xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เถ้าแก่เคเบิลหวั่นซีทีเอชฮุบ ตั้ง”สมัชชา”งัดข้อ”วิชัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบคือสถานภาพของ บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีทีเอช ในยามนี้

แม้ธุรกิจเพิ่งเริ่มต้นด้วยความสวยงามจากการคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไทยนาน 3 ฤดูกาลเริ่มฤดูกาลนี้ 2013/2014 หักหน้าค่ายผู้รับสิทธิ์เดิมอย่าง บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ไปแบบหักปากกาเซียนถ้วนหน้า

ทว่า วันนี้ ซีทีเอช ต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นของจริงที่ถาโถมเข้าใส่อย่างรุนแรงและหักหน่วง และที่สำคัญ หากแก้ไขไม่ได้ แผนงานต่างๆที่ซีทีเอช วาดไว้อย่างสวยหรูนั้น ต้องมีอันสะดุดแน่นอน

ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวเหมือนกันว่า ซีทีเอช ยังไม่สามารถหาเงินเพื่อมาโปะค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกที่แพงหูฉี่ถึงระดับ 10,000 ล้านบาทได้ แต่ภายหลังก็สามารถเคลียร์ภาพลบนั้นได้ เมื่อสามารถกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพได้แล้วส่วนหนึ่งกว่าหมื่นล้านบาทไม่นานมานี้

แต่ปัญหาใหญ่สุดวินาทีนี้คือ การงัดข้อของกลุ่มสมาชิกลุ่มหนึ่งของสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ซึ่งก็คือฐานเดิมของบริษัทซีทีเอชนั่นเอง ที่ฉุกคิดได้ว่า อนาคตของธุรกิจที่สร้างมากับมือของตัวเอง จะถูกซีทีเอช ภายใต้การบริหารของผู้ถือหุ้นซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในซีทีเอชคือ นายวิชัย ทองแตง ฮุบไปทั้งหมดหรือไม่ กับโมเดลใหม่ที่ซีทีเอชเสนอออกมา

กล่าวคือ หลังจากที่ทางซีทีเอชได้ทำ บันทึกความเข้าใจเบื้องต้นหรือ MOU ระหว่างบริษัทกับสมาชิกในสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เมื่อช่วง 3 เดือนที่แล้ว หรือหลังจากที่ได้นายวิชัย ทองแตง เข้ามาถือหุ้นในซีทีเอช และนั่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ซีทีเอช ซึ่งสาระสำคัญคือเพื่อต้องการรวมตัวกับสมาชิกเคเบิลทีวีทั่วประเทศ สู่แพลตฟอร์มเดียว คือ ซีทีเอช ภายใต้นโนบาย 3 ข้อ คือ 1. วัน บิลลิ่ง 2. วัน แพลตฟอร์ม และ 3. วัน เน็ตเวิร์ก แต่เป็นMOU ที่ค่อนข้างหละหลวมยังไม่เคลียร์และไม่น่าไว้วางใจเท่าที่ควร

กลุ่มสมาคมฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับโมเดลใหม่ของซีทีเอช ภายใต้การนำของ 4 โต้โผใหญ่คือ นายณัฎฐชัย อักษรดิษฐ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม.เอส.เอส. เคเบิลทีวี จำกัด, นายภิญโญ แก่นยะกูล ผู้บริหาร หาดใหญ่เคเบิล 93, นายกัมปนาท ตันติวิท ผู้บริหาร บริษัท พี เอ บิสสิเนส ภูเก็ต จำกัด และนายคำรณ ดวงปัญญาสว่าง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คำรณสื่อสาร ได้ดึงสมาชิกฯที่ไม่เห็นด้วยมารวมตัวกันจากเคเบิลท้องถิ่นทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศรวมกว่า 150 ราย จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีทั่วประเทศราว 300 ราย จัดตั้งเป็น สมัชชาเครือข่ายผู้ประกอบการ “เคเบิลยั่งยืน” - TheAssembly of Cable TV Operators (A.C.O.-เอคโค่) เปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีการจัดเสวนาภายใต้ชื่อหัวข้อ “ติดอาวุธทางปัญญา ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น - Digital TV ไม่ยากและไม่แพง อย่างที่คิด” ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ (วิภาวดี) ที่สำคัญมีนักกฎหมายมาให้ข้อมูลด้วย หลังจากที่เคยจัดมาแล้วในต่างจังหวัด

บทสรุปของการเสวนาในวันนั้น การเซ็น MOU ระหว่างซีทีเอชกับสมาชิกฯที่เกิดขึ้นนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวีแบบยั่งยืนอย่างที่ผู้ประกอบการต้องการ มาเป็นแบบไม่ยั่งยืนโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเป็น MOU ที่มีลักษณะของคำมั่นสัญญาที่จะมีผลข้อผูกมัดในอนาคตตามมา

