xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายจากดัชนีตลาดหุ้นและตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธ์

สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธ์
http://twitter.com/indexthai2
indexthai2@gmail.com

อันตรายจากดัชนีตลาดหุ้นและตลาดหุ้น

ดัชนีตลาดหุ้นคือค่าตัวกลางอย่างหนึ่ง ดังนั้นดัชนีตลาดหุ้นจึงมีคุณสมบัติประจำตัวเช่นค่าตัวกลางทั่วไป เช่น ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และ Coefficient of Variation (CV)

ดัชนีที่เอา “มูลค่าตลาดหุ้น” มาคำนวณสร้างเป็นดัชนี เรียกว่าดัชนีมูลค่าตลาด (Market capitalization weighted index) ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นดัชนีมูลค่าตลาด เช่น S&P500 index NASDAQ index ของประเทศสหรัฐอเมริกา HANG SENG index ของฮ่องกง STI index ของสิงคโปร์ และ SET index ของตลาดหุ้นไทย ก็เป็นดัชนีมูลค่าตลาด

ดัชนีที่เอา “ราคาหุ้น” มาคำนวณสร้างเป็นดัชนี เรียกว่าดัชนีราคา (Price weighted index) เช่น DJIA index ของอเมริกา NIKKEI225 index ของญี่ปุ่น ดัชนีตลาดหุ้นอีกชนิดหนึ่ง จะคำนวณให้หุ้นแต่ละตัวมีน้ำหนักเท่ากัน เรียกว่า Equal weighted index เช่น Value Line Index Arithmetic ของอเมริกา แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประเทศไหนใช้

ดัชนีมูลค่าตลาดมีความเบี่ยงเบนสูงกว่าดัชนีราคา

SET index ไม่ใช่ดัชนีราคา แต่เป็นดัชนีมูลค่าตลาด เนื่องจากเอามูลค่าตลาดมาคำนวณสร้างเป็นดัชนี

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ของประเทศไทย ที่มีมาแต่อดีตมี 3 ตัว คือ SET50 index SET100 index และ SET index SET index เป็นดัชนีตัวแรกที่เกิดคู่มากับตลาดหลักทรัพย์ไทย ผู้เขียนได้ทดลองนำดัชนีทั้ง 3 มาหาคุณสมบัติทางสถิติ เพื่อเปรียบเทียบกัน ทั้ง 3 เป็นดัชนีของตลาดเดียวกัน เป็นดัชนีมูลค่าตลาดด้วยกัน (Market capitalization weighted index) จึงสามารถใช้เปรียบเทียบกันได้

และผู้เขียนได้นำ SET225 index ที่ผู้เขียนพัฒนาขึ้นมาเอง มาหาคุณสมบัติดังกล่าวด้วย นำมาเปรียบเทียบไว้ด้วย SET225 index เป็นดัชนีมูลค่าตลาดเช่นเดียวกับ SET50 SET100 และ SET (Market capitalization weighted index) คำนวณโดยใช้วิธีตัดหุ้นมีมูลค่าตลาดสูงสุดออก 15 ตัว แล้วนับตัวที่มีมูลค่าต่ำลงไป 225 ตัว นำมาคำนวณสร้างทำเป็นดัชนี

ตามตารางที่แสดงด้านล่างนี้ จะเห็นว่าดัชนีตลาดเดียวกัน เป็นดัชนีชนิดเดียวกัน คุณสมบัติทางสถิติแตกต่างกัน

กลุ่มข้อมูลที่นำมาสร้าง SET50 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 95.12 ล้าน CV 154.26%

กลุ่มข้อมูลที่นำมาสร้าง SET100 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 72.85 ล้าน CV 210.30%

กลุ่มข้อมูลที่นำมาสร้าง SET index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 37.54 ล้าน CV 381.36%

กลุ่มข้อมูลที่นำมาสร้าง SET225 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 10.36 ล้าน CV 123.94%

การวัดคุณสมบัติทางสถิติของดัชนีตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ เป็นเรื่องยากที่จะหาฐานข้อมูลมาคำนวณหาคุณสมบัติของดัชนีแบบที่ทำกับตลาดหุ้นไทย เพื่อที่จะให้ได้ค่า Mean Standard deviation และ Coefficient of Variation มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งก็เปรียบเทียบกันไม่ได้อยู่ดี เนื่องจากขนาดของข้อมูล (ตัวเลข) ที่ต่างกัน ก็ไม่สามารถที่จะนำคุณสมบัติทางสถิติดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันได้

ผู้เขียนจึงได้คิดหาวิธีอื่นมาใช้ พบว่าการวัดค่าการแกว่งตัวของดัชนี ในระยะเวลาหนึ่งที่เท่ากัน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ และบอกได้ว่าคุณสมบัติของดัชนีแต่ละตัวเป็นอย่างไร

โดยที่ผู้เขียนได้ทดลองนำดัชนี SET50 SET100 SET และ SET225 ที่เราทราบคุณสมบัติทางสถิติอยู่แล้ว มาวัดค่าการแกว่งตัวของดัชนี แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน

วิธีการ โดยเอาอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีแต่ละวัน (เปอร์เซ็นต์) ในช่วงเวลาเดียวกัน มาเรียงลำดับจากการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุด ลงไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงตกลงมากที่สุด แล้วนำข้อมูลเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลง “เพิ่มขึ้นสูงสุด” มา 1 ชุด สมมติว่า 20 วัน มาหาค่าตัวกลาง (Mean) แล้วนำข้อมูลเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลง “ลดลงมากที่สุด” มา 1 ชุด สมมติว่า 20 วัน มาหาค่าตัวกลาง (Mean) ด้วยวิธีการเดียวกัน ก็จะได้ตัวเลขมา 2 ค่า คือ Mean ของดัชนีที่ขึ้นสูงสุด 1 ค่า (+X%) และ Mean ของดัชนีที่ตกต่ำสุด 1 ค่า (-Y%)

ค่าการแกว่งตัวของดัชนี (Swinging) คือ “ช่วงกว้าง” ของดัชนีที่ขึ้นสูงที่สุดกับดัชนีที่ตกต่ำมากที่สุด ในแต่ละวัน ในแต่ละเดือน ในแต่ละปี หรือในแต่ในรอบหลายปี

หรือ

Mean ดัชนีที่ขึ้นสูงสุด = + X%

Mean ดัชนีที่ตกต่ำสุด = - Y%

ค่าการแกว่งตัวของดัชนี = (+X) - (-Y) = X+Y

ยกตัวอย่างเช่น SET50 index

Mean ดัชนีที่ขึ้นสูงสุด = 5.12% และ Mean ดัชนีที่ตกต่ำสุด = - 4.95%

นั่นคือ ค่าการแก่วงตัวของดัชนี SET50 index = 10.08%

ความเป็นไปได้ของการเปรียบเทียบ เนื่องจากข้อมูลเกิดจากฐาน 100 เท่ากัน (เปอร์เซ็นต์) ช่วงระยะเวลาเดียวกัน แจกแจงการคำนวณที่เหมือนกัน ข้อมูลที่เกิดจากวิธีการนี้จึงนี้สามารถใช้เปรียบเทียบคุณสมบัติของดัชนีทุกตลาดหุ้นทั่วโลกได้

ผลการทดสอบวัดค่าการแกว่งตัวของดัชนี SET50 SET100 SET และ SET225

จะเห็นว่า ค่าการแกว่งตัวของดัชนีในตารางนี้(Swinging) มีความสัมพันธ์กับข้อมูลคุณสมบัติของดัชนีที่นำเสนอไว้ในตารางก่อนหน้า

เช่น SET50 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูง ค่าการแกว่งตัวก็สูง SET225 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ ค่าการแกว่งตัวก็ต่ำ

SET50 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 95.12 ล้าน ค่าแกว่งตัว 10.08%

SET100 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 72.85 ล้า ค่าแกว่งตัว 9.94%

SET index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 37.54 ล้าน ค่าแกว่งตัว 8.72%

SET225 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 10.36 ล้าน ค่าแกว่งตัว 6.87%

ลองพิจารณาดูตัวอย่างแบบอื่นๆ ด้วย

ตัวอย่างของช่วงที่หุ้นตกแรงและขึ้นแรง วันที่ 19 ธันวาคม 2006 (2549) ทางการประกาศนำมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้ามาใช้ นำมาใช้วันเดียว SET index ตก 14.84 เปอร์เซ็นต์ (SET ตกประมาณ 100 จุด) ต้องประกาศยกเลิกมาตรการในวันรุ่งขึ้น วันที่ 20 ธันวาคม 2006 SET index พุ่งขึ้น 11.16 เปอร์เซ็นต์ ค่าการแกว่งตัว 2 วันดังกล่าวของ SET index เท่ากับ 26 เปอร์เซ็นต์

พบว่าดัชนีที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงมีค่าการแกว่งตัวสูงเช่นเดิม ดัชนีที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำมีค่าการแกว่งตัวต่ำเช่นกัน SET50 index แกว่งตัวแรงที่สุด SET225 index แกว่งตัวน้อยที่สุด

ตัวอย่างจากวันที่ตลาดหุ้นตกไม่แรง พิจารณาจากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จากดัชนีตลาดปิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2013 ตลาดปิดติดลบ พบว่า SET50 index ตกลงเป็นอัตราส่วนสูงสุด -0.11% SET100 index ตัวเลขอัตราส่วนของดัชนีตกลงเป็นที่ 2 -0.07% และ SET index ตัวเลขอัตราส่วนของดัชนีตกลงเป็นที่ 3 -0.04% ตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงมีความสัมพันธ์กับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าการแกว่งตัวที่คำนวณไว้ ดัชนีที่ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูง จะแกว่งตัวแรงกว่าดัชนีที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ จะเป็นวันที่ตลาดหุ้นตกแรงหรือตกไม่แรง ดัชนีตลาดหุ้นที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูง ก็แกว่งตัวแรงเช่นเดียวกัน ดัชนีตลาดหุ้นที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ ก็แกว่งตัวน้อยเช่นกัน

ยืนยันว่าการวัดค่าการแกว่งตัวของดัชนี (Swinging) สามารถบอกคุณสมบัติของดัชนีได้

ดัชนีที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงหรือแกว่งตัวสูง เมื่อขึ้นก็ขึ้นแรง เมื่อตกก็ตกแรง เชื่อถือได้ยาก อ่อนแอ และถูกควบคุม (ปั่น) ได้ง่าย จากข้อมูลข้างต้นบอกให้ทราบว่า SET50 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงสุด หรือมีค่าการแกว่งตัวสูง

SET50 index จึงเป็นดัชนีที่อ่อนแอมากที่สุด SET50 index ยังเป็นตัวอ้างอิงในการซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์ในตลาดหุ้นไทยด้วย คงเป็นที่ถูกใจของนักปั่นและนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทย

การวัดการแกว่งตัวของดัชนีตลาดหุ้นประเทศต่างๆ ผู้เขียนได้นำดัชนีชี้นำตลาดหุ้น 42 ดัชนีจาก 41 ประเทศ ของประเทศสหรัฐอเมริกานำมา 2 ดัชนี คือ DJIA และ NASDAQ มาทำการวัดหาค่าการแกว่งตัวของดัชนี (swinging)

ช่วงเวลาที่ใช้วัดค่าการแกว่งตัวของทุกดัชนี คือระหว่างปี 1999 - 2002 (ระยะเวลา 4 ปี) ดัชนีแต่ละตัวจะมีทั้งหมดประมาณ 900 วันทำการ นำมาหาอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนี (เปอร์เซ็นต์) แต่ละวัน ด้วยวิธีเดียวกัน เหมือนกันทุกประการ แล้วนำข้อมูลมาเรียงลำดับ (Sort) จากการเปลี่ยนแปลงสูงสุด มาสู่การเปลี่ยนแปลงต่ำสุด นำมาหา Mean ของกลุ่มอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงสุด และของกลุ่มอัตราการเปลี่ยนแปลงตกลงต่ำสุด มาประกอบการหาค่าการแกว่งตัวของดัชนี เพื่อไม่เป็นการเปลืองพื้นที่ และเสียเวลาในการพิจารณาข้อมูล ได้ตัดการแกว่งตัวของดัชนีที่เปลี่ยนแปลงปานกลางออก 12 ดัชนี เหลือดัชนีของตลาดหุ้นที่แกว่งตัวสูงสุด 15 ประเทศ และดัชนีของตลาดหุ้นที่แกว่งตัวต่ำสุด 15 ประเทศ รวมแล้ว 30 ประเทศ มารายไว้

ผลของการวัดค่าการแกว่งตัวของดัชนีชี้นำหุ้นประเทศต่างๆ แบ่งข้อมูลทั้งหมดออกเป็น 6 ชุด เรียงลำดับการแกว่งตัวมากไปหาการแกว่งตัวน้อย * และ ** คือประเทศที่เข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)


3 กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ดัชนีตลาดหุ้นแกว่งตัวรุนแรงที่สุด 3 กลุ่มหลัง เป็นกลุ่มที่ดัชนีตลาดหุ้นแกว่งตัวน้อยที่สุด

กลุ่มแรก (Country-1) เป็นกลุ่มที่มีค่าการแกว่งตัวสูงสุด เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เคยประสบภาวะวิกฤต และเคยเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้ว (IMF) โดยเฉพาะประเทศตุรกี ดัชนีแกว่งตัวสูงที่สุดในโลก ได้เคยเข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF บ่อยครั้ง อาร์เจนตินาก็เคยเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้วเช่นกัน

ประเทศเกาหลีใต้เคยเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินพร้อมกับประเทศไทยและอินโดนีเซียระหว่างปี 2540-2541 (1997-1998)

NASDAQ index มีค่าการแกว่งตัวสูงเป็นลำดับ 4 ของโลก เนื่องจากมีการเพิ่มตัวหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงเข้าไปในการคำนวณดัชนีในปี 1999 ส่งผลให้ตลาด NASDAQ พังทลายลงรุนแรงในปี 2000 ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐไม่ได้รับความเชื่อมั่น และพังทลายตามมา เงินเหรียญสหรัฐไหลออกจากระบบ ทำให้ระบบขาดสภาพคล่อง ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาล้มลง คนตกงานมาก เกิดหนี้ท่วมประเทศ และเงินเฟ้อสูง แม้ประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้เข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องจากกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) แต่สหรัฐอเมริกาก็มีการพิมพ์เงินออกมาใช้จำนวนมาก (Quantitative Easing)

กลุ่มที่ 2 (Country-2) SET index ของประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ บอกให้ทราบว่า SET index ของประเทศไทยแกว่งตัวแรงเป็นลำดับที่ 7 ของโลก ตั้งแต่มีตลาดหุ้นไทยในปี 2518 (1975) ทำให้ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อก่อนไม่มีตลาดหุ้น ประเทศไทยไม่เคยต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเลย

3 กลุ่มหลัง ดัชนีแกว่งตัวน้อย ดัชนีชี้นำตลาดหุ้นของประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์แกว่งตัวน้อยที่สุด พบว่าประเทศในกลุ่มนี้ ไม่เคยเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ที่พบว่าอิตาลี (ลำดับที่ 17) และโปรตุเกส (ลำดับที่ 25) เข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นผลมาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2008 ที่เรียกว่า Hamburger crisis มากกว่า มีประมาณ 10 ประเทศต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจากธนาคารกลางยุโรป (ECB)

การแกว่งตัวที่ผิดปกติของดัชนี NASDAQ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผู้เขียนทราบว่ามีการเพิ่มตัวหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงเข้าไปคำนวณ NASDAQ index ในปี 1999 หลายตัว (Index reformed) ในนั้นมีหุ้นของไมโครซอฟท์ (MSFT) รวมอยู่ด้วย คาดว่าจะส่งผลให้ NASDAQ index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงขึ้น หรือจะทำให้ดัชนีแกว่งตัวได้แรงขึ้น หรือดัชนีได้อ่อนแอลง ทำให้ NASDAQ ถูกโจมตีได้อย่างง่าย

จึงทำการวัดค่าการแกว่งตัวย้อนหลัง 4 ปีก่อนการนำหุ้นตัวใหญ่เข้าไปคำนวณดัชนี (1995-1998) ไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ และอีก 4 ปีที่มีการนำหุ้นตัวใหญ่เข้ามาในการคำนวณดัชนีแล้ว (1999-2002) และได้นำดัชนีตัวอื่นในระบบตลาดหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริกามาทำการวัดการแกว่งตัวเปรียบเทียบด้วย คือ RUSSELL2000 index S$P500 index DJIA และ NYSE index

ผลการวัดเป็นไปตามข้อมูลที่นำเสนอไว้ข้างต้น ก่อนการนำหุ้นตัวใหญ่เข้าไปคำนวณดัชนี NASDAQ ในปี 1999 การแกว่งตัวของดัชนีอยู่ที่ระดับ 7.21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เมื่อมีการเพิ่มหุ้นตัวใหญ่เข้าไปคำนวณดัชนี การแกว่งตัวของดัชนีเพิ่มมาเป็น 14.28 เปอร์เซ็นต์ และพบว่า NASDAQ index แกว่งตัวสูงที่สุด แบบเทียบกันไม่ได้กับดัชนีอีก 4 ตัว ที่ทำการวัดค่าด้วย

และ NASDAQ index แกว่งตัวแรงเป็นลำดับที่ 4 ของโลก เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันระหว่างปี 1999-2002

เปรียบเทียบ NASDAQ กับ DJIA ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยปรับฐานดัชนีทั้งสองในวันที่ 2 มกราคม 1998 ให้เท่ากับ 100 เท่ากัน หรือดัชนีเริ่มต้นที่ 100 เท่ากัน จะเห็นว่า NASDAQ index ขึ้นแรงมาก โดยที่ช่วงขึ้นสูงสุดต้นปี 2000 NASDAQ ยืนสูงกว่า 300 จุด ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน DJIA ขึ้นไม่ถึง 50 จุด แสดงว่ามีการโจมตีตลาด NASDAQ จริง

การพังทลายของตลาด NASDAQ รุนแรงในปี 2000 ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริการุนแรง บริษัทต่างๆ ล้มลงเป็นจำนวนมาก คนอเมริกันเดือดร้อนกันทั่วหน้า ตกงานจำนวนมากออกมาเดินขบวนตามท้องถนน (Occupy Wall Street) เงินไหลออกจากอเมริกาออกไปท่วมโลก ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกร้อนแรงขึ้นมา แล้วก็พังทลายลงในปี 2008 โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป

ตลาดที่พัฒนาแล้ว มีตลาดอนุพันธ์เป็นองค์ประกอบ ยิ่งเสียหายหนัก เนื่องจากมีการสวมรอยควบคุม (ปั่น) ให้ขึ้นแรงและตกแรงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากคนควบคุมได้กำไรทั้งที่ตลาดหุ้นขึ้นและตลาดหุ้นตก ยิ่งตลาดขึ้นมากเท่าใดยิ่งมีกำไรมากเท่านั้น และยิ่งตลาดตกมากเท่าใดก็ยิ่งมีกำไรมากเท่านั้นเช่นกัน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยูโรโซนนั่นเอง

ดัชนีตลาดที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูง Hedge Funds สามารถสวมรอยควบคุมให้ขึ้นแรง ให้ตกแรง หรือให้อยู่กับที่ได้ง่าย หรือสร้างให้เกิดภาพลวงตาได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อจิตวิทยานักลงทุนท้องถิ่น ให้เกิดความกล้าและกลัว ทำให้เกิดแนวร่วมในการซื้อหรือขายหุ้น หรือไม่ซื้อไม่ขายหุ้น ทำให้ผู้สวมรอยการควบคุมดัชนีหุ้น สามารถหาประโยชน์สูงสุดจากตลาดหุ้นได้

จะเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นที่แกว่งตัวแรง หรือมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูง ส่วนใหญ่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความเสียหาย กระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ค่าเงินเสียหาย สภาพคล่องของระบบเสียหาย เศรษฐกิจล้มลงทั้งระบบ คนตกงานจำนวนมาก และเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง

จากสหรัฐอเมริกา NASDAQ2000 ถึงยุโรป EUROPE2008 เป็นเรื่องเดียวกัน มีความสัมพันธ์ต่อกัน ต้นเหตุความเสียหายมาจากเรื่องเดียวกัน เงินทุนเริ่มไหลออกจากอเมริกาในปี 2000 อเมริกาย่อยยับ เงินทุนไหลเข้ายุโรป ไล่ทุกสิ่งทุกอย่างของยุโรปขึ้น แล้วทุบยุโรปลง เงินทุนเริ่มไหลออกจากยุโรปในปี 2008 ยุโรปย่อยยับ

ตลาดหุ้นคือสิ่งผิดปกติของโลกทุนนิยม ถ้าสิ่งผิดปกตินี้ยังอยู่ในโลกเช่นนี้ ความเสียหายก็จะอยู่กับโลกเช่นนี้ตลอดไป ไม่ได้ยินใครพูดถึงต้นเหตุความย่อยยับของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เห็นพากันแก้แต่ปลายเหตุของปัญหา เช่น การแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและหนี้เสียโดยเข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF และ ECB อเมริกามีการพิมพ์เงินออกมาใช้ แก้ปัญหาการว่างงาน ก็แก้แต่ปลายเหตุของปัญหา ไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา แล้วปัญหาจะยุติได้อย่างไร

มันคือสงครามโลกครั้งที่ 3 มันเป็นการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 3 ของโลก สงครามแห่งกิเลสของมนุษย์ สงครามความเขลาทางเศรษฐกิจ สงครามแห่งอวิชชาทางเศรษฐกิจ

สงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นสงครามที่ลึกลับที่สุด เป็นสงครามโลกที่ไม่รู้ว่าเป็นสงครามโลก สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 3 ในปี 2000 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกามากเป็นประวัติการณ์ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเสียศักดิ์ศรีอยู่ทุกวันนี้ ยุโรปพ่ายแพ้เป็นภูมิภาคที่ 2 ในปี 2008 ความย่อยยับไม่ต่างไปจากประเทศสหรัฐอเมริกา

คอยดูต่อไปว่าภูมิภาคใดจะถูกโจมตีต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคยุโรป

สมัยคาร์ล มาร์กซ์ว่า นายทุนเอารัดเอาเปรียบกรรมกร เสียดายว่าตายก่อน หากคาร์ล มาร์กซ์มีอายุอยู่ถึงทุกวันนี้ จะได้ทราบว่าทุนสามานย์สมัยนี้เหนือชั้นกว่าทุนนิยมสมัยนั้นมาก เอารัดเอาเปรียบคนทั้งโลก คำว่าโลกไร้พรมแดน (Globalization) เป็นมิจฉาวาทกรรมของทุนสามานย์ ซึ่งมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก กล่าวขึ้นลวงล่อให้คนเชื่อว่าทำให้โลกเจริญ เพื่อให้พวกเขาได้ซื้อขายกระดาษในตลาดทุน ทำให้พวกเขามั่งคั่งล้นโลกแต่กลุ่มเดียว แต่คนส่วนใหญ่ของโลกเดือดร้อนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ทุนสามานย์ไม่แยกว่าเป็นอเมริกาหรือไม่ใช่อเมริกา ไม่แยกว่าเป็นประเทศเกิดเก่าหรือเกิดใหม่ ไม่แยกว่าเป็นประเทศตะวันตกหรือตะวันออก ไม่แยกว่าเป็นไทยหรือกัมพูชาหรือลาวหรือพม่า โอกาสอำนวยเมื่อใดตรงไหนเขาก็ถล่มเมื่อนั้นตรงนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ถูกถล่มมาแล้ว ประเทศอื่นๆ อยู่ในรายการที่จะถูกถล่มต่อไป

ทุนสามานย์ถูกยอมรับและยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจยุคใหม่ ให้เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้มีอาชีพอะไรเขาก็จะแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่อาชีพกลุ่มเขา เขาเคยเหมาซื้อสินทรัพย์ที่ประเทศไทยที่มีส่วนลด 75-80 เปอร์เซ็นต์ ประเทศลาวเปิดตลาดหุ้นด้วยมีหุ้นในตลาด 2 ตัว ประเทศกัมพูชาเปิดตลาดหุ้นด้วยมีหุ้นซื้อขายในตลาดเพียงตัวเดียว ประเทศพม่าก็รอเปิดตลาดหุ้นอยู่

ตลาดหุ้นคือสิ่งอันตรายในโลกยุคปัจจุบัน ดัชนีตลาดหุ้นที่เบี่ยงเบนสูง แกว่งตัวสูงยิ่งช่วยเกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น ยกตัวตัวอย่างเช่น SET index ของประเทศไทย จะทำให้มีการใช้ดัชนีหลอกลวงตบตาได้ง่าย ในทุกนาทีที่มีการเปิดตลาดหุ้น ไม่เฉพาะหลอกลวงตบตานักลงทุนท้องถิ่นเท่านั้น แต่หลอกลวงตบตาผู้บริหารเศรษฐกิจระดับสูงของประเทศด้วย พวกเขาจะพูดจาให้สัมภาษณ์ตามการขึ้นลงของ SET ทั้งๆ ที่มันเชื่อถือได้ยาก ตลาดหุ้นไทยและดัชนีตลาดหุ้นไทย เป็นต้นเหตุนำพาให้ประเทศไทยเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง เมื่อก่อนไม่มีตลาดหุ้น ประเทศไทยไม่เคยต้องเข้าโครงการ IMF เลย

ตลาดทุนกับตลาดเงินมีความสัมพันธ์ต่อกัน

การพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 3 ทำให้ตลาดหุ้นเป็นอันตรายทางเศรษฐกิจและตลาดเงินของทุกประเทศ เป็นช่องทางให้ถูกโจมตีได้ง่าย โลกทุนสามานย์เบี่ยงเบนหนัก ตลาดหุ้นของประเทศใด ก็ไม่ใช่สมบัติของประเทศนั้นแล้ว เช่นเดียวกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่อยู่ตามธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ก็ไม่ใช่ของประเทศนั้นเช่นกัน เป็นของทุนสามานย์

น้ำเป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ ฟ้าก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่ตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยมือมนุษย์ ทุกวันนี้ตลาดทุนใหญ่กว่าโลก อุปมาอุปไมย ทองคำมีการใช้จริง 10 ดอลลาร์ แต่มีการซื้อทองคำผ่านตลาดหุ้นในรูปแบบต่างๆ 80-90 ดอลลาร์ เกินโลกมาก เกินความพอเพียงมาก

ไม่มีเป็นอย่างอื่น น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก ตลาดหุ้นเป็นของทุนสามานย์เท่านั้น

ไม่ตำหนิทุนสามานย์ทั้งหมด วิสัยทัศน์ปรัชญา คุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหารเศรษฐกิจระดับสูงของระบบก็เบี่ยงเบน จึงทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเดือดร้อน วิสัยทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจห่างไกลกว่าพวกทุนสามานย์มาก แทนที่จะอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ กลับช่วยกันสร้างเครื่องมือ และพัฒนาเครื่องมือให้ทุนสามานย์ไล่ทำร้ายคนส่วนใหญ่ของระบบมากขึ้นตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น