xs
xsm
sm
md
lg

โพลการเมือง-รับจ้าง-มั่ว 3 มี.ค.รู้ จะมีใครหน้าแหก!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

สุขุมพันธุ์ บริพัตร
โพลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลายสำนักยังถูกเปิดเผยออกมาอย่างถี่ยิบในช่วงใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการหาเสียงที่เหลืออีกประมาณ 3 สัปดาห์

แต่เนื่องจากตามระเบียบการจัดทำโพล ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะไม่ให้มีการทำโพลในช่วง 7 วันสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเสียง จึงทำให้เวลาการทำโพลเหลืออีก 2 สัปดาห์ ก็ต้องหยุดสำรวจและเผยแพร่

ทำให้คาดได้ว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป พวกคนกรุงเทพมหานครที่กำลังเบื่อผลโพลหลายสำนักที่ออกมาถี่ยิบช่วงนี้ คงต้องหงุดหงิดใจมากขึ้นไปอีก เพราะจะเห็นสารพัดโพลออกมาอย่างถี่กว่าทุกช่วงแน่นอน

ล่าสุด วันที่ 6 ก.พ. 56 มี กรุงเทพโพล ของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,586 คน ระหว่าง 1 - 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจในหัวข้อการถามที่ว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯกทม.”

พบว่า อันดับหนึ่งคะแนนยังนำโด่งเหมือนหลายโพลก่อนหน้านี้คือพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 35.2 รองลงมาคือ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 28.3 และ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 7.0 ขณะที่ร้อยละ 24.7 ยังไม่ตัดสินใจ

สอดรับกับโพลของสำนักดังอย่างสำนักวิจัยเอแบคโพล ที่เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ต้นเหตุการเมืองระดับชาติ กับ การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ใครนำใครตามในโค้งที่สอง ที่ศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกทม. 1,673 ตัวอย่าง ช่วง 31 ม.ค. - 2 ก.พ.
พบว่าคะแนนนิยมของพล.ต.อ.พงศพัศ สูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงโค้งแรก โดยจากเดิมร้อยละ 32.1 ก่อนวันรับสมัคร มาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในโค้งที่ 1 และร้อยละ 43.1 ในโค้งที่ 2

ขณะที่สัดส่วนประชาชนที่จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ในโค้งที่ 2

สรุปง่ายๆ ก็คือ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกไปอีก จาก 4.2 จุด เป็น 10 จุดในการสำรวจรอบดังกล่าวของเอแบคโพล

ผลโพลข้างต้นที่ยกมาทั้งกรุงเทพโพลและเอแบคโพลที่เปิดเผยกันมาในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่าคะแนนที่ออกมาจากโพลหลายสำนัก ไม่ใช่แค่เอแบคโพลหรือกรุงเทพโพลตรงกัน พงศพัศ คะแนนนำ สุขุมพันธุ์ และมีแนวโน้มจะยิ่งห่างออกไปเรื่อยๆ เมื่อวันเลือกตั้งใกล้มาถึง!

แม้ฝั่งประชาธิปัตย์ทั้งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รวมถึงส.ส.กทม.-สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร -สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร ที่มาช่วยระดมพลกันหาเสียงให้สุขุมพันธุ์ จะเก็บอาการขวัญเสียได้อย่างมิดชิด ไม่แสดงออกให้กองเชียร์ถอดใจตามไปด้วย โดยบอกตรงกันว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลโพล ยังคงจะเดินหน้าหาเสียงต่อไปจนกว่าจะถึงวันลงคะแนนเสียง

ฟากเพื่อไทยอย่างพล.ต.อ.พงศพัศ และแกนนำพรรคที่รับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งอย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย ก็ไม่ได้ตีปีกดีใจจนเริงร่าให้เห็น ต่างบอกว่าประมาทไม่ได้ เพราะผลโพลอาจพลิกได้ อย่าไปเชื่อมาก เวลานี้หลายเขตเลือกตั้งคะแนนยังเป็นรองอยู่หลายขุมต้องเร่งหาเสียงเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ หากประมาท เชื่อผลโพล ไม่หาเสียงให้หนัก อาจน้ำตาร่วงได้

“ทีมข่าวการเมือง”เอง ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลโพลมากนัก แต่ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า มันก็คือเครื่องสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างที่ไปสำรวจมาได้ดีระดับหนึ่ง