ที่สำคัญซีทีเอชกำลังเล่นเกินบทบาท เกินหน้าที่ ที่สมาชิกฯเหล่านี้มองว่าควรจะเป็นด้วย

เนื่องจากซีทีเอชให้รายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ กับสมาชิกแตกต่างกันไม่เหมือนกัน ทำให้สมาชิกฯเกิดความกังขา จากเดิมที่เริ่มจากการเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ นำเสนอคอนเทนต์ให้แต่แบ่งรายได้กันกับสมาชิกที่เข้าร่วมเอ็มโอยู จะคิดประมาณ 15% ของราคาค่าสมาชิกแต่ละรายต่อเดือน แล้วจากนั้นก็จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องของเทคนิค อุปกรณ์ และเข้ามาซื้อหุ้น

กระทั่งล่าสุดร้ายแรงมากถึงขั้นจะขอเข้ามาซื้อกิจการของบริษัทผู้ประกอบการเคเบิลในอัตราส่วนถึง 60% โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะเข้าถึงฐานผู้ชมให้มากที่สุด เพราะรวมแล้วสมาชิกทั้งหมดของสมาคมฯน่าจะมีฐานผู้ชมไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านราย

ทั้งนี้สามารถแบ่งกลุ่มสมาชิกฯของสมาคมฯออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1. กลุ่มที่พร้อมเซ็นสัญญา MOU กับทางซีทีเอชแบบไม่มีข้อสงสัยหรือข้อแม้ใดๆ และพร้อมดำเนินงานตามทุกทาง 25% 2.กลุ่มที่เซ็นสัญญา MOU กับซีทีเอชไปแล้ว และคิดว่าน่าจะบริหารเองได้ด้วย 25% และ 3. กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการเซ็นสัญญา MOU กับทางซีทีเอช และพร้อมดำเนินธุรกิจเอง

ว่ากันว่าน่าจะมีผู้ประกอบการสมาชิกฯที่ยังไม่เห็นด้วยและยังไม่เซ็นเอ็มโอยูกับซีทีเอชประมาณ 100 กว่าราย

“ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นบางรายมีความกังวลถึงเงื่อนไขที่ผู้ร่วมโครงข่ายต้องส่งรายชื่อและที่อยู่สมาชิกทุกรายไปให้กับซีทีเอช เท่ากับเป็นการยกฐานข้อมูลลูกค้าให้กับซีทีเอช ทั้งยังวิตกว่าหากร่วมเป็นโครงข่ายแล้วจะยังคงฐานะเป็นเจ้าของกิจการอยู่หรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุสำคัญให้กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นบางรายมีการรวมตัวกัน โดยยังคงต้องการดำเนินธุรกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจอย่างที่ผ่านมา ภายใต้การสร้างพันธมิตรให้แข็งแกร่ง “ แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ทางฝ่ายสมาชิกฯกลุ่มที่ยังกังขาซีทีเอช ได้รวมตัวกันเป็นสมัชชาแล้วก็มีการยื่นข้อเสนอออกมาด้วย โดยย้ำว่า ซีทีเอช ต้องทำตัวเป็นคอนเท้นต์โพรไวเดอร์ จึงจะเป็นบทบาทที่เหมาะสมที่สุด และไม่ควรทำตัวเป็นเคเบิลโอเปอเรเตอร์มาแข่งกับสมาชิกฯสมาคม

แนวทางหลักดังกล่าวนี้ นายกัมปนาท ตันติวิท ผู้บริหาร บริษัท พี เอ บิสสิเนส ภูเก็ต จำกัด และนายคำรณ ดวงปัญญาสว่าง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คำรณสื่อสาร ตัวแทนของสมัชชา มั่นใจว่าจะทำให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี และวินวินด้วยกันทุกฝ่าย

เพราะผู้ประกอบการมองว่าคอนเทนต์เป็นเรื่องที่สำคัญ และไม่ต้องการให้คอนเทนต์ไปผูกขาดอยู่ที่ใครรายเดียว ต้องการที่จะสามารถเลือกบริหารจัดการคอนเทนต์เข้ามาสู่แพลตฟอร์มของตนเองได้ ที่สำคัญพรีเมียร์ลีกของซีทีอเช ไม่ใช่คอนเทนต์หลักที่สมาชิกเคเบิลท้องถิ่นต้องการมากไปกว่าโลคอลคอนเทนต์ ที่สำคัญผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศไทยก็มีมากมาย หลากหลาย และล้วนแต่เป็นรายใหญ่ที่ต้องการจะนำเสนอให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลอยู่แล้ว เพราะแค่ในวันเปิดตัวสมัชชาเป็นทางการในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในงานดังกล่าวนี้ ก็มีคอนเทนต์โพรไวเดอร์มานำเสนอคอนเทนต์ของตัวเองจำนวนมากและล้วนแต่เป็นค่ายใหญ่เชื่อได้ในฝีมือและผลงานทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น แกรมมี่นำเสนอ 30 ช่อง, อาร์เอส นำเสนอ 5 ช่อง, ทรูวิชั่นส์ นำเสนอ 30 ช่อง, ทริปเปิ้ลที เน็ตเวิร์ค นำเสนอ 13 ช่อง, เน็กซ์สเต็ป เนอ 6 ช่อง, ดีทีวี นำเสนอ 3 ช่อง, แสนสุข เน็ตเวิร์ค นำเสนอ 4 ช่อง และโรสมีเดียนำเสนอ 2 ช่องเป็นต้น

และยังมีการนำเสนอข้อมูลการลงทุนสำหรับการสร้างห้องส่งระบบดิจิตอลด้วย ซึ่งลงทุนเพียงแค่ 800,000 บาทต่อรายเท่านั้นก็สามารถสร้างแพลทฟอร์มเคเบิลดิจิตอลได้แล้ว และมีการเประเมินกันว่า งบประมาณการลงทุนโดยรวมทั้งหมดจากผู้ประกอบการทั้งหมดที่เข้าร่วมงานในวันนั้นคาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 5,000 กว่าล้านบาทเพื่อการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ตาม นายวิชิต เอื้ออารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆแล้วสมาชิกของสมาคมฯส่วนใหญ่เองก็มีความเห็นด้วยกับMOU ที่ซีทีเอชร่างขึ้นมา ภายใต้นโนบาย 3 ข้อ คือ 1. วัน บิลลิ่ง 2. วัน แพลตฟอร์ม และ 3. วัน เน็ตเวิร์ก แต่ยอมรับว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ยังคงกังวลต่อร่างบางข้อที่คิดว่าอาจจะยังไม่ชัดเจนหรือหละหลวมอยู่ เช่น 1. เรื่องการที่สมาชิกฯต้องโอนฐานลูกค้าทั้งหมดให้ซีทีเอช โดยซีทีเอชจะขอเรียกเก็บบิลเอง ผลเสียคือสมาชิกสงสัยว่าลูกค้าเหล่านี้จะกลายมาเป็นลูกค้าของซีทีเอชเลยหรือไม่ แล้วพวกเขาจะทำอย่างไรต่อไป

2. สมาชิกที่ใช้ระบบโครงข่ายของซีทีเอช จะต้องให้ฐานข้อมูลลูกค้าและอื่นๆทั้งหมดแก่ซีทีเอช สมาชิกกังวลว่าจะกลายมาเป็นการถูกยึดธุรกิจไปหรือไม่ และ 3. อนาคตซีทีเอชจะมีการโยงสายเคเบิลอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วสายเคเบิลเส้นเดิมของผู้ประกอบการยังจะใช้อยู่หรือไม่ แล้วอนาคตพวกเขาจะเหลืออะไร

ทั้งนี้ล่าสุดนายวิชิต เอื้ออารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ดังนั้น ทางซีทีเอชพร้อมที่จะเปิดรับกว้างรับฟังข้อเสนอของสมาชิกกลุ่มที่ยังไม่เซ็น MOU แบบเคสบายเคส เพื่อสร้างความชัดเจนรวมทั้งทราบความต้องการทั้งหมด รวมทั้งจะดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ภายใต้เงื่อนไขและผลประโยชน์ที่จะได้รับแตกต่างจากสมาชิกที่ได้เซ็นสัญญา MOU กับทางซีทีเอชไปก่อนหน้านี้แล้ว

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เรื่องของความไว้วางใจ ที่ทั้งสองฝ่ายยังมีไม่เพียงพอ เพราะว่าเกิดจากการสื่อสารที่เข้าใจกันไปคนละแนวทาง บวกกับการทำงานของซีทีเอชที่ก่อตั้งขึ้นมาได้เพียงไม่ถึงปี ทำให้ทุกอย่างดูรวดเร็วและไม่แข็งแกร่งพอ ขณะที่กรรมการในสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กว่าครึ่งก็เอนเอียงไปกับทางซีทีเอชค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดช่องว่างและปัญหาตามมา แต่ทั้งนี้มองว่าหากได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น มีการชี้แจงรายละเอียดและเจตนารมณ์ของผู้บริหารของนายวิชัย ทองแตงแล้ว เชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจและนำไปสู่เคเบิลทีวีบนแพลตฟอร์มเดียวกันแบบไม่มีข้อกังขาได้” นายวิชิตกล่าว

จากนี้ไปคงต้อจับตามองชนิดไม่กระพริบว่า ซีทีเอช จะแก้เกมอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึนนี้

ขณะที่กลุ่มสมัชชาฯก็ต้องไหวตัวให้ทันต่อกลยุทธ์ในการรุกต่างๆของซีทีเอชให้ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น