xs
xsm
sm
md
lg

กกต.รับประชามติเสี่ยงถูกฟ้อง แนะ รบ.แก้ พ.ร.ป.ปัญหา-พร้อมสอบคุณสมบัติ “จูดี้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง(แฟ้มภาพ)
“เจ๊สด” เผย กกต.โยนที่ปรึกษา กม.ดู 5 ประเด็นประชามติ รบ. รับหนักใจใช้สิทธิวันเดียวถ้ารวมนอกประเทศ ชี้ 120 ประชามติต้องเสร็จ หากถูกยื่นศาล ปค.ต้องหยุดหรือลุยต่อ เหตุ กม.ไม่รับรองแบบเลือกตั้ง ตัดพ้อใกล้หมดวาระเสี่ยงถูกฟ้องม.157 ชดใช้ค่าเสียหายแบบชุดก่อน จี้แก้ พ.ร.ป.ก่อนลุย แจงรอดูหลักฐานผู้ร้อง ก่อนสอบ “พงศพัศ” ปมขโมยของที่สหรัฐฯ กับเปลี่ยนชื่อติดยศ

วันนี้ (15 ม.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบ 5 ประเด็นที่คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมาย และวิธีการออกเสียงประชามติของรัฐบาล ขอความเห็นจาก กกต.ตามที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.เสนอ และเห็นว่าเพื่อให้เกิดความรอบคอบจึงมีมติให้นำทั้ง 5 ประเด็นส่งให้คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กกต.เห็นว่าทั้ง 5 ประเด็นที่รัฐบาลขอหารือนั้นน่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่ กกต. โดยในส่วนของ กกต.ที่เห็นว่าน่าหนักใจหากจะมีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ก็คือกรณีมาตรา 6 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กำหนดให้วันออกเสียงต้องเป็นวันเดียวกันทุกเขตออกเสียง ขณะเดียวกันก็กำหนดให้คนไทยที่ออกนอกราชอาณาจักรสามารถออกเสียงได้ ซึ่งการจะกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกันจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การกำหนดให้ กกต.ต้องดำเนินการในเรื่องการจัดทำประชามติให้แล้วเสร็จไม่เกิน 120 วันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียง ตามข้อเท็จจริงหากระหว่าง กกต.ดำเนินการจัดทำประชามติอยู่แล้วมีการยื่นร้องต่อศาลปกครองว่าการทำประชามติไม่ชอบของให้สั่งเพิกถอนการดำเนินการ และขอว่าระหว่างศาลพิจารณาให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยการสั่งระงับการจัดทำประชามติไว้ก่อน กกต.ต้องปฏิบัติอย่างไร

“ถามว่า กกต.จะต้องหยุดการจัดทำประชามติตามคำสั่งศาลปกครองไว้ก่อน หรือว่าต้องเดินหน้าต่อเพราะว่ากฎหมายกำหนดให้ต้องแล้วเสร็จใน 120 วัน และถ้าหากศาลปกครองใช้เวลาพิจารณาเกินกว่า 120 วัน จะทำอย่างไร หรือในเรื่องที่กำหนดให้ต้องจัดการออกเสียงในวันเดียวกันทุกเขต ในต่างประเทศจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาในกรณีการเลือกตั้ง ในต่างประเทศก็ไม่ได้หย่อนบัตรจริงในวันที่คนไทยหย่อนบัตร แต่ดำเนินการได้เพราะมีกฎหมายรองรับให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ แต่สำหรับการออกเสียงประชามติกฎหมายไม่ได้เขียนรองรับไว้ให้ดำเนินการได้ก่อน ดังนั้นไม่ว่ากกต.จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็เสี่ยงกับการถูกเล่นงานตามมาตรา 157 ทั้งสิ้น อย่าลืมว่าในอดีตที่มีปรับเรื่องการหันคูหาเลือกตั้งทำให้คนภายนอกเห็นการลงคะแนน จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกร้องให้เป็นโมฆะ ที่สุดก็มีการฟ้องว่ากกต.ชุดที่แล้วต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับค่าเสียหายในจัดการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ชุดนี้ก็ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่เรื่องนี้มันเหมือนทำให้เราเดินเข้าสู่พงหนาม ทั้งที่พวกเราเหลือเวลาการดำรงตำแหน่ง กกต.อีกไม่เท่าไร” นางสดศรีกล่าว

นางสดศรียังกล่าวด้วยว่า กกต.จึงเห็นว่าหากรัฐบาลจะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงก็ควรจะมีการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการทำประชามติในเรื่องที่เป็นปัญหานี้เสียก่อน โดยใช้ช่วงเวลา 2 เดือนที่รัฐบาลจะให้สถาบันการศึกษาทำการศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินการให้แล้วเสร็จ

นางสดศรีกล่าวต่อถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นขอตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ว่าที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ที่มีประวัติเคยติดคุกคดีอาญาฐานขโมยวิทยุที่สหรัฐอเมริกา และเคยต้องคดีเปลี่ยนชื่อเพื่อขอพระราชทานติดยศพลตรีว่า ยังไม่มีการยื่นคำร้องเข้ามา ซึ่งกรณีนี้เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น เบื้องต้นหากมีการยื่นมาที่ กกต.กลางก็อาจจะต้องส่งเรื่องไปยัง กกต.กทม.เพราะตามกฎหมายอำนาจการพิจารณาคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นของ ผอ.กกต.กทม. แต่ทั้งนี้กฎหมายก็ไม่ได้ตัดอำนาจของ กกต.กลาง ซึ่งหาก กกต.กทม.ก็อาจจะส่งเรื่องมาหารือ กกต.กลางได้

“หากมีการยื่นเรื่องเข้ามาก็ต้องดูว่าผู้ยื่นมีหลักฐานอะไรบ้าง คำพิพากษาที่อ้างเป็นของศาลใด มีคำตัดสินแล้วหรือยัง และที่สำคัญเป็นศาลต่างประเทศจะผลผูกพันตามกฎหมายไทยหรือไม่ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น กกต.กลางจะต้องเป็นผู้พิจารณา” นางสดศรีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น