ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เรียกว่า เป็นข่าวที่อึกทึกครึกโครมส่งท้ายปีมังกรทอง 2555 กันเลยทีเดียว สำหรับการบรรลุข้อตกลงในการซื้อขายหุ้น “ผิงอัน อินชัวแรนซ์ (Ping An Insurance Group)” ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่อันดับสองของประเทศจีน ระหว่างผู้ขายคือ “เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส (HSBC Holdings)” และผู้ซื้อคือ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือซีพีของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์”
เพราะเป็นดีลธุรกิจที่มีมูลค่าราว 9,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 72,736 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือคิดเป็นเงินไทยก็สูงลิบลิ่วถึงประมาณ 2.9 แสนล้านบาท) หรือเท่ากับหุ้นร้อยละ 15.57 ในราคาหุ้นละ 59 เหรียญฮ่องกง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์เลยก็ว่าได้
และที่สร้างความเซอร์ไพรส์ตามมาไม่แพ้กัน แถมเผลอๆ จะมากกว่าเสียด้วยซ้ำไปก็คือ การที่สื่อจีนตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าซื้อหุ้นผิงอันของซีพีในครั้งนี้น่าจะไม่ใช่เงินของซีพีร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่ 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่บัดหนีมีสภาพเป็นนักโทษชายหนีคดี กลายเป็นสัมภเวสีเร่ร่อนไปในประเทศต่างๆ
แน่นอน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ข้อมูลดังกล่าวมีเปอร์เซ็นต์ความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และถ้าเป็นไปตามนั้นจริง อะไรคือจุดที่ทำให้นักโทษชายหนีคดีทักษิณไปจูบปากหวานชื่นกับเจ้าสัวธนินท์ได้ ