ASTVผู้จัดการ - สื่อจีนตีแผ่เบื้องลึกดิวซื้อหุ้นผิงอัน บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของจีน ระบุ "ครอบครัวทักษิณ" มีเอี่ยว 1 ใน 3 ส่วน ของเงินลงทุนก้อนแรกในการซื้อหุ้นบริษัทประกันจากเอสเอสบีซีของเครือซีพีที่มีมูลค่ากว่า 15,200 ล้านเหรียญฮ่องกง ด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์ยันซื้อหุ้นถูกต้องตามกฎหมาย แหล่งเงินโปร่งใส
สืบเนื่องจากการแถลงข่าวของเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส (HSBC Holdings) เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2555 โดยตกลงขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทจีนของตน ผิงอัน อินชัวแรนซ์ (Ping An Insurance Group) ให้แก่ บริษัทไทยคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มูลค่าราว 9,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 72,736 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท) หรือเท่ากับหุ้นร้อยละ 15.57 ในราคาหุ้นละ 59 เหรียญฮ่องกง โดยนับเป็นการตัดทอนการลงทุนครั้งใหญ่สุดในรอบอย่างน้อย 17 ปี ของ เอชเอสบีซี
ล่าสุดนิตยสารรายสัปดาห์ไฉซิน ซินซื่อจี้ ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจการเงินในประเทศจีนฉบับที่ 50 ของปี ค.ศ.2012 ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2555 ได้นำเสนอเรื่องราวดังกล่าวเป็นข่าวปกโดยใช้ชื่อรายงานว่า “ใครซื้อผิงอัน?”
รายงานชิ้นยาวดังกล่าว เกริ่นว่า กลุ่มผิงอัน อินชัวแรนซ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 หรือ 24 ปีก่อนในเมืองเซินเจิ้น โดยในตอนแรกทำธุรกิจด้านการประกันภัย ก่อนที่ต่อมาจะขยายกิจการ และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปลงทุนและเปิดให้บริการทางด้านการเงินมากมายจนทำให้จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 42 ล้านหยวน งอกเงยเป็นสินทรัพย์มากกว่า 2.28 ล้านล้านหยวนในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า ในขั้นตอนของการซื้อขายหุ้นของผิงอันดังกล่าวซึ่งเอชเอสบีซีขายหุ้นให้กับเครือซีพีซึ่งมีนายใหญ่คือ เซี่ย กั๋วหมิน หรือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนนั้น ขั้นตอนแรกการซื้อขายเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการถ่ายหุ้นราวร้อยละ 3.5 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 15,200 ล้านเหรียญฮ่องกง ขณะที่การซื้อขายหุ้นก้อนใหญ่ในขั้นที่สองราวร้อยละ 12 ที่เหลือนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
ทั้งนี้นิตยสารรายสัปดาห์ไฉซิน ซินซื่อจี้ ระบุว่า แม้เครือซีพีจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยอยู่ดีว่าเอาเงินซื้อหุ้นของผิงอันมาจากแหล่งใด
“ แม้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เจิ้งต้า”) จะมีขนาดไม่เล็ก สินทรัพย์สุทธิในปี 2554 ก็มากถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่การเข้าไปฮุบหุ้นใหญ่ของผิงอันที่มีมูลค่ากว่า 9,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในครั้งเดียวก็เป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปยากจะนึกถึง ถามว่าเงินทุนในการซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากไหน?” นิตยสารรายสัปดาห์ของจีนตั้งคำถาม
ก่อนที่ปริศนาจะถูกคลี่คลายเมื่อทางซีพีออกมาเปิดเผยว่า เงินส่วนใหญ่ที่จะนำมาซื้อผิงอันนั้นเป็นเงินกู้มาจากธนาคารเพื่อการพัฒนา (CDB) ที่เป็นของรัฐบาลจีนโดยได้รับการอนุมัติจาก คณะกรรมการกำกับการประกอบธุรกิจประกันภัยของจีน (China Insurance Regulatory Commission)
นอกจากนี้จากการตรวจสอบของนิตยสารไฉซิน ซินซื่อจี้ยังพบด้วยว่า เงินก้อนแรกจำนวน 15,200 ล้านเหรียญฮ่องกง ที่ซีพีนำไปซื้อหุ้นก้อนแรกจากเอชเอสบีซีราว ร้อยละ 3.5 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นั้น 1 ใน 3 ของเงินก้อนดังกล่าวน่าจะมาจากครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ขณะที่อีกส่วนน่าจะมาจากนายเซียว เจี้ยนหัว เซียนด้านการลงทุนของจีน
ทั้งนี้ นิตยสารจีนฉบับดังกล่าวยังระบุถึงประวัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยว่า ครอบครัวของทักษิณนั้นเป็นครอบครัวระดับหัวแถวมหาเศรษฐีในแวดวงการเมืองและธุรกิจของประเทศไทย โดยเคยเป็นถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอันดับที่หนึ่งของเมืองไทย ก่อนที่ต่อมาจะก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และแม้จะต้องหลบหนีอยู่นอกประเทศหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 แต่ปัจจุบันทักษิณก็ยังมีน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 ดำรงนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย.
***ซีพีแจงซื้อขายหุ้นถูกต้องตามกม.
ขณะที่ล่าสุด เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ออกมาชี้แจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเข้าซื้อขายหุ้นผิงอันและที่มาของแหล่งเงิน โดยระบุว่า การซื้อขายขาย(หุ้น) ถูกต้องตามกฎหมาย และที่มาของแหล่งเงินทุนโปร่งใส
โดยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 55 บริษัท Tongying Maoyi Co.,Ltd., บริษัท Longfu Group Co.Ltd., บริษัท Shangfa Konggu Co.,Ltd. และ บริษัทYisheng Fazhan Co.Ltd.ในฐาะผู้ซื้อ ได้เซ็นสัญญาการโอนหุ้นของบริษัท Ping An Insurance กับบริษัท HSBC Insurance Holdings Limited และThe Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited
" ผู้ซื้อทั้ง 4 บริษัทนั้น เป็นบริษัทลูกของซีพี ซึ่งซีพีเป็นผู้ลงทุนเต็มจำนวน นอกจากนี้โคงการดังกล่าวได้มีการซื้อขายด้วยเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยบริษัทซีพี ผู้ถือหุ้น (ของบริษัทฯ) และบริษัทในเครือฯ"
ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการเปิดประเทศจีนในปี 1979 ซีพีได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ซีพีเป็นบริษัทลงทุนจากต่างประเทศบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุน (ในจีน) และหลายปีที่ผ่านมานี้ ซีพีได้ยึดถือแนวทางสามเกษตร (ซานหนง) และรักษาแนวทางสามประโยชน์ (ประโยชน์ต่อประเทศ ประโยชน์ต่อประชาชน ละประโยชน์ต่อบริษัท) มาโดยตลอด นอกจากนี้ ซีพียังปฏิรูปแนวทาการการบริหารเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายพื้นที่ทางการเกษตร การทำการเกษตรด้วยมาตรฐานอันเข้มงวด และการทำการเกษตรแบบทันสมัย
ซีพีมีความมั่นใจในการพัฒนาของ Ping An Insurance และการลงทุนที่สำคัญครั้งนี้มีจุดมุ่หมายเพื่อการร่วมกับ Ping An Insurance และเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจทุกสาขาในชนบท ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างโครงการเกษตรร่วมสมัยใหม่ในประเทจีน.