ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผลการสำรวจคะแนนผู้สมัครก่อนวันเลือกตั้งของสำนักโพล อย่าง เอแบคโพล และสวนดุสิตโพล ต่างยืนกรานเป็นเสียงเดียวกัน ตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกจนกระทั่งการสำรวจครั้งสุดท้าย ว่า เสาไฟฟ้าอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย จะชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 200,000 คะแนน
ภายหลังการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ผลการเลือกตั้งกลับเป็นตรงกันข้าม
แต่คนทำโพลทั้งสองสำนักต่าง “ปัดสวะ” ไปให้พ้นตัวทั้งสิ้น
แทนที่จะมี “สำนึกทางสังคม” ในฐานะนักวิชาการ แต่แสดงพฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่รับผิดชอบการกระทำใด
แม้ว่า คนทำโพลจะหากินจาก “ความคิดเห็นของประชาชน” แต่พวกเขาก็ไม่แยแส !!
ต่างจากผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโพลที่พยายามตอกย้ำ “จำนวนคนที่ไม่ตัดสินใจ” มาตลอด และการสำรวจครั้งสุดท้ายก็ “สอดคล้อง” กับข้อเท็จจริง
นิด้าโพล รายงานว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ทำนายผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2556” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 26 - 28 ก.พ. และ 1 มี.ค.56 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทั้ง 50 เขต 2,517 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ โดยมีความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน ไม่เกิน ร้อยละ 3.7
โดยเมื่อถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯกทม.” พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ และตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใคร ร้อยละ 43.16 ระบุว่า จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. รองลงมา ร้อยละ 41.45 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 8.72 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
นั่นหมายความว่า คนกรุงเทพฯ เลือกที่จะให้ “ข้อมูล” กับนิด้าโพล มากกว่าเอแบคโพล และสวนดุสิตโพล ซึ่งหลายคนเชื่อว่า รับจ๊อบมาทำโพล เพื่อนักการเมือง
ไม่ได้ต้องการสำรวจความเห็นของคนกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ
ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก
ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 2,715,640 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,244,465 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 63.98% ผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นับครบ 100% อันดับ 1 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 1,256,231 คะแนน อันดับ 2 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 1,077,899 คะแนน โดยที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ชนะคุณชายสุขุมพันธ์ ใน 11 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตดุสิต หนองจอก บางเขน ลาดกระบัง หนองแขม บางซื่อ ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม คันนายาว คลองสามวา
โดยเฉพาะเขตลาดกระบัง ดอนเมือง สายไหม
ในทางตรงกันข้าม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กลับชนะพล.ต.อ.พงศพัศ ถึง 39 เขต
นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเห็นว่า การที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะมากกว่า 150,000 คะแนน สวนกระแสความรู้สึกที่สำนักเอแบคโพล และสวนดุสิตโพล ตอกย้ำมาตั้งแต่วันรับสมัคร มาจาก 4 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
1. คะแนนจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์
2. คะแนนความนิยมที่เพิ่มขึ้นของประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการปราศัยของขุนพลพรรคประชาธิปัตยิ์ อย่างพร้อมเพรียง และ ชวน หลีกภัย สร้างภาพของ “ความรับผิดชอบร่วมกัน”
3. ความเห็นใจต่อ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆที่ตัวสุขุมพันธุ์เอง ไม่มีจุดขายแล้ว นั่นจึงทำให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ไม่สนับสนุนสุขุมพันธุ์ ลงแข่งขัน
4. ยุทธวิธีโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการรื้อฟื้นความทรงจำเรื่อง “พวกเผาเมืองยึดครองประเทศ” โดยเฉพาะกระแสข่าวการให้รางวัล “ไอ้ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” เป็นรองผู้ว่าฯกทม. หากพงศพัศ เป็นผู้ว่าฯกทม. ยิ่งสะเทือนจิตใจคนกรุงเทพฯ
เพราะ จตุพรเป็น “ชื่ออัปมงคล” สำหรับคนกรุงเทพฯ ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยต้องการความล้มเหลวในเรื่องใดก็ตาม เพียงแค่เสนอชื่อ “จตุพร” ขึ้นมา
ความต้องการก็กลายเป็นความจริง
คำอธิบายของ สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความเห็นนิด้าโพล หลังรู้ผลการเลือกตั้ง ค่อนข้างจะใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
"หม่อมเป็นโปรดักส์เก่าที่ขายไม่ออก แต่บังเอิญแบรนด์ดี ขายได้ และหากสังเกตช่วงอาทิตย์แรกที่ลงพื้นที่ ไม่พบว่ามี ส.ส.ประชาธิปัตย์ช่วยหาเสียง จะมาเมื่อตอน 2 อาทิตย์สุดท้าย และคำนวณว่า แม้จะไม่ชอบก็ต้องช่วย เพราะหากแพ้จะส่งผลต่อครั้งหน้า จึงทุ่มเท และตั้งแต่คุณชวน (ชวน หลีกภัย) ออกมา ทั้ง สก.- สข. ก็ออกมา และการเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อหม่อมได้ ก็ต้องทำงานหนักเพื่อปั่นกระแสตัวเอง เพราะรู้แก่ใจว่า คะแนนพรรคเยอะมาก ”
"การทำงานโดยไม่โผล่มาหน้าจอวิทยุ โทรทัศน์ มันไม่มีคะแนน จุดแรก ตัวบุคคล สุขุมพันธุ์ ทำได้ดีปั่นกระแสตัวเอง และคนไม่อยากให้ผูกขาด เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งไม่แฮปปี้กับเพื่อไทย เกลียดทักษิณ และกระแสที่ว่า จตุพรจะเป็นรองผู้ว่าฯ ทำให้คนกรุงที่ไม่ออกมา ก็ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งหากปูบอกว่า ไม่มี จตุพร ก็จบ แต่กลับบอกให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจ"
สอดคล้องการวิเคราะห์ของ “สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ว่า “เป็นการแสดงให้เห็นว่า แนวทางการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จุดเรื่องการผูกขาดได้ผล โดยวาดภาพให้เห็นว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะ จะมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายปรองดอง กลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เพราะกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และคน กทม. ยังนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน คอยตรวจสอบรัฐบาล แต่ไม่ใช่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่เป็นรัฐบาล และม.ร.ว. สุขัมพันธุ์ บริพัตร ว่ากันตามจริง ผลงานไม่ได้เป็นที่ประทับใจอะไร"
แต่คำอธิบายเหล่านี้ แตกต่างราวฟ้ากับดินกับคำอธิบายของคนร่ำรวยจากโพล จากเอแบค และสวนดุสิต
นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อธิบายถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับสาเหตุที่ผลการสำรวจแล้ว พงศพัศ ทิ้งห่างสุขุมพันธ์มากว่า เกิดจากยุทธวิธีรื้อฟื้นการเผากรุงเทพฯ
ครั้งแรกเขา อธิบายผลการสำรวจความนิยม 4 ครั้งก่อนการเลือกตั้ง ถึงสาเหตุผลการสำรวจแล้วพบว่า ความนิยมของสุขุมพันธุ์ ลดลง แบบห่างชั้นจาก พล.ต.อ.พงศพัศ ว่า
"ยิ่งมีข่าวออกมาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะออกยุทธศาสตร์รื้อฟื้นความทรงจำของประชาชนเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” ที่เป็นภาพความขัดแย้งรุนแรง แตกแยก ของคนในชาติออกมาหวังตีคะแนนนิยมนั้น น่าจะส่งผลเสียต่อผู้สมัคร เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อความขัดแย้งรุนแรง แต่อยากเห็นบ้านเมืองสงบร่มเย็นมากกว่า"
ครั้งที่สอง นพดล วิเคราะห์ผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง โพลก่อนวันเลือกตั้ง (Pre-Election Poll) ผู้ว่าฯกทม. 2556 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 5,713 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมาว่า
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45.9 ระบุ จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะได้เกินกว่า 1 ล้านคะแนน คือ อยู่ในช่วง 1,176,781-1,464,503 คะแนน ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 34.1 ระบุ จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะได้คะแนนอยู่ในช่วง 837,270-1,124,992 คะแนน
