ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง! กรณีมติชนฟ้องหมิ่น เอเอสทีวี ผู้จัดการ กรณีที่ นายสุรวิชช์ วีรวรรณ กรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและคอลัมนิสต์ชื่อดังเขียนบทความเรื่อง “มติชนกับการล้มกษัตริย์” ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของสื่อค่ายมติชนอย่างดุเดือด ลงในคอลัมน์ “หน้ากระดานเรียงหน้า”ในหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวีผู้จัดการ ภายหลังหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ตีพิมพ์ปกหน้า และนำเสนอเรื่องรามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ของกลุ่มการเมืองลัทธิเหมาในประเทศเนปาล รวมทั้งหนังสือพิมพ์มติชนได้ลงบทความวิเคราะห์ทำนองว่า รัฐบาลขณะนั้น ใช้หมายจับข้อหาก่อการร้าย เพื่อจะดำเนินคดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ถ้าจับได้จริง จะเอาคุกที่ไหนขัง และถ้าขังก็อาจจะถูกคนเสื้อแดงปิดล้อมเรือนจำแบบคุกบาสติล ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า เอเอสทีวี ผู้จัดการทำการวิพากษ์วิจารณ์บนเหตุผลและข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ ความห่วงใยและยึดมั่นในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พบว่ามีกลุ่มคนบางพวกการกระทำการหมิ่นเบื้องสูงอย่างแพร่หลายทางอินเตอร์เน็ต
โดยเมื่อวัน11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องที่พิจารณาคดี 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1795/2553 ที่บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ ที่ 1, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ ที่ 2, บริษัท เอเอสผู้จัดการ จำกัด ที่ 3, บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่ 4, บริษัท ผู้จัดการจัดจำหน่าย จำกัด ที่ 5, บริษัท เอธนิค เอิร์ธ ดอท คอม โอลดิ้ง จำกัด ที่ 6 เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 จำเลยได้บังอาจร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณาด้วยการนำบทความเรื่อง “มติชนกับการล้มกษัตริย์” ที่จำเลยที่ 1 เขียนใส่ร้ายโจทก์ออกเผยแพร่ด้วยตัวอักษรลงในเว็บไซต์ชื่อ www.manager.co.th และในเว็บไซต์ชื่อ www.astvmanager.com ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ให้บริการ และมีจำเลยที่ 6 เป็นผู้ควบคุมคัดเลือกเผยแพร่และรับผิดชอบข้อมูลในเว็บไซต์ทั้งสองดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 จำเลยที่ 1 -5 ยังร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร หนังสือพิมพ์ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน อีกกระทงหนึ่ง กล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงในคอลัมน์ “หน้ากระดานเรียงห้า” หน้าที่ 12 มีถ้อยคำบทความว่า “มติชนกับการล้มกษัตริย์” มีเนื้อหายืนยันว่าโจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ และยังโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์ล้มเจ้า อันเป็นความ ซึ่งจำเลย 2 เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาที่ลงในหนังสือพิมพ์และมี จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ย่อมต้องรู้เห็นเป็นใจกับ จำเลยที่ 1 เพื่อใส่ร้ายโจทก์ดังกล่าวและบทความที่นายสุรวิชช์ วีรวรรณ จำเลยที่ 1 เขียนดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงโจทก์ไม่เคยกระทำการล้มกษัตริย์หรือล้มเจ้าตามที่ได้ถูกจำเลยทั้งหมดใส่ความดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร และแขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และทุกตำบล ทุกอำเภอ ทั่วราชอาณาจักรไทย โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดำเนินคดีนี้ด้วยตนเอง และท้ายคำฟ้อง ยังระบุว่า การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ประกอบมาตรา 88, 84, 86, 90, 91 พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 ด้วย ขอให้ศาลออกหมายนัดและเรียกจำเลยมาไต่สวนมูลฟ้อง และพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้ง 6 ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก ไทยโพสต์ บ้านเมืองและสยามรัฐ ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งหกหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยถ้อยคำบทความอันเป็นเท็จ ตามที่กล่าวในคำฟ้องนั้น การใส่ความ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 326, 328 จะต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นเกี่ยวกับบุคคลและบทความใดจะเป็นเท็จ ต้องมีข้อความที่เป็นจริงเสียก่อนจึงจะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นความเท็จได้
