xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“Kitchen of Myanmar” และ นโยบาย3ประโยชน์ของซีพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประเทศเมียนมาร์กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ในด้านหนึ่งเป็นเพราะเมียนมาร์มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ พลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ

ขณะเดียวกัน ถ้ามองในเชิงภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของเมียนมาร์ก็มีความสำคัญอย่างมาก ด้วยว่ามีพรมแดนที่เชื่อมต่อถึง 5 ประเทศ ซึ่ง 2 ใน 5 ประเทศนั้น เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับโลก ทั้งจีนและอินเดีย

นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังมีทางออกสู่ทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล จึงทำให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลกับต่างประเทศได้สะดวก ดังนั้น หากมองในมิตินี้เมียนมาร์ก็จะสามารถเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่ไม่แพ้ใครในอาเซียน และทำให้มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันไม่ใช่น้อย

มิติมุมมองว่าด้วยเมียนมาร์นี้ ยังประกอบส่วนด้วยความเป็นประเทศที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นฐานกำลังของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานได้ดี ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีกำลัง ซื้อ เนื่องด้วยมีจำนวนประชากรมากถึง 58 ล้านคน ถือได้ว่าเป็นตลาดที่ขนาดใหญ่ทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เมียนมาร์เป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของนักลงทุนเป็นอย่างดี

ประเด็นดังกล่าวทำให้พลันที่รัฐบาลเมียนมาร์ส่งสัญญาณเปิดประเทศและปฏิรูปประชาธิปไตย นักลงทุนจำนวนมากที่เล็งเห็นโอกาสนี้ก็เดินทางเข้าไปดูลู่ทาง และเริ่มหาพันธมิตรปักหลักทำธุรกิจกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสัจธรรมที่ผู้คนในเครือข่ายของซีพี มักพูดกันเสมอๆ ว่า “ที่ใดมีหนอนเยอะที่นั่นก็ย่อมมีนกเยอะ”

สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จากการที่มองเห็นศักยภาพตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีความเพียบพร้อมของวัตถุดิบ ขณะที่ซีพีมีทั้งองค์ความรู้ และมีเทคโนโลยีในเกษตรอุตสาหกรรม

พันธกิจของซีพีในเมียนมาร์กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะมีเป้าหมายสู่การเป็น “Kitchen of Myanmar” และตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้วางกลยุทธ์ทั้งในการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด เพื่อสร้างการเติบโตให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบการรุกคืบของซีพีในเมียนมาร์ดำเนินไปเช่นเดียวกับยุทธศาสตร์การลงทุนของซีพีในประเทศอื่นๆ เริ่มแรกซีพีลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำก่อน โดยเข้าไปทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด จากนั้นตามมาด้วยกิจการอาหารสัตว์ ก่อนที่จะขยายไปสู่กิจการอาหารเพื่อการบริโภคหรืออาหารมนุษย์ โดยเมื่อ 7 ปีที่แล้วซีพีเริ่มเข้าสู่กิจการอาหารโดยเริ่มจากไส้กรอก ลูกชิ้น กุนเชียง ไก่ย่างห้าดาว

แม้ตลาดเมียนมาร์จะไม่ใหญ่มาก แต่ซีพีให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศนี้ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น ซีพีจึงลงทุนสร้างโรงงานที่มีมาตรฐานสูงมาก พรั่งพร้อมทั้งระบบ HACCP GMP และ ISO ซึ่งด้วยเหตุนี้เองผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้แบรนด์ซีพีก็ได้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมสูงในเวลาไม่กี่ปีต่อมา

ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ ด้าน “คุณภาพ” ของซีพีที่จะถูกนำไปใช้ในการลงทุนทุกประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม พฤติกรรม ดังนั้น “ข้อมูล” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการค้าขายในยุคใหม่ เป็นฐานประกอบการตัดสินใจ ซึ่งซีพีจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีการเก็บข้อมูลทำวิจัยตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากขาดวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

แม้ความสดใหม่ของเมียนมาร์ จะทำให้ประเทศนี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก แต่พัฒนาการด้านระบบสาธารณูปโภค ก็เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและวิถีชีวิตประจำวันรวมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ซึ่งมักมีปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องเป็นประจำ

