xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


ได้มีการพูดถึงความเจริญของอเมริกา ของยุโรป ของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยหรือของทั้งโลก โลกไม่ได้เจริญขึ้น แต่มีความเสื่อมที่รุนแรง ที่เห็นว่าเจริญขึ้นก็เป็นเพียงคำพูดของผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ที่เจริญเพียงสิ่งก่อสร้างใหญ่โต ในรูปแบบต่างๆ กัน แต่ความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่แย่ลง ปลายปี 2011 คนอเมริกันออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ Occupy Wall Street ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นทุนนิยมขนาดใหญ่ ที่เศรษฐกิจของประเทศเบี่ยงเบนมากว่า 100 ปีแล้ว ตลาดหุ้นคือต้นเหตุการณ์เบี่ยงเบนรุนแรงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของอเมริกา นำพาประเทศอเมริกาสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่มา 2 ครั้ง คือในปี 1929 และในปี 2000

ประชาชนในหลายประเทศเดือดร้อนออกมาเดินขบวน ไม่ว่าที่อเมริกาหรือยุโรป ที่ยุโรปมีการออกมาเดินขบวนกันในหลายประเทศ เช่น กรีซ สเปน อิตาลี ฯลฯ เดินขบวนและจลาจลกันตลอดทั้งปี ทุกวันนี้ก็ยังมีการออกมาเดินขบวนเป็นช่วงๆ

การเกิดวิกฤตของอเมริกาในปี 1929 (การพังทลายของตลาดหุ้น Dow Jones) ผู้คนยังรู้ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ขนานชื่อว่าเป็น Great depression ถึงทุกวันนี้คนก็ยังไม่รู้ว่าวิกฤต Great depression มีต้นเหตุมาจากอะไร

กราฟแสดงให้เห็นการพังทลายย่างรุนแรงของตลาด NASDAQ ระหว่างปี 1999-2002 โดยที่ NASDAQ มีจุดสูงสุดในปี 2000

กราฟแสดงให้เห็นว่า การพังทลายของตลาด NASDAQ ในปี 2000 เป็นต้นเหตุให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายในปี 2001-2008 (เทียบเงินเหรียญสหรัฐกับเงินยูโร) เงินยูโรเป็นสกุลเงินที่มีส่วนแบ่งมากเป็นลำดับที่ 2 ของสกุลเงินโลกรองจากสกุลเงินเหรียญสหรัฐ

การเกิดวิกฤตของอเมริกาในปี 2000 เกิดจากการที่ตลาดหุ้น NASDAQ ถูกโจมตี ผู้คนไม่รู้ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ พอดีในปี 2001 ได้มีผู้ก่อการร้ายจี้สายการบินภายในประเทศ บินเข้าชนตึก World Trade Center ที่กรุง New York และบินเข้าชนหรือพยายามบินเข้าชนสถานที่สำคัญอื่นๆ อีก 2 แห่ง แทนที่สหรัฐอเมริกาจะแก้ปัญหาเรื่องตลาดหุ้น NASDAQ ถูกโจมตี แต่ผู้นำประเทศอเมริกายุคนั้นกลับเคลื่อนกองเรือเข้าโจมตีอิรักในปี 2003 ไปโน่นเลย อเมริกาเก่งและเกเรเรื่องการทหาร แต่เรื่องเศรษฐกิจของประเทศอับเฉามาก ทำให้อเมริกากลายเป็นสมาชิกประเทศยากจนใหม่ไปแล้ว

การพังทลายทางเศรษฐกิจของอเมริการะหว่างปี 1999-2002 นำความเสียหายมาสู่ประเทศอเมริกาอย่างรุนแรง ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายรุนแรง นักลงทุนทิ้งเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้สภาพคล่องของระบบประเทศสหรัฐอเมริกาเสียงหายอย่างหนัก ส่งผลให้ภาคการผลิตจริงและภาคบริการหรือภาคการเงินส่วนใหญ่ล้มลงแทบทั้งหมด เป็นที่มาของคนตกงานมาก เพดานหนี้เพิ่มมากเป็นประวัติการณ์ มีการพิมพ์เงินออกมาใช้อีกต่างหาก (QE) เงินเฟ้อสูงขึ้น ทุกวันนี้ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจของอเมริกาก็ยังไม่ดีขึ้น และเชื่อว่าไม่ดีขึ้น หากจะดีขึ้น ก็ดีขึ้นไม่จริง ดีขึ้นแบบชั่วคราว สิ่งผิดปกติยังเป็นมะเร็งร้ายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป สหรัฐอเมริกาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไรโลกก็จะเป็นแบบนั้น และหากแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาได้ก็จะทำให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของโลกได้เช่นกัน จะทำให้มีการเลียนแบบกัน

กราฟแสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นโลก หรือ G92 index ดีดตัวสูงขึ้นระหว่างปี 2001-2007 (หลังการพังทลายของตลาด NASDAQ ในปี 2000) แล้วตลาดหุ้นโลกก็พังทลายในปี 2008 ที่เรียกว่า Hamburger Crisis

ความเสียหายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1999-2002 ส่งผลกระทบก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกแบบรุนแรง ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น นักลงทุนพากันทิ้งเงินเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนไปซื้อสกุลเงินต่างๆทั่วโลก ซื้อหุ้นประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ค่าสกุลเงินของประเทศต่างๆ และตลาดหุ้นประเทศต่างๆ สูงขึ้น ซึ่งได้ขึ้นไปสูงสุดในปลายปี 2007 แล้วก็พังทลายจบเห่ลงรุนแรงในปี 2008 ที่ตั้งชื่อกันว่า Hamburger Crisis

กราฟแสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นยุโรป หรือ EURO39 index ดีดตัวสูงขึ้นระหว่างปี 2001 (หลังการพังทลายของตลาด NASDAQ ในปี 2000) แล้วตลาดหุ้นยุโรปก็พังทลายในปี 2008 ที่เรียกว่า Hamburger Crisis

การจบเห่ทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2008 เศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปพังทลายรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น ดัชนี EURO39 index ตก 71 เปอร์เซ็นต์ ตกแรงที่สุดในโลก เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นกับอเมริกาก่อนหน้านั้น ตามที่เป็นข่าวแล้วว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเป็นอย่างไร ทั้งที่ประเทศที่เป็นสมาชิกยูโรโซนอยู่แล้วและประเทศที่กำลังจะขอเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน ประสบปัญหากันทั่วหน้า สภาพคล่องเสียหายหนัก เกิดการล้มละลายทั้งภาคการผลิตจริงและภาคการเงิน เกิดหนี้เสียท่วมภูมิภาค อัตราส่วนคนตกงานสูง ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่เกิดกับประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อนหน้านั่นเอง ผู้เขียนจะไม่ขอลงรายละเอียดในส่วนนี้ ผู้อ่านสามารถดูกราฟต่างๆ ที่แสดงความสัมพันธ์ของปัญหาหลักที่เกิดระหว่างภูมิภาคดังกล่าวแทน

ความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศของภูมิภาคและของโลกต่างมีความสัมพันธ์แบบเฉพาะเจาะจงต่อกัน และมีต้นเหตุมาจากเรื่องเดียวกัน คือการพังทลายอย่างรุนแรงของตลาดหุ้น NASDAQ ระหว่างปี 1999-2002

การพังทลายของตลาด NASDAQ เกิดขึ้นในปี 2000 การพังทลายของ EURO39 เกิดขึ้นในปี 2008

เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดที่ประเทศใด ก็จะส่งผลกระทบเป็นแบบเดียวกันทุกประการ เศรษฐกิจและสกุลเงินของประเทศสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อเกิดความเสียหาย จึงก่อให้เกิดคลื่นกระเพื่อมแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนแรงไปทั่วโลก

ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมา 2 ครั้งแล้ว

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทยครั้งแรก เกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2521 หรือหลังการเปิดตลาดหุ้น 3 ปี ตลาดหุ้นไทยเปิดเป็นทางการในปี 2518 (หลายประเทศที่เปิดตลาดหุ้นใหม่ๆ ก็พบเหตุการณ์เช่นนี้) ส่งผลให้ค่าเงินบาทเสียหาย เงินบาทไม่ได้รับความเชื่อมั่น เงินไหลออกจากประเทศไทย ได้มีการปกป้องค่าเงินบาทไว้ ทำให้เห็นว่าค่าเงินบาทไม่เสียหาย ในที่สุดก็ปกป้องค่าเงินบาทไว้ไม่ได้ ต้องลดค่าเงินบาท สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินล้มลง ทางการได้เข้าไปควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง รู้จักกันในชื่อโครงการ 4 เมษายน 2527 ทำให้คนตกงาน และเกิดหนี้เสีย เงินเฟ้อสูง ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรก

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทยครั้งที่ 2 หลังจากได้มีการนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปลายปี 2536 ทำให้มีการลากตลาดหุ้นขึ้นไปสูงสุดที่ต้นเดือนมกราคม 2537 แล้วเกิดจากการพังทลายลง แต่เนื่องจากมีการนำระบบบังคับขายหุ้นมาใช้ ทำให้เกิดการบังคับขายหุ้นของนักลงทุนท้องถิ่นอย่างทารุณ ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นตกแรงอย่างผิดปกติลงไปอีก ส่งผลให้ค่าเงินบาทเสียหาย เงินบาทไม่ได้รับความเชื่อมั่น เงินไหลออกจากประเทศ ได้มีการปกป้องค่าเงินบาทไว้ ทำให้เห็นว่าค่าเงินบาทไม่เสียหาย ในที่สุดก็ปกป้องค่าเงินบาทไว้ไม่ได้ ต้องลอยค่าเงินบาทในกลางปี 2540 สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินล้มลง ทางการได้สั่งปิดกิจการไฟแนนซ์และสถาบันการเงินรวม 56 แห่ง รู้จักกันในชื่อโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ทำให้คนตกงาน และเกิดหนี้เสียให้ไว้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.4 ล้านล้านบาท เงินเฟ้อสูง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เกิดความเสียหายมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกอย่างยากที่จะเปรียบเทียบกันได้ ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งที่ 2

การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย หนี้เสียที่เกิดจากวิกฤตครั้งแรกสามารถสะสางให้จบลงได้ในอีกประมาณ 10 ปีถัดมา แต่หนี้เสียที่เกิดจากวิกฤตครั้งที่ 2 ส่วนหนึ่งถูกสรุปไว้ในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในปี 2541 มียอดหนี้สูง 1.4 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 12 ปีผ่านไป หรือระหว่างปี 2541 – 2553 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชำระหนี้เงินต้น 2.50 แสนล้านบาท

กระทรวงการคลังชำระดอกเบี้ย 6.04 แสนล้านบาท หลังปี 2553 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงมีหนี้คงค้างอยู่ 1.14 ล้านล้านบาท คาดว่าหนี้ที่เหลือนี้จะใช้เวลา 45 ปีจึงจะชำระได้หมด แสดงว่าความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าครั้งแรกอย่างมาก

ความเสียหายของธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ปรากฏเป็นหนี้ในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เนื่องจากมีการนำใบหุ้นไปจำนองไว้กับต่างประเทศ เพื่อแลกกับการนำสภาพคล่องมาใช้ ทุกวันนี้ไม่สามารถไถ่ถอนใบหุ้นออกมาได้ ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ดังกล่าวตกเป็นของต่างชาติ ธนาคารกรุงเทพเหลือเป็นของคนไทย 10.39 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารกสิกรไทยเหลือเป็นของคนไทย 1.37 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ที่พบว่ามีส่วนแบ่งผู้ถือหุ้นที่เป็นของคนไทยสูงถึง 48.43 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการขายอสังหาริมทรัพย์บางแห่งออกไป และนำเงินไปขอไถ่ถอนใบหุ้นที่จำนองไว้ออกมา

ส่วนธนาคารกรุงไทย ไม่ได้ไปเอาสภาพคล่องจากต่างประเทศ แต่ได้ขอสภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นผลให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้กลายเป็นเจ้าของธนาคารกรุงไทยหรือเป็นผู้หุ้นใหญ่ธนาคารกรุงไทยถึง 55.15 เปอร์เซ็นต์

แท้ที่จริง หากไม่มีการนำใบหุ้นของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ไปจำนองกับต่างประเทศ และใช้สภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทั้งหมด หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะไม่อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่อาจจะสูงถึง 4 ล้านล้านบาทได้
บทความนี้ไม่ได้มีความตั้งใจจะหาความถูกต้องหรือความผิดพลาดต่อฝ่ายใด แต่นำเสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ ที่นอกเหนือจากที่เคยรับรู้กัน เพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้ลุล่วงไปได้


กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นในปี 2528 จุดประสงค์แรกก็เพื่อให้มาจัดการหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรก ซึ่งเกิดความเสียหายไม่มาก และสามารถจัดการหนี้ดังกล่าวให้ลุล่วงผ่านไปได้ ภารกิจที่ 2 คือเตรียมหาทางช่วยเหลือสภาพคล่องสถาบันการเงินเมื่อสถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกมีปัญหามาจากระบบขาดสภาพคล่อง หากอนาคตสภาพคล่องของระบบเสียหายอีก และสามารถสนับสนุนสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินได้ ก็จะทำให้สถาบันการเงินทั้งระบบมีเสถียรภาพและไม่ล้มลงได้

และแล้วสภาพคล่องของระบบก็เกิดขึ้นอีก สภาพคล่องได้เสียหายหลังการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2537 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ระบบอย่างเต็มที่ ตามภารกิจที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่สภาพคล่องเสียหายรุนแรงมาก ถมเท่าใดก็ไม่เต็ม ในที่สุดต้องยอมแพ้ ยอมยกเลิกการอัดฉีดสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน พลิกกลับมาสั่งปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งแทน ตามโครงการ 14 สิงหาคม 2541ที่นำเสนอไว้ในช่วงต้นนั่นเอง

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นอกจากไม่สามารถทำให้ตลาดเงินของประเทศมีความมั่นคงแล้ว ยังทำให้สถาบันการเงินล้มทั้งระบบ ทำให้ตกไปเป็นของต่างชาติ และก่อให้เกิดหนี้ท่วมกองทุนด้วย แทนที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศ กลับเป็นว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กลายมาเพิ่มปัญหาให้ประเทศเสียเอง

สภาพคล่องสูงเกินไปก็ไม่ดี สภาพคล่องน้อยเกินไปก็ไม่ก็ไม่ดี สภาพคล่องที่พอดีๆ จึงจะดี

ตลาดหุ้นเป็นต้นเหตุของสภาพคล่องของประเทศเกิดความผิดปกติจนเกิดวิกฤตและต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง การเปิดตลาดอนุพันธ์ของตลาดหุ้นไทยในปี 2549(2006) ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตัวเลขอนุพันธ์อย่างรุนแรง ทำให้สภาพคล่องท่วมประเทศ

ตลาดอนุพันธ์คือการซื้อขาย “ตัวเลขอ้างอิง” ของดัชนีหุ้น ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม ราคาหุ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าสกุลเงิน ใช้เงินประกัน 10 บาทสามารถซื้อตัวเลขอ้างอิงได้ 100 บาท ทำให้เกิดกำไรและขาดทุนในอัตราส่วนต่อเงินเก็งกำไรเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก จึงเป็นที่นิยมมากของบรรดา Hedge Fund เนื่องจากมันเป็นเพียงตัวเลขอ้างอิง คือไม่มีตัวสินค้าจริง ไม่จำเป็นต้องมีโกดังเก็บสินค้า ทำให้ซื้อขายได้ง่าย ซื้อขายได้ทั้งตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง แต่เพราะมันเป็นการซื้อขายตัวเลข ที่ไม่ต่างอะไรกับการซื้อขายลอตเตอรี่ หวยบนดิน หรือหวยใต้ดินนั่นเอง มันก็คือสินค้าอภิมหาอบายมุขนั่นเอง การถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การถูกรางวัลที่ 1 ในการซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์สูงมาก สูงทั้งรางวัลสูงทั้งโอกาส

SET50 Index Futures คืออนุพันธ์ตัวแรกที่เปิดการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย และตัวเลขอนุพันธ์อื่นๆ ที่ทยอยเปิดให้มีการซื้อขายในเวลาต่อมา ที่ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรอย่างท่วมท้น ที่ส่งผลให้สภาพคล่องท่วมประเทศไทยทุกวันนี้

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เป็นตัวบอกถึงสภาพคล่องของระบบ กราฟนี้แสดงให้เห็นว่า การเปิดตลาดอนุพันธ์ของตลาดหุ้นไทยในปี 2549 (2006) ทำให้เงินทุนไหลเข้าอย่างรุนแรง แม้จะมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ตาม อีก 3 เดือนต่อมา คือวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ต้องออก “มาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า” วันที่ออกมาตรการดังกล่าวทุนสำรองอยู่ที่ระดับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ปลายปี 2012 ทุนสำรองประเทศไทยอยู่สูงกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ค่าเงินบาท (Baht/USD Invert Scale) แสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจน เงินทุนไหลเข้าทำให้เงินบาทแข็งค่า เงินทุนไหลออกทำให้เงินบาทอ่อนค่า กราฟแสดงให้เห็นว่าเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตัวเลขอนุพันธ์อ้างอิงอย่างรุนแรงในปี 2006 ทำให้สกุลเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จากระดับ 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเป็น 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กระทั่งต้องมีการออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าดังกล่าว แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการรัฐประหารก็ตาม

เมื่อสภาพคล่องท่วมประเทศ โดยไม่ทราบต้นเหตุอะไรทำให้สภาพคล่องท่วมประเทศ ทำให้มีการใช้สภาพคล่องอย่างเพลิดเพลิน โดยมีข้ออ้างเพื่อลดสภาพคล่องลง กู้เงินก้อนโตในประเทศ ขึ้นเงินเดือนเป็นว่าเล่น รัฐบาลก่อนหน้านั้นขึ้นเงินเดือนให้ตนเองกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ ออกมาตรการให้คนไทยขนเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้ประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.5 ล้านล้านบาท แต่สภาพคล่องในประเทศก็ไม่ลดลง ทำให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินแบบมือเติบมากขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “นักชงกู้เงิน มือพระกาฬ” เชื่อว่าทำลายสถิติการกู้เงินในทุกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ผ่านมาได้

สภาพคล่องเสียหายในอดีต ทำให้ภาคการผลิตจริงและภาคการเงินล้มลง ทำให้มีการกู้เงิน (ออกพันธบัตร) ชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท

จะกู้ไปถึงไหน โดยสามัญสำนึก เมื่อสภาพคล่องมีมาก ก็ควรจะหาทางชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้ลดน้อยลงหรือให้หมดไปโดยเร็ว แต่กลับทำการโอนย้ายหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยฝ่ายเดียว คนทั่วไปวิจารณ์ว่าเป็นการซุกหนี้ วิธีการเช่นนี้เพื่อที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง เพื่อที่จะทำให้สามารถกู้เงินได้ก้อนโตมากขึ้น

นอกจากการโอนย้ายหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย 1.1 ล้านล้านบาทแบบไม่มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ และตั้งใจจะกู้ให้มากขึ้น เป็นแบบเกินความพอเพียง เรื่องอื่นก็เป็นเรื่องเกินความพอเพียงเช่นกัน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น 15,000 บาท กู้เงินแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท กู้เงินเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท จำนำข้าวทุกเม็ด 15,000 บาทต่อตัน พบว่าคอร์รัปชันหนักทุกเรื่อง ผู้คนต่างบอกว่ากู้มาโกง โครงการประชานิยมเกลื่อน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี นอกจากรัฐบาลกู้เงินหนักแล้ว ยังส่งเสริมให้ประชาชนก่อหนี้อย่างกว้างขวาง สินเชื่อเกษตรกร รถคันแรก บ้านหลังแรก พักชำระหนี้ดี ฯลฯ จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิกฤตในอนาคตได้

ตลาดอนุพันธ์จะเป็นเครื่องมืออันตรายตัวใหม่ในระบบเศรษฐกิจ แต่จะอันตรายกว่าระบบ Maintenance margin และ Force sell จะมีการสวมรอยปั่นตลาดหุ้นให้ขึ้นและลงแรงมากกว่าในอดีต เห็นได้จากที่เกิดขึ้นกับอเมริกาและยุโรป ที่จะมีผลต่อสภาพคล่องของระบบมาก เฉพาะไม่มีโครงการกู้แบบเกินความพอเพียง ก็จะทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ ซึ่งเคยเกิดกับประเทศไทยมาแล้วถึง 2 ครั้งแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศไทยแทบหมดตัวแล้ว การกู้แบบเกินความพอเพียงจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก หนี้ที่เกิดขึ้นจากช่วงดังกล่าวก็ยังชำระไม่หมด วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดความย่อยยับต่อระบบแบบเหลือเชื่อ ประชาชนคนไทยจะเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก

https://www.facebook.com/suthipong.prachayapruit

http://twitter.com/indexthai2

indexthai2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น