ยิ่งหากเป็นการทำโพลของสถาบันการศึกษา ยังไงเสีย ความน่าเชื่อถือมันก็ต้องมีมากกว่าการที่ พรรคการเมืองหรือองค์กรการเมืองหรือบริษัทรับจ้างทำโพลได้ทำโพลออกมา

เพราะในความเป็นสถาบันการศึกษา สิ่งสำคัญที่ทำให้คนเชื่อถือก็คือ ความเป็นกลาง-ความอิสระปลอดจากการเมือง-ความเป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นแสวงหาผลตอบแทนหรือกำไรทางธุรกิจ

เมื่อผลโพลของสถาบันการศึกษาต่างๆมีการเปิดเผยออกมา ความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่ได้ มันก็ต้องมีอยู่ระดับหนึ่ง ยิ่งหากเป็นการสำรวจที่เห็นได้ชัดว่าเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างได้กว้างมากเท่าไหร่และคำถามในแบบสำรวจมีความสมเหตุสมผลกับหัวข้อการทำโพล สามารถตรวจสอบค่าความถูกต้องได้ทุกแบบสอบถาม ความน่าเชื่อถือของโพลก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณ

ความน่าเชื่อถือในองค์กรที่ทำโพลจึงสำคัญที่สุด หากความน่าเชื่อถือตรงนี้ หายไป หรือมีน้อย หรือว่ามีการตั้งคำถามจากสังคมถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ทำโพล นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกให้เจ้าสำนักโพลทั้งหลายได้รับรู้แล้วว่า

การทำโพลขององค์กรคุณ กำลังมีปัญหาในเรื่องการยอมรับและความน่าเชื่อถือ หากยังดันทุรังทำโพลแบบสั่วๆ ไม่สามารถแจกแจงกระบวนการขั้นตอนการทำโพลให้สังคมเชื่อถือได้ แม้ต่อให้ทำโพลออกมาเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน มันก็จะมีค่าการรับรู้ของคนในสังคมว่าเป็นได้แค่

โพลมั่ว-โพลเถื่อน-โพลการเมือง-โพลรับจ้าง

“ทีมข่าวการเมือง”จึงขอเตือนไปยังโพลทุกสำนักที่จะเปิดเผยผลสำรวจออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสัปดาห์ต่อจากนี้ ว่าขอให้ระมัดระวังในการทำโพลด้วย

ทำไปเถอะ ไม่มีใครห้าม ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือผิดกฎหมาย เพราะการทำโพลก็คือหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ขอเพียงว่า หากทำแล้ว ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอาจมีได้ แต่ต้องให้น้อยที่สุด และหากพบความคาดเคลื่อนของกลุ่มตัวอย่างหรือการตอบแบบสอบถาม ก็ควรแก้ไขก่อนที่จะสรุปผลการสำรวจออกมา

เนื่องจากในสังคมการเมืองเวลานี้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าแม้คนจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เขาไม่ได้เลือกตามผลโพล ประชาชนย่อมมีความคิดเห็นของตัวเองอยู่แล้วในการเลือกผู้ว่าฯกทม. ไม่เกี่ยวกับโพล

แต่คนจำนวนมาก ก็ติดตามผลโพลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตลอด เรื่องว่าผลโพลจะชี้นำการลงคะแนนหรือไปสร้างคะแนนให้กับผู้สมัครบางคนโดยไม่รู้ตัว เพราะมีการเอ่ยชื่อถึงบ่อยๆ โดยเฉพาะพวกที่ได้คะแนนนิยมมาเป็นลำดับต้นๆ เป็นเรื่องของประชาชนแต่ละคนที่อาจมีการรับรู้และตัดสินใจทางการเมืองแตกต่างกันไป