ซีพี ตอบสนองต่อข้อจำกัดนี้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับตลาดเมียนมาร์ขึ้นเป็นการเฉพาะ ด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่ผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยความร้อน หรือ Retort ทำให้ไม่ต้องเก็บอาหารนั้นไว้ในตู้เย็น แต่มีอายุสำหรับการบริโภคนานนับปี รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ที่สามารถฉีกซองกินได้ดังเช่นอาหารปรุงสำเร็จใหม่ๆ หรือหากจะอุ่นก่อนรับประทานก็สามารถทำได้เช่นกัน

ยุทธศาสตร์การเติบโตของ “Kitchen of Myanmar” ในแบบของซีพี ดำเนินไปภายใต้นโยบายว่าด้วย 3 ประโยชน์ ซึ่งถือเป็นกรอบโครงความคิดที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ซีอีโอของซีพี พยายามบอกกล่าวต่อสาธารณะ

ความสำคัญของชุดความคิดนี้อยู่ที่ การกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ระบุว่าไม่ว่าจะลงทุนในประเทศใดก็ตามจะต้องคำนึงถึง “นโยบาย 3 ประโยชน์” อันหมายถึง ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และมีประโยชน์ต่อบริษัทเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งธนินท์เชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การลงทุนในทุกประเทศของซีพีประสบความสำเร็จและเติบโตยั่งยืน

“ในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่ยากจน ธุรกิจของซีพีต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ทำให้เกษตรกรผู้ยากจนมีรายได้มากขึ้น ต้องให้เขามีรายได้ก่อนแล้วเราจึงแบ่งจากรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นของเรา การเข้าไปในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือยากจน รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะห่วงที่สุดว่านักธุรกิจมาทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรของเขาหรือไม่ มาทำประโยชน์ให้กับประชาชนของเขาหรือไม่ นี่คือความห่วงของประเทศที่ซีพีได้ไปสัมผัส”

“การที่ซีพีสำเร็จได้ เพราะเข้าใจว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนรัฐบาลต้องการอะไร เขาต้องการคนที่ไปลงทุนแล้วทำประโยชน์ให้กับประเทศเขา ไปลงทุนแล้วประชาชนเขาได้ประโยชน์ แน่นอนว่าเมื่อประเทศเขาได้ประโยชน์ ประชาชนเขาได้ประโยชน์ สินค้าที่เราผลิตออกมาได้ก็มีคนซื้อ ถ้าหากประเทศเขาไม่ได้ประโยชน์ เขาไม่ส่งเสริมแน่นอน และถ้าประชาชนไม่ได้ประโยชน์เขาก็คงไม่ซื้อสินค้าของเรา เพราะเราไม่มีอะไรที่จะจูงใจ เงินเขาก็น้อย”

การลงทุนของซีพีในเมียนมาร์ ยังดำเนินไปในรูปของโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมคนเมียนมาร์ มีการถ่ายทอดองค์กรความรู้สู่สังคมในโปรแกรมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรของเมียนมาร์ ทั้งโครงการฟาร์มทดลอง และศูนย์ฝึกอบรมมหาวิทยาลัยด้านสัตวแพทย์และสัตวบาล

โครงการเหล่านี้เป็นความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ เพื่อการจัดตั้งโรงเรียนฝึกสอนเกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องให้รู้วิธีการเลี้ยงสัตว์ปีก ซึ่งซีพีมีองค์ความรู้พร้อมมูล และเป็นการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่โครงการเฉพาะกิจ แต่เป็นโครงการระยะยาว มีการอบรมไปแล้ว 100 รุ่น รุ่นละ 30 คน

การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ยังรวมไปถึงการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงพนักงานจำนวนกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นชาวเมียนมาร์เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเน้นจ้างคนท้องถิ่น และถ้าคนเหล่านั้นพร้อมก็ให้เลื่อนตำแหน่งเติบโตขึ้นโดยจะจ้างคนไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ในภาพรวม พนักงานที่ทำงานในโรงงาน บวกกับชาวไร่ที่ซีพีเข้าไปส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด รวมไปถึงครอบครัว น่าจะทำให้มีคนเมียนมาร์ที่เกี่ยวข้องกับซีพีมากถึง 2 แสนคนทีเดียว

แน่นอนว่า “Kitchen of Myanmar” ซึ่งเป็นธงที่ตั้งเอาไว้ ย่อมไม่ได้หมายถึงการเติบโตทางตัวเลขหรือเม็ดเงินผลกำไรของซีพีเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกมิติหนึ่งนี่อาจเป็นการรุกคืบขยายอาณาจักรของซีพี ที่กำลังข้ามพ้นบริบทของเออีซีไปไกลแล้ว

แต่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับใครและปริมาณที่มากน้อยอย่างไร เป็นกรณีที่ต้องติดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น