อยมา โดยตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในแบบอย่างแนวทางพระราชอำนาจนำในการดูแลทุกข์สุข ทำนุบำรุงชีวิตความเป็นอยู่และรักษาความมั่นคงของพื้นที่และอาณาราษฎรชาวสุพรรณบุรี” นายเกษียร ระบุ

มีการตั้งข้อสังเกตในแวดวงสื่อสารมวลชน ว่า บริษัทในเครือมติชนนั้นมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น และรับจ้างทำงานให้กับกระทรวงภายใต้การดูแลของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหาร กุมอำนาจอยู่จำนวนมาก โดยล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดย นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ เพิ่งมีการแถลงข่าวร่วมในการจัดงานเกษตรมหัศจรรย์ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ ณ เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ



“สุวินัย” ชี้มติชนพลาดมหันต์

ในช่วงบ่าย นายสุวินัย ภรณวลัย รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้คุ้นเคยอย่างดีกับนายเกษียร ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า บทความ “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” ของ นายเกษียร ไม่น่าจะถูกแบน และชี้ว่า มติชนทำพลาดมหันต์ เพราะถือว่าเสียคอลัมนิสต์มือที่ดีที่สุดคนหนึ่งไป

“ผมอ่านบทความ “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” ของอาจารย์เกษียร ที่ไม่ได้ลงพิมพ์ในมติชนที่อาจารย์เกษียร เป็นคอลัมนิสต์มาถึง ๑๔ ปีเต็ม และน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อาจารย์เกษียร ประกาศยุติการเป็นคอลัมนิสต์ให้มติชนอีกต่อไปด้วยความแปลกใจ เพราะแกนหลักของบทความนี้ของอาจารย์เกษียร แทบอ้างอิงมาจากงานเขียนของ ดร.นิชิซากิ โยชิโนริ เรื่อง Political Authority and Provincial Identity in Thailand:The Making of Banharn-Buri (2011) มาทั้งสิ้น ดร.นิชิซากิ วิเคราะห์ถึงการสร้างเอกลักษณ์จังหวัด หรือลัทธิจังหวัดนิยมของบรรหาร ศิลปอาชา ที่เป็นไปอย่างราบรื่นเพราะอยู่ใต้เอกลักษณ์ของความเป็นชาติที่มีอยู่ก่อนได้อย่างลงตัวก็แค่นั้นเองซึ่งไม่น่าจะโดนเซนเซอร์แบบ “เหนือเมฆ ๒” แต่อย่างใดเลย

แต่บทความนี้ของอาจารย์เกษียร กลับถูกแบน ซึ่งคงมาจากวรรคสุดท้ายของบทความของอาจารย์เกษียร เป็นแน่ นั่นคือ “ทุกวันนี้คุณบรรหารก็ยังคงเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้รับการนับหน้าถือตาในสุพรรณบุรีและในบ้านเมือง อันต่างจากชะตากรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีบางท่านชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ” ถ้าข้อสันนิษฐานของผมถูกต้อง ผมคิดว่า มติชนพลาดในครั้งนี้อย่างร้ายแรง ทั้งในเชิงจรรยาบรรณ และในเชิงที่เสียคอลัมนิสต์มือดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยไปอย่างน่าเสียดาย เพราะความขลาดเขลาและถูกผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าบังตาโดยแท้
ข้อความในเฟซบุ๊กของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ช่วงเช้าวันนี้ (8 ก.พ.)
บทความชิ้นล่าสุดของ ศ.ดร.เกษียร ที่ตีพิมพ์ใน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น