การกระทำของจำเลยเป็นการเสนอบทความในลักษณะเป็นการตั้งคำถามสงสัย ด้วยความกังวลห่วงใยการเสนอข่าว หรือบทความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริต ตามเหตุตามผลที่ประชาชนทั่วไปย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ มิได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ว่า “โจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ หรือเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์ล้มเจ้า” อันเป็นการใส่ความโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการเผยพิมพ์และเผยแพร่ข้อความเพื่อใส่ความโจทก์อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนที่โจทก์ฟ้องประเด็นว่าจำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อข้อความมิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และไม่มีมูลความผิดทางอาญา จึงพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาคดีนี้ บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ ก็ได้ดำเนินการฟ้องกลับกับบริษัทมติชนแล้ว กรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนได้นำคำฟ้องไปตีพิมพ์และกล่าวหาว่าเอเอสทีวีผู้จัดการกล่าวเท็จอยู่เป็นนิจ ซึ่งศาลอาญาได้รับฟ้องไว้เช่นกัน
ขณะที่ภายหลังศาลยกฟ้องว่าเอเอสทีวีผู้จัดการและคอลัมนิสต์ทำหน้าที่โดยยึดความถูกต้องตามหลักวิชาชีพ แล้ว ต่อมาโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คดีของให้ลงโทษจำเลยทั้งหก แต่ศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนกันแล้วพิเคราะห์ว่า การเขียนบทความและการเผยแพร่บทความในเว็บไซต์ตลอดจนตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลยนั้น นายสุรวิชช์ วีรวรรณ ผู้เขียนบทความ เขียนในทำนองวิเคราะห์ความเห็นของตนและเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ มิใช่เขียนยืนยันว่าโจทก์กระทำการตามชื่อเรื่องของบทความ เป็นการเขียนและเผยแพร่บทความในลักษณะห่วงผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิ์ที่จะวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้ และเป็นการเขียนบทความในลักษณะสงสัยในเจตนาของโจทก์ที่นำเสนอบทความว่าโจทก์มีเจตนาเช่นไรเท่านั้น มิใช่เป็นการสร้างความเท็จขึ้นมายืนยันใส่ร้ายโจทก์ การเขียนบทความและการเผยแพร่บทความของจำเลยทั้งหก จึงมิใช่เป็นการเจตนาจงใจหมิ่นประมาทโจทก์ จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาของศาลชั้นต้น วินิจฉัยไว้ละเอียดชัดแจ้งด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
ทำให้ประชาชนและผู้อ่านพิจารณาสามารถตัดสินใจและพิจารณาได้ว่าสื่อใดเป็นสื่อแท้ สื่อใดเป็นสื่อเทียม ขณะที่เอเอสทีวีผู้จัดการซึ่งมีสื่อในเครือทั้งมีช่องโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์พยายามนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมให้ประชาชนได้รับรู้อย่างครบถ้วนและไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ทางการเมือง
ซึ่งสุรวิชช์ วีรวรรณ ได้เขียนบทความไว้เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2554 ภายหลังถูกมติชนฟ้องว่า “ผมต้องขอบคุณบริษัท มติชน จำกัด ที่นำบทความเรื่อง มติชนกับการล้มกษัตริย์ ของผม ขึ้นสู่ศาลเพื่อดำเนินคดีผมและเครือผู้จัดการในข้อหาหมิ่นประมาท และศาลได้พิจารณาว่าคดีไม่มีมูลในชั้นไต่สวน”
“เพราะคนที่อยู่ในวงวิชาชีพนี้รู้กันอยู่ว่า องค์กรวิชาชีพ สมาคมของสื่อต่างๆ ที่มากมายก่ายกองนั้น ล้วนแต่เป็นเสือกระดาษ และบางสมาคมบางชมรมกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่ใช้วิชาชีพมาทำมาหากิน หนังสือพิมพ์บางฉบับใช้องค์กรสื่อเป็นที่ผ่องถ่ายคนในองค์กรของตัวเองที่ไม่มีงานทำ และหลายองค์กรผูกขาดกันอยู่ไม่กี่ค่ายและคนไม่กี่คน การร้องเรียนกันผ่านองค์กรสื่อจึงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีกฎหมายรองรับและไปบังคับคะคานใครไม่ได้
การกระทำดังกล่าวของมติชนจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อวงการวิชาชีพที่นอกจากจะตรวจสอบผู้อื่นแล้วก็ควรจะตรวจสอบกันเองด้วย เพราะวันนี้องค์กรสื่อมิใช่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นต่อสังคมเท่านั้น แต่เป็นหน่วยงานทางธุรกิจที่มีผลประโยชน์ที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นสำคัญ และเป็นที่ซ่อนเร้นของอำนาจการเมือง
ที่น่าตลกก็คือ วันนี้สื่อมวลชนนอกจากทำหน้าที่สื่อซึ่งต้องรายงานข้อเท็จจริง นำเสนอบทวิเคราะห์เพื่อกำหนดทิศทางและชี้นำสังคมซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลของความสุจริตแล้ว สื่อหลายค่ายยังมีหน้าที่รับจัดงานอีเวนท์ร่วมกับกระทรวงทบวงกรมด้วย ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับวิชาชีพสื่อ
เพราะงานอีเวนต์ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขายสินค้าและโครงการซึ่งควรเป็นงานของนักการตลาดมากกว่าคนในวิชาชีพสื่อ เหมือนฝ่ายโฆษณากับผู้สื่อข่าวจะต้องแยกจากกัน แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ เมื่อสื่อรับงานอีเวนต์แล้วกลับมานำเสนอในรูปแบบของข่าวแบบเนียนๆ
ผมคิดว่าวันนี้คนในสังคมรับรู้ว่าทั้งมติชนและเครือผู้จัดการของผมนั้น มีจุดยืนที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ในท่ามกลางการแบ่งสีทางการเมือง สำหรับเครือผู้จัดการมีความชัดเจนแจ่มชัดอยู่แล้วว่าเราอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกัน เนื้อหาและทิศทางการนำเสนอข่าวของเครือมติชนก็ปิดเร้นตัวเองไม่ได้เช่นกัน”