"ปัจจัยสำคัญที่ผลสำรวจพบ พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับคะแนนสูงสุดคือ ความต้องการของประชาชนคนกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และเบื่อความขัดแย้ง ส่วนใหญ่ต้องการทำมาหากิน ต้องการได้แนวทางแก้ไขปัญหา ลดความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง" นพดล วิเคราะห์ว่า ยุทธวิธีรื้อฟื้นเผาเมือง ผิดพลาด
แต่หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาแบบตรงกันข้ามกับคะแนนของเอแบคโพล ปรากฏว่า นพดล เอาสีข้างถู อ้างว่า
"เราไม่ได้ทำเอ็กซิตโพล เราทำโพลก่อนการเลือกตั้งช่วงสัปดาห์สุดท้าย สำรวจ 5,000 ตัวอย่าง จากคนกว่า 4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.001 เป็นธรรมดาที่จะคลาดเคลื่อนได้ และในความเป็นจริง ไม่ได้ทำใกล้วันเลือกตั้ง ทำในสัปดาห์สุดท้าย ไม่ใช่วันเลือกตั้ง ยังมีกลุ่มคนที่อาจเปลี่ยนใจได้ ซึ่งกลุ่มเปลี่ยนใจได้ในโค้งสุดท้าย สามารถทำให้พลิกได้ ถ้าทุกคนได้อ่านผลสำรวจอย่างต่อเนื่อง จะเข้าใจการทำงานของนักทำโพลได้ ซึ่งความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน"
ปัดสวะไปอย่างหน้าด้านๆ
สวนดุสิตโพล ก็สำรวจ Entry Poll หรือ "โพลก่อนการเลือกตั้ง" สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,080 คน ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2556 (ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง) แล้วพบว่า คะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อันดับ 1 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 49.01%, อันดับ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 39.65%, อันดับ 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 7.03%
ผลการสำรวจก็ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน
แต่หลังจากนั้น สวนดุสิตโพล ส่งหนังสือขอโทษต่อสังคม เพราะพวกเขาหากินจากการตอบแบบสอบถามของสังคมมาตลอด
จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.” โดยเฉพาะประเด็นคะแนนนิยมของผู้สมัคร ที่ “สวนดุสิตโพล” ได้จัดทำ กรณี “Entry Poll” เมื่อเทียบกับผลคะแนนจริงในวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา มีความผิดพลาดนั้น คณะทำงานสวนดุสิตโพล ได้ประชุมวิเคราะห์และประเมินผลการจัดทำ “Entry Poll” ดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 สรุปผลได้ดังนี้
1. คณะทำงาน “สวนดุสิตโพล” ยอมรับในความผิดพลาด กรณีการทำนายผลคลาดเคลื่อน และขอรับผิดชอบ โดย “กราบขอโทษ” “ประชาชน” “สื่อมวลชน” และโดยเฉพาะ “ผู้ได้รับผลกระทบจากผลการสำรวจในครั้งนี้” สวนดุสิตโพล จะนำผลการวิเคราะห์และประเมินความผิดพลาดนี้ ไปปรับปรุง และพัฒนา การทำโพลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. คณะทำงานได้ประเมิน “กระบวนการจัดทำโพล” ครั้งนี้ สรุปได้ว่า
(1) การวางแผนและการปฏิบัติงาน จะต้องรัดกุม และดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด มีการประชุมถี่มากขึ้น เพิ่มการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
(2) การเก็บข้อมูล ต้องมีการตรวจสอบซ้ำทุกข้อมูล (Double Check)
(3) การวิเคราะห์ข้อมูล จะต้องควบคุมตัวแปร โดยเฉพาะ “พฤติกรรมการให้ข้อมูลของ คนกรุงเทพฯ” กระแสความนิยมที่ก่อให้เกิด “การเลื่อนไหลของข้อมูลตามกัน” การแข่งขันอย่างดุเดือดของฝ่ายที่แข่งขัน รวมทั้ง “ฐานเสียง” ของแต่ละฝ่าย ฯลฯ
(4) การประเมินผล นักวิจัยทั้ง 27 คน จะต้องควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งภาคสนาม และโทรศัพท์ นับตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติงาน การวิเคราะห์และประมวลผลตามพื้นที่ ที่นักวิจัยรับผิดชอบ (คนละ 2 เขต) ในลักษณะ QC ที่ครบวงจร
“ ดังนั้น คณะทำงานจึงสรุปได้ว่า “ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นความผิดพลาดของคณะผู้จัดทำโพล ที่ มี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นประธานดำเนินงาน ที่ไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของคนกรุงเทพฯ ออกมาในโพลได้ เพราะมีจุดบกพร่องในกระบวนการจัดทำโพลตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น”
สวนดุสิตโพลยังหน้าบางกว่าเอแบคโพล ที่กราบขอโทษต่อสังคม แต่เอแบคโพล ยังปัดสวะไปให้พ้นตัว
แล้วอย่างนี้ คนกรุงเทพฯ ยังจะตอบคำถามจากแบบสำรวจของสำนักโพลแห่งนี้อีกหรือ ??!