xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พฤติกรรมฉาวของ”กิตติรัตน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จดหมายของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ถึงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือถึง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

นับเป็นความท้าทาย ต่อ “ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ” อีกครั้ง

เกิดคำถามที่สำคัญอีกครั้งว่า ตามกฎหมายแล้ว คุณกิตติรัตน์ สามารถทำหนังสือได้หรือไม่

ที่สำคัญ หนังสือดังกล่าว มีนัยถึง “การแทรกแซงแบงก์ชาติของรมว.คลัง”

แต่กิตติรัตน์พยายามเลี่ยงบาลี โดยไม่ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยตรง แต่กลับทำหนังสือถึง “ประธานคณะกรรมการธปท.”

หรือทำหนังสือถึง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร คนสายพันธุ์เดียวกัน

เสมือนหนึ่ง ชงเองกินเอง

นั่นจึงทำให้ ดร.วีรพงษ์ ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า จะทำหนังสือตอบกลับด้วยตัวเอง

แปลไทยเป็นไทย ก็คือ เนื้อหาในหนังสือไม่ใช่มติคณะกรรมการ ธปท. ทำให้ไม่เข้าข่ายการแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติจากการเมือง

แม้จะถูก “ประนาม” จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่เว้น “ดร.ทนง พิทยะ” อดีต รมว.คลัง แต่กิตติรัตน์ยังดันทุรังกดดันให้แบงก์ชาติ ลดอัตราดอกเบี้ย

เขาบอกว่าการดูแลเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาจำนวนมากจนส่งผลกระทบให้เงินบาทแข็งค่านั้น ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองในเรื่องหลักการเกี่ยวกับการดูแลในระยะยาวเหมือนกัน เพื่อไม่ให้ปริมาณเงินทุนในสกุลต่างๆ ทั่วโลกไหลเข้ามาในประเทศไทย เพราะดอกเบี้ยตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นบางประเทศที่มีปัญหาภาวะเศรษฐกิจ จึงเกิดการขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงต้องมีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อดึงเงินทุนเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจของตัวเอง

“ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง อยู่ในฐานะเกินดุลการค้า และในอนาคตมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้ยอดนำเข้าสินค้าทุนสูงจนนำไปสู่การขาดดุลการค้าบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณในการขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งจากนี้ไปเป็นหน้าที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาเรื่องดังกล่าว”

ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จึงถูกจับตาคณะกรรมการจะลดอัตราดอกเบี้ยตาม “ข้อเสนอ” ของรมว.คลังหรือไม่ ?

แต่ข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ไม่มีหลักการทางวิชาการ และทางปฏิบัติรองรับแต่อย่างใด

แปลกันตรงๆก็คือ “มั่วสุดขีด”

อันที่จริงในที่ประชุมทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ น่าจะลองเชิญกิตติรัตน์ ไปบรรยายเกี่ยวกับ "“บทบาทของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ควรจะเป็นสักครั้ง”

ไม่แน่ว่า กิตติรัตน์อาจจะสร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยข้อเสนอทางทฤษฎีอัตราดอกเบี้ย และนโยบายการเงินที่ไม่มีมนุษย์คนใดค้นพบมาก่อน 

เนื่องจาก “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ถือเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น เพราะมีข้อจำกัดอย่างมากมาย

ประวัติศาสตร์ และทฤษฎีทางด้านการเงินบ่งบอกไว้อย่างละเอียด

แต่สำหรับในระยะยาวแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อระดับราคา และไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย

ความแตกต่างระหว่าง “วิธีคิด” ของกิตติรัตน์ กับธปท. จึงอยู่ที่ใครมองภาวะเศรษฐกิจได้ยาวกว่ากัน

คนสายตาสั้นแบบกิตติรัตน์ ก็อยากกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวในรัฐบาลชุดนี้ ด้วยการกดดันให้นโยบายการเงิน

คนสายตายาวแบบ ธปท. ก็เห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผักชีโรยหน้า จะเกิดผลเสียต่อกระเป๋าสตางค์ของคนไทยทุกคนในระยะยาว เพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อ

รอยหยักในสมอง และความหวังดีต่อคนไทยของทั้งสองแบบ จึงแตกต่างกัน

ประเด็นสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่ออะไรบ้าง จึงทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อได้ โดยไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลต่อ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากของธนาคารพาณชย์ ทั้งทางด้านอัตราดอกเบี้ย และสินเชื่อ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินทรัพย์ การคาดการณ์

นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ส่งผลต่อ “ค่าเงินบาท” อย่างที่กิตติรัตน์เข้าใจแบบตื้นๆ แต่อย่างใด

ในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" กิตติรัตน์ ใช้เวทีดังกล่าวโจมตีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธปท. ว่า “ในระยะสั้นที่ผ่านมานี้การแข็งค่าของเงินบาท มีสาเหตุสำคัญมาจากเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากมีความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศไว้สูง จนทำให้เกิดการเก็งกำไร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.75% นั้น มีความแตกต่างที่ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุน เพราะถ้าดอกเบี้ยไม่ต่างกันมาก เงินจากต่างประเทศคงไม่ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้มากอย่างที่ผ่านมา”

“ หากจะทบทวนนโยบายนี้ จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ขอฝากคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) และธปท.พิจารณาเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งฝากเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายสูง กว่า 3%” กิตติรัตน์ฝากการบ้าน

แต่ตราบใดที่ไทยยังใช้ นโยบายการเงินตามกรอบอัตราเงินเฟ้อ กิตติรัตน์ ฝากไว้ ก็เตรียมกลับมารับคืนไปด้วย

ที่สำคัญ ผลของอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญต่อภาวะการลงทุน การบริโภค หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งจะผลต่อ “อัตราเงินเฟ้อ” ของประเทศโดยรวม

จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมธปท.ดำเนินนโยบายการเงิน ตามกรอบเงินเฟ้อ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดร.ศิริ การเจริญดี อธิบายว่า “ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์แล้ว มองว่าปัจจัยต่างๆล้วนมีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยน หรือเงินทุนเคลื่อนย้าย ดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อ หรือแม้แต่ดอกเบี้ยกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการพิจารณาคงต้องดูครอบคลุมทั้งหมด”

คนที่อธิบายได้ตรงประเด็น และชัดเจนมากที่สุด โดยไม่อ้อมค้อมก็คือ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประคณะเศรษฐศาสตร์

“ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับเงินทุนเคลื่อนย้ายมีบ้าง แต่ไม่มากนัก และการที่จะทำให้เห็นผลอย่างชัดเจน ก็จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมากๆ เพียงแต่ถามว่า จะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร เพราะมีผลข้างเคียงที่ตามมาด้วย”

นั่นคือ หากลดอัตราดอกเบี้ยแล้วทำให้ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปจากกรอบที่แบงก์ชาติวางไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

คนไทยทั้งประเทศก็จะเดือดร้อน

กิตติรัตน์ ยังไม่ยอมศิโรราบในแง่ของอัตราดอกเบี้ย เขาพยายามโยงให้เห็นความจำเป็นว่า จะต้องอัตราดอกเบี้ย เพราะแบงก์ชาติขาดทุนสะสมจำนวนมาก

"การออกพันธบัตร ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนผู้ถือพันธบัตรไว้แทนและส่งเงินมาให้ธปท.นำไปเก็บรักษาก็มีดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยสูงต้นทุนก็สูง ในขณะที่ผลตอบแทนจากเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในความดูแลนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเกิดส่วนต่าง ซึ่งปี 55 มีส่วนต่างที่เป็นผลขาดทุนเกิน 1 แสนล้านบาท ปีก่อนนั้นก็มีแต่น้อยกว่า สิ่งที่ผมกังวลคือ เมื่อมีนานขึ้นอีกปี และมีจำนวนมากขึ้น ผลขาดทุนสะสมจะมากขึ้นตามลำดับ” รมว.คลัง พยากรณ์เป็นฉากๆ

โดยท้ายที่สุดแล้ว ก็เพื่อให้ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงประการ เพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยตรง !!


วีรพงษ์ รามางกูร
กำลังโหลดความคิดเห็น