เรื่องว่าผลโพลออกมาชี้นำการลงคะแนนเสียงหรือไม่ มันเป็นเรื่องการรับรู้ภายใน ของแบบนี้ มันวัดกันไม่ได้ บางคนผลโพลอาจมีส่วนสำคัญในการลงคะแนนเสียงเพราะได้ยินชื่อ-เบอร์บ่อยเวลามีข่าวเกี่ยวกับผลโพลออกมา ก็ทำให้จดจำชื่อได้ง่ายกว่าที่ไม่มีชื่อติดผลโพล
ขณะที่ก็มีอีกจำนวนมาก ที่เป็นกลุ่มพวก ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครหรือพวกไม่ได้ชอบพรรคการเมืองไหนเป็นพิเศษไม่ได้เป็นกองเชียร์ผู้สมัครคนไหน ซึ่งมีอยู่ในระดับเกือบ 30-40 เปอร์เซนต์ของคนกทม. คนกลุ่มนี้ จริงๆ แล้วอาจมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ขณะที่ก็จะมีประชากรแฝงอยู่ในกลุ่มนี้ คือยังไม่ได้ตัดสินใจแต่จะมาตัดสินใจเอาในช่วงวันสุดท้ายหรือตอนเข้าคูหาเลือกตั้ง การที่ได้ยินชื่อผู้สมัครบ่อยๆ จากข่าวเรื่องผลโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็น่าจะมีส่วนสำคัญไม่น้อยกับบางคน ปฏิเสธเรื่องนี้กันไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ โพลเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหน มันก็อาจมีผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ได้ไม่มากก็น้อย ระดับหนึ่งแน่นอน

ถึงได้บอกว่า ทุกสำนักโพล ช่วงโค้งสุดท้ายสองอาทิตย์ก่อนวันที่ 3 มี.ค. 56 ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการทำโพล ทั้งการตั้งคำถามในแบบสำรวจหรือการเลือกกลุ่มตัวอย่างมาสอบถาม เพื่อไม่ให้สำนักตัวเองถูกวิจารณ์ว่า

ทำโพลแบบไม่เป็นกลาง ชี้นำ หรือทำขึ้นเพื่อสร้างกระแสช่วยเหลือผู้สมัครบางคน

หากโพลสำนักไหน มีข้อกังขาจากสังคมไปเรื่อยๆ มันย่อมไม่เป็นผลดีในระยะยาวแน่นอน แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะจบไปแล้ว เนื่องจากหากสังคมส่วนใหญ่รับไม่ได้กับการทำโพลของบางสำนักที่ขาดความน่าเชื่อถือ ก็อาจมีการแสดงออกบางอย่างออกมาก็ได้

เหมือนกับที่มานิจ สุขสมจิตรสื่อมวลชนอาวุโสและอดีตอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ทิ้งเก้าอี้นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตที่อยู่มาแล้วสองสมัยและเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมาแล้วร่วม 30 ปี

จากเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้บริหารสถาบันเอาชื่อองค์กร ไปรับงานรัฐบาลชุดนี้คือ ไปร่วมรับจัดเวทีสานเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะได้งบมากโข รวมถึงการไม่เห็นด้วยกับผลโพล ของสวนดุสิตโพล ที่ออกมาระยะหลังแล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะอาจารย์มานิจที่ผู้คนในวงการสื่อเรียกขาน มีจุดยืนว่าการทำโพล ต้องมีจริยธรรม ทำตรงไปตรงมา แต่เมื่อเกิดเสียงวิจารณ์ตามมาจากการทำโพลหลายครั้งในองค์กรที่ตัวเองเป็นหนึ่งในบอร์ดผู้บริหาร จึงขอลาออกดีกว่า

แม้การจากกันของอาจารย์มานิจกับทางม.สถาบันราชภัฏสวนดุสิต จะเป็นการจากกันด้วยดี ไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรกันแค่ความเห็นบางเรื่องไปด้วยกันไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้สังคมตั้งคำถามกับการทำโพลบางสำนักมากขึ้นแน่นอน

การพิสูจน์ที่ดีที่สุด ว่าสำนักไหนทำโพลน่าเชื่อถือหรือว่าทำโพลมั่วเชื่อถือไม่ได้ ก็คือการรอผลเลือกตั้ง 3 มี.ค.นี้ แล้วเอามาย้อนดูกับผลโพลทุกสำนักที่ออกมาก่อนหน้า 3 มี.ค.

หากพล.ต.อ.พงศพัศ ชนะเลือกตั้ง ก็ถือว่าโพลมีความแม่นยำเชื่อถือได้ ครั้นหากตรงกันข้าม คงได้เห็น มีคนหน้าแหกกันหลายคนมาก
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
กำลังโหลดความคิดเห็น