xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แดงแยกก๊ก “แม้ว”ลอยแพ “29 มกรา-น.ป.ป.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการนิรโทษกรรม ของกลุ่ม 29 มาราฯ เมื่อ 29 ม.ค. ซึ่งไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ควร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รอยร้าวภายในกลุ่มคนเสื้อแดงนับวันปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ กรณีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายและเผาบ้านเผาเมืองระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปี 2552 และ 2553

กลุ่มคนเสื้อแดงมีความเห็นแตกกันออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกสนับสนุนแนวทางของคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองและกระทำผิดด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่นายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา

โดยให้มี “คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง”ขึ้นมาวินิจฉัย กรณีมีข้อสงสัยว่า ใครควรจะได้รับการนิรโทษกรรม และไม่ให้แกนนำหรือผู้สั่งการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้

กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนแนวทางนี้ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงสายนักวิชาการและนักกิจกรรม ซึ่งได้รวมตัวกันตั้งเป็น “แนวร่วม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” เดินทางไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเดินเท้าไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางของคณะนิติราษฎร์ เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

คนเสื้อแดงที่ผันตัวมาเป็นแกนนำกลุ่ม ได้แก่ น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสุดสงวน สุธีสร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล, นางดารณี กฤตบุญญาลัย ไฮโซเสื้อแดง แกนนำศูนย์ประสานงานเพื่อประชาธิปไตย และ ไม้หนึ่ง ก.กุนที นักเขียนเสื้อแดง

เห็นได้ชัดว่า แกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ที่เคยมีบทบาทตามเวทีเสวนา และได้ขึ้นเวทีเป็นนักปราศรัยไม้ประดับเท่านั้น ยังไม่มีประสบการณ์นำมวลชนขนาดใหญ่ด้วยตนเอง การชุมนุมเมื่อวันที่ 29 มกราคม จึงไม่อาจนำมวลชนมาให้ถึง 1 หมื่นคนตามเป้าหมายเพื่อกดดันให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับข้อเรียกร้องไปปฏิบัติได้ทันที และในที่สุดก็ยอมผ่อนปรนให้เวลารัฐบาลไปถึงวันสิ้นสุดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ขณะที่คนเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นคนเสื้อแดงกระแสหลัก นำโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. รวมถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ที่สวมเสื้ออำมาตย์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ที่มีเนื้อหาเพียง 4 มาตรา ใจความสำคัญคือให้นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมทางการเมืองหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ยกเว้นบุคคลระดับแกนนำหรือผู้สั่งการให้กระทำความผิด

เห็นได้ชัดว่าการเสนอแนวทางนี้ ก็เพื่อเอาใจมวลชนคนเสื้อแดงเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด โดยแกนนำอ้างว่า การเสนอเป็น พ.ร.ก.ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้อำนาจบริหารทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านสภา ก็เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการช่วยเหลือคนเสื้อแดงออกมาจากคุก หลังจากถูกจองจำมาแล้วกว่า 3 ปี

แต่แนวทางการเสนอเป็น พ.ร.ก.ก็ถูกปฏิเสธจากคนในรัฐบาลเอง ทั้งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่เห็นว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเป็น พ.ร.ก.อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 เพราะไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะเฉยเมยต่อข้อเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็น พ.ร.ก. แต่แกนนำ นปช.ก็ไม่ได้กดดันรัฐบาลมากมายนัก โดยมีเพียงคนเสื้อแดงระดับปลายแถวออกมาเรียกร้องให้ปลดนายวัฒนาออกจากตำแหน่งโฆษกประธานสภาฯ เท่านั้น ส่วนระดับแกนนำ แม้จะยังยืนยันว่าควรออกเป็น พ.ร.ก. แต่ก็ยังถ้อยทีถ้อยอาศัยกับรัฐบาลอยู่

ยิ่งเมื่อมีข้อเสนอของคณะกรรมอิสระเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) อันมีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เนติบริกรเฒ่า เป็นประธาน ที่ให้รัฐบาลออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้สภาผ่าน 3 วาระรวด และรัฐบาลได้นำร่างนี้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปทำการศึกษา ก็ยิ่งทำให้แกนนำ นปช.ผ่อนปรนท่าทีต่อรัฐบาลลงไปอีก

นอกจากนี้ แกนนำ นปช.ยังเบนเป้ากดดันไปที่กลุ่ม 29 มกราฯ มากกว่า เมื่อ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลุ่ม 29 มกราฯ กระทำการไม่เหมาะสม ที่มาชุมนุมกดดันให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรม พร้อมกับบอกให้คนกลุ่มนี้รู้จักแยกมิตรแยกศัตรูให้ถูก และเตือนว่า คนบางคนอาจสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นแกนนำ แล้วถีบคนเสื้อแดงเฉยเลย

ร้อนถึง นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ต้องออกมาสวน นพ.เหวงว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่ควายที่จะมาถีบหรือสนตะพายได้ และคนเสื้อแดงก็ไม่ใช่สมบัติของใคร การคิดว่าอีกกลุ่มจะมาแย่งเป็นแกนนำนั้น เห็นว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาจะพิสูจน์คน ซึ่งคนเสื้อแดงอาจคิด และต่อสู้เคลื่อนไหวแตกต่างกันได้ แต่อย่าประณามกันเองให้แตกแยก หรือมองว่าตัวเองถูกหมด คนอื่นผิดที่คิดต่าง

สงครามปากแกนนำแดงไม่จบง่ายๆ เมื่อ นพ.เหวง สวนกลับอีกว่า หากเป็นมิตรควรปฏิบัติกันฉันมิตรแม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันก็ตาม และต้องถือว่ารัฐบาลก็เป็นมิตรเราด้วย ไม่อยากให้เอาท่าทีศัตรูมาทำให้กระทบต่อมิตร ไม่ควรเอาคมดาบ คมหอกมาทิ่มแทงใส่มิตร ส่วนที่กลุ่ม 29 มกรา จะจัดกิจกรรมวันที่ 22 ก.พ. เพื่อรำลึก 2 ปี การถูกคุมขังในคดีหมิ่นเบื้องสูงของนายสุรชัย แซ่ด่าน แกนนำกลุ่มแดงสยามนั้น ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ในการแสดงออก แต่อยู่ที่ประชาชนเสื้อแดงจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่อย่างไร

ขณะที่ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ยอมรับว่า เริ่มมีภาพความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อแดงในเรื่องของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ตนพร้อมด้วยแกนนำในจังหวัดภาคอีสาน จะประชุมร่วมกันในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ที่ไร่มุกเดือน จ.ลำพูน เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในภาคอีสานต่อเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล และเห็นว่าไม่ควรดันทุรังโดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นทั้งกลุ่ม นปช.หรือกลุ่ม 29 มกราฯ ไม่ควรออกมาป่วนรัฐบาลในช่วงนี้

นอกจากประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว ยังมีกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ทำให้คนเสื้อแดงแตกออกไปเป็นกลุ่มย่อยอีก โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ได้ปรากฏคนเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งในนาม แนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน (น.ป.ป.) ไปชุมนุมหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เรียกร้องให้นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แถลงการณ์ขอโทษประชาชนกรณีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่เอามาตรา 112 และวิจารณ์คำพิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ และเป็นแนวร่วมคนสำคัญอีกคนหนึ่งของกลุ่มเสื้อแดง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยืนยันว่า กลุ่มดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มเดียวกับ นปช. เพราะ นปช.ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม ขณะที่ นพ.เหวง บอกว่า เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ มีสิทธิแสดงออก แต่ขอให้ทำตามกรอบประชาธิปไตย ผู้ถูกกล่าวหาควรดูด้วยว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่ในส่วนของกลุ่มต่างๆ ขอให้เคลื่อนไหวตามกรอบกฎหมาย

นั่นเท่ากับว่า แกนนำ นปช.ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับ น.ป.ป.อย่างสิ้นเชิง แม้จะมีมวลชนบางส่วนทับซ้อนกันอยู่

การแตกตัวคนเสื้อแดงออกไปเป็นกลุ่ม 29 มกราฯ หรือ น.ป.ป.ไม่ได้สร้างความหนักใจให้นายใหญ่อย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด เพราะกลุ่มเหล่านี้ มีมวลชนไปร่วมน้อยมาก ประเด็นสำคัญคือทั้งสองกลุ่ม มีแนวทางความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับการต่อต้านมาตรา 112 ซึ่งหากรัฐบาลเข้าไปเกลือกกลั้ว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอด จึงมีกระแสข่าวว่า นช.ทักษิณได้สั่งห้ามแกนนำ นปช.เข้าร่วม 2 กลุ่มนี้โดยเด็ดขาด

ประเมินสถานการณ์เวลานี้ แม้ว่าคนเสื้อแดงบางส่วนเริ่มเคลื่อนไหวแยกตัวออกไปตามแนวทางของตัวเอง แต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ภายใต้การชักจูงความคิดของ นช.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำ นปช. ซึ่งที่สุดแล้วก็เป็นแค่มวลชนนั่งร้านให้ให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเท่านั้นเอง

การชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการนิรโทษกรรม ของกลุ่ม 29 มกราฯ เมื่อ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ควร


กำลังโหลดความคิดเห็น