xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” คาด กนง. หั่น ดบ. ยุติความขัดแย้ง “โต้ง” ส่งสัญญาณบีบซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์  ณ  ระนอง
“ธีระชัย” คาดประชุม กนง. วันที่ 20 ก.พ.นี้ อาจปรับลด ดบ. นโยบาย 0.25% เพื่อยุติความขัดแย้ง “คลัง-ธปท.” แนะเปิดเผยชื่อคนลงมติ แสดงความกล้าหาญ และรักษาประโยชน์ของชาติ “กิตติรัตน์” ส่งสัญญาณซ้ำอีกรอบ หวังกดดัน ธปท. ปรับลด ดบ. เพื่อสกัดเงินไหลเข้า

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า ในกลุ่มเพื่อนของผม เขามีการพนันกันเล็กๆ โดยต่อรองกันว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 20 ก.พ. จะมีการลดดอกเบี้ยหรือไม่ และจะลดเท่าใด

- ขณะนี้ เพื่อนๆ ของผม เทคะแนนเสียงไปว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากดูรายชื่อกรรมการภายนอกแล้ว เห็นว่ามีหลายคนที่จะให้ความสำคัญแก่ประเด็นความสงบในสัมพันธภาพระหว่างกระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ จึงอาจจะ...พยายามหาทางลงให้แก่รัฐมนตรีคลัง แบบที่ดูไม่น่าเกลียด

- ประเด็นที่พนันกัน จึงเน้นไปที่ว่าคะแนนเสียง จะออกมาเป็นเท่าใดเสียมากกว่า ท่านผู้อ่านก็น่าจะลองเก็งดูกันนะครับ จะได้เข้าใจวิธีคิดของกรรมการแต่ละคน

- ทั้งนี้ ในประเทศอื่นๆ การลงคะแนนของ กนง. จะมีการเปิดเผย ไม่เฉพาะคะแนนเสียงแต่ละด้าน แต่จะเปิดเผยชื่อของกรรมการด้วย

- ผมเห็นว่าประเทศไทยควรมีการเปิดเผยเช่นนี้ได้แล้ว เพื่อให้กรรมการแต่ละคน ต้องสามารถยืนหยัดในความเห็นของตนในที่สาธารณะ และมีคำอธิบายสนับสนุนการลงคะแนนของตน เพื่อให้ความกระจ่างแก่ประชาชน เกี่ยวกับจุดยืนของแต่ละคน

- ผมจึงขอให้สื่อมวลชนช่วยกันเรียกร้องนะครับ เพราะการลงคะแนนเรื่องที่สำคัญแก่ประเทศเช่นนี้ ควรจะเก็บเป็นความลับเฉพาะในช่วงก่อนลงตะแนน แต่เมื่อการประชุมผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่ควรปิดๆ บังๆ กรรมการแต่ละคน ควรมีความกล้าหาญ ที่จะรับข้อเท็จจริงไปเลย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้าว่า ยังแสดงเจตนารมณ์เดิมในการดูแลเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากจนกระทบต่อเงินบาทแข็งค่า

นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองในเรื่องหลักการเกี่ยวกับการดูแลระยะยาวเหมือนกัน เพื่อไม่ให้ปริมาณเงินทุนในสกุลต่างๆ ทั่วโลกไหลเข้ามาในประเทศไทย เพราะดอกเบี้ยตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นบางประเทศที่มีปัญหาภาวะเศรษฐกิจ จึงมีการขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงต้องมีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อดึงเงินทุนเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็งอยู่ในฐานะเกินดุลการค้า และในอนาคตมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้ยอดนำเข้าสินค้าทุนสูง จนนำไปสู่การขาดดุลการค้าบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว

ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณในการขอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาเรื่องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น