xs
xsm
sm
md
lg

“เคเบิลภูธร” งัดข้อ “ซีทีเอช” ค้านโมเดลใหม่หวั่นถูกกลืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น รวมตัวกันหาทางป้องกัน MOU หลังจับมือกับทางซีทีเอช เรียกร้องให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ยันไม่มีการจัดตั้งสมาคมใหม่ขึ้นมาแน่นอน ฟากซีทีเอชยอมอ่อนข้อทำสัญญาแนบท้ายลดผลประโยชน์บางส่วนลง หวังจบปัญหาผนึกเคเบิลท้องถิ่นทั่วไทยสู่เพย์ทีวีระดับประเทศ

นายกัมปนาท ตันติวิท เจ้าของบริษัท พี.เอ.บิสสิเนส จำกัด ผู้ประกอบเคเบิลทีวี จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า งานสัมมนาติดอาวุธทางปัญญาผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น Digital Headend ไม่ยากและไม่แพงอย่างที่คิด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เป็นเพียงการสัมมนาเชิงวิชาการให้แก่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นให้ได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นข้อควรปฏิบัติหลังจากได้รับใบอนุญาตฯ, ความเข้าใจเกี่ยวกับ MOU และข้อผูกพันทางกฎหมาย, ความรู้เรื่อง เทคนิค และค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการทำห้องส่งดิจิตอล รวมถึงการหารายได้จากค่าโฆษณาในช่องรายการท้องถิ่นของแต่ละสถานี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 60-70 รายครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เชื่อว่าจะมีทั้งรายชื่อที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของทางสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักใน บริษัทเคเบิลไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือซีทีเอช แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เห็นด้วยกับโมเดลการดำเนินธุรกิจของซีทีเอช

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า สืบเนื่องจากภายหลังที่ซีทีเอชต้องการเดินหน้าลงทุนธุรกิจบรอดแบนด์ ดิจิตอลเต็มรูปแบบในปีนี้ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น 350 รายทั่วประเทศที่มีฐานสมาชิกราว 3.5 ล้านราย ให้เป็นโครงข่ายเดียว ในนาม “ซีทีเอช” ส่งผลให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นบางรายมีความกังวลถึงเงื่อนไขที่ผู้ร่วมโครงข่ายต้องส่งรายชื่อและที่อยู่สมาชิกทุกรายไปให้กับซีทีเอช เท่ากับเป็นการยกฐานข้อมูลลูกค้าให้กับซีทีเอช ทั้งยังวิตกว่าหากร่วมเป็นโครงข่ายแล้วจะยังคงฐานะเป็นเจ้าของกิจการอยู่หรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุสำคัญให้กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นบางรายมีการรวมตัวกัน โดยยังคงต้องการดำเนินธุรกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจอย่างที่ผ่านมา ภายใต้การสร้างพันธมิตรให้แข็งแกร่ง

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ภายในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ มีกลุ่มพันธมิตรทั้งผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น ผู้ประกอบการจานรับสัญญาณดาวเทียม และผู้ผลิตคอนเทนต์ที่สามารถรับชมได้เฉพาะจานรับสัญญาณบางแบรนด์เท่านั้นมาร่วมงานนี้หลายราย เช่น แกรมมี่, ทรูวิชั่นส์, อาร์เอส, ทีทีที เน็ตเวิร์ค, เน็กท์สเต็ป, จานเหลือง ดีทีวี, มีเดีย แชนแนล, กันตนา, เวิร์คพ้อยท์ ทีวี, เดลินิวส์ ทีวี, กรุงเทพธุรกิจ, ซ่า เน็ตเวิร์ค, TCCTV, FRANCE TV เป็นต้น

ส่วนที่สงสัยกันว่าน่าจะมีนัยสำคัญตามมา หรืออาจจะมีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาใหม่นั้น นายกัมปนาทกล่าวชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ว่า จากนโยบายของซีทีเอชที่ต้องการรวมเป็นโครงข่ายเดียวนั้น ยอมรับว่ามีสมาชิกที่ยอมรับได้และไม่เห็นด้วย และตนก็เป็นเพียงหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนสำคัญของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องการจัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทางซีทีเอชได้มองเห็นแนวทางการดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นแบบยั่งยืนต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้จะไม่มีการนำมาซึ่งการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน

ซีทีเอชยอมอ่อนข้อให้

นายวิชิต เอื้ออารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานสัมมนาที่จัดขึ้นนี้ ประเด็นอยู่ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ MOU ที่ทางซีทีเอชร่างขึ้นมา โดยต้องการหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคตกับการจับมือกับทางซีทีเอชภายใต้ MOU ดังกล่าว หรือถ้าไม่ได้ร่วมงานกับซีทีเอชจะมีทางออกอย่างไรต่อไป

“สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ MOU ที่ทางซีทีเอชร่างขึ้นมา ภายใต้นโนบาย 3 ข้อ คือ 1. วัน บิลลิ่ง 2. วัน แพลตฟอร์ม และ 3. วัน เน็ตเวิร์ก แต่ยังมีความกังวลต่อร่างกฎหมายบางข้อที่มองว่ามีความหละหลวมอยู่ เช่น 1. ต้องโอนฐานลูกค้าทั้งหมดให้ซีทีเอช โดยซีทีเอชจะขอเรียกเก็บบิลเอง ผลเสียคือสมาชิกสงสัยว่าลูกค้าเหล่านี้จะกลายมาเป็นลูกค้าของซีทีเอชเลยหรือไม่ แล้วพวกเขาจะทำอย่างไรต่อไป 2. สมาชิกที่ใช้ระบบโครงข่ายของซีทีเอช จะต้องให้ฐานข้อมูลลูกค้าและอื่นๆทั้งหมดแก่ซีทีเอช สมาชิกกังวลว่าจะกลายมาเป็นการถูกยึดธุรกิจไปหรือไม่ และ 3. อนาคตซีทีเอชจะมีการโยงสายเคเบิลอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วสายเคเบิลเส้นเดิมของผู้ประกอบการยังจะใช้อยู่หรือไม่ แล้วอนาคตพวกเขาจะเหลืออะไร”

ข้อกังวลใจเหล่านี้ทำให้กลุ่มสมาชิกที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งคาดว่ายังมีไม่ต่ำกว่า 100 ราย ที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา MOU กับทางซีทีเอช ต้องการเรียกร้องให้ซีทีเอชมีสัญญาแนบท้ายขึ้นมาอีก 1 ฉบับ ซึ่งขณะนี้ทางซีทีเอชเองก็ได้มีการปรึกษาหารือกันภายในแล้วว่าจะยอมให้มีสัญญาแนบท้าย MOU ขึ้นมา แต่ทั้งนี้ในแง่ของประโยชน์ที่จะได้รับก็จะต้องน้อยกว่าสมาชิกที่เซ็น MOU โดยไม่มีสัญญาแนบท้ายเช่นกัน คาดว่าภายหลังจากวันที่ 19 ก.พ.นี้ จะมีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการต่อไป

“สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของซีทีเอช เพียงแต่ต้องการให้ค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีความกังวลต่อธุรกิจที่สร้างกันมา ว่าจะถูกฮุบไปเลยหรือไม่ ดังนั้นหากสามารถค่อยเป็นค่อยไปได้ก็ยินดี ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับนโยบายของซีทีเอช เพราะได้มีการพูดคุยกับนายวิชัย ทองแตง โดยตรง และเข้าใจในเจตนาการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น สมาชิกอีกหลายรายที่ไม่ได้คุยกันโดยตรงจึงต้องมีความกังวลในการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา” นายวิชิตกล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น