ม็อบแดงชุมนุมหน้าศาล ยื่นหนังสือเรียกร้อง “ทวี ประจวบลาภ” แถลงการณ์ขอโทษ เหตุให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตำหนิแดงประท้วงเผาตำรากฎหมายหน้าศาลอาญา
ที่บริเวณริมถนนหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.20 น.วันนี้ (4 ก.พ.) ร.ต.ต.สมศักดิ์ แพทย์สมาน ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน (น.ป.ป.) และนายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ตัวแทนแนวร่วม น.ป.ป.และประชาชนคนเสื้อแดง จากต่างจังหวัด และ กทม. ประมาณ 50 คน พร้อมรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แถลงการณ์ขอโทษประชาชนกรณีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่เอามาตรา 112 และวิจารณ์คำพิพากษาจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นเวลา 10 ปี ในคดีหมิ่นเบื้องสูง เมื่อวันที่ 24 -25 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนเสื้อแดงต่างชูป้ายวิพากษ์วิจารณ์และด่าทอการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา เช่น “กฎหมายดี แต่คนใช้เสื่อม” “ทวงคืนอำนาจอธิปไตยจากฝ่ายตุลาการ” “หยุดเล่นลิ้น ปล้นภาษา หยุดใช้ตำรามาฆ่าคน” “สังคมจัญไร พวกมันใหญ่กว่าประชาชน” ซึ่งการชุมนุมใช้เวลาประมาณ 30 นาที
จากนั้นนายอนุสรณ์และตัวแทนรวม 3 คนได้เข้ามาอ่านแถลงการณ์บริเวณด้านในรั้วศาลอาญา ระบุว่า แนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชนได้ติดตามศึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาการคุกคามต่อเสรีภาพทางความคิดในระบอบประชาธิปไตย ร่วมกับพี่น้องประชาชนในจังหวัดต่างๆ ได้รับทราบปัญหาจากพี่น้องประชาชนหลายพื้นที่ ถึงการถูกคุกคามต่อการใช้เสรีภาพทางความคิดในการตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายตุลาการ อันเกิดจากกรณีที่ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาตอบโต้ ผู้ที่วิจารณ์ผลการพิจารณาคดีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อวันที่ 24-25 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อความให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า “การที่จะมองหรือวิจารณ์องค์กรตุลาการสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริตอย่ามีอคติ เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง มีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็นธรรม ศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวน เพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอีกทีว่าจะดำเนินการขั้นไหน ตอนนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์อยู่ในเรื่องนี้”
จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ความเชื่อมั่นในการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทางแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชนหรือ น.ป.ป. จึงรวบรวมและสรุปปัญหาดังกล่าวจากประชาชนดังนี้ คือ
1. จากคำกล่าวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญานั้น ทาง น.ป.ป.และพี่น้องประชาชนเข้าใจได้ว่า การวิจารณ์ผลจากการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายตุลาการในคดีต่างๆ นั้น ห้ามวิจารณ์ในทางลบหรือมีทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาใช้คำว่า “มีอคติ” เสมือนให้วิจารณ์ได้แต่แง่บวกในทางเดียว โดยมิยอมรับการวิจารณ์ในลักษณะที่มีความเห็นตรงข้ามกับฝ่ายตุลาการ มิเช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่า “มีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็นธรรม”
2. คำกล่าวของอธิบดีพิพากษาศาลอาญา ที่ว่า “การแสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ” ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้ที่ไม่มีความรู้พอหรือผู้ที่มิใช่เป็นนักวิชาการ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั้น เป็นการกระทำขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ทำให้การใช้เสรีภาพนั้นขาดความเสมอภาคกัน ทำประชาชนผู้ที่ได้รับการศึกษาที่แตกต่างกันถูกปิดกั้นในการแสดงเสรีภาพทางความคิดต่อปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญายังกล่าวอีกว่า “ตอนนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์อยู่ในเรื่องนี้” เห็นว่าถ้ามีการหมิ่นศาลเกิดขึ้นจริงนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาลก็มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำการหมิ่นศาลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่การนำเจตนานั้นมากล่าวอ้างต่อสาธารณะชนโดยไม่จำเป็น หรือแม้มีความจำเป็นต้องปกป้องรักษาสิทธิขององค์กรไว้ ท่านก็ควรจะกล่าวอยู่ในเฉพาะภายในองค์กรและดำเนินการตามระเบียบ หรือ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายบริหารซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเข้าตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ แต่มิควรนำมากล่าวในทางสื่อสาธารณะเพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและตื่นตระหนก ทั้งยังสงสัยว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีอำนาจนั้นหรือไม่ ที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลในเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของฝ่ายตุลาการ
ฉะนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและยุติความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับประชาชนที่เกิดขึ้น แนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน และตัวแทนประชาชนจึงขอเรียกร้องให้อธิบดีผู้พิพากษาได้ออกแถลงการณ์กล่าวคำขอโทษต่อพี่น้องประชาชน และออกมาชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนในฐานะที่ปวงชนชาวไทย ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด ขอเรียกร้องให้อธิบดีผู้พิพากษาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อแสดงความเสียสละและรักษาสถาบันตุลาการไว้ ทั้งนี้ภายหลังอ่านแถลงการณ์เสร็จจึงได้ไปยื่นหนังสือผ่านช่องทางกลุ่มงานสารบรรณ ของศาลอาญา
ร.ต.ต.สมศักดิ์ กล่าวว่า แนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน น.ป.ป. เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่เป็นเครือข่าย ของ นปช. ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า กลุ่ม นปช.ภาคเหนือ แต่ปัจจุบันมีแนวร่วมในภาคกลางตอนบนเข้าร่วมด้วย นอกจากนั้นประชาชนในกลุ่มอยากให้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระเหมือนกลุ่ม อื่นๆ เช่น กลุ่ม ปฏิญญาหน้าศาล และการมายื่นหนังสือเรียกร้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแถลงการณ์ขอโทษคนเสื้อแดง ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ก็ถือว่าเราได้ทำตามสิทธิื์์แล้ว
นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า ตนได้เคยชี้แจงในเรื่องของการแสดงออกและวิจารณ์ศาลไปแล้วว่า สามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต ที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้คำพูดที่มีถ้อยคำรุนแรงและวิจารณ์อย่างไม่มีเหตุผล ศาลก็แค่ออกมาปรามเพื่อไม่ให้มีการกระทำแบบนั้นเกิดขึ้นอีก กระทั่งกรณีของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเองก็ยังไม่มีการเรียกมาไต่สวนและดำเนินคดีเลยสักครั้ง เพราะศาลเองก็ไม่อยากที่จะดำเนินคดี แม้มีบางคนจะใช้ช่องทางการวิจารณ์เพื่อสร้างชื่อเสียงกับตนเอง ซึ่งทางศาลเองก็จะไม่ตอบโต้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือ ส่วนที่มายื่นหนังสือวันนี้ตนจะรับไว้เพื่อพิจารณา แต่ที่ผ่านมาในเรื่องนี้คิดว่าได้เคยชี้แจงไปแล้วและประชาชนส่วนมากก็เข้าใจ
“ที่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการบางคนก็ไม่มีความเข้าใจในสำนวนคดี และสื่อสารออกมา ทำให้คนที่ไม่เคยรู้สำนวนคดีนั้นเข้าใจผิดต่อการพิจารณาคดีของศาล รวมถึงมีการดึงเอาองค์กรต่างชาติซึ่งไม่เข้าใจระบบของประเทศเราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งน่าเป็นห่วง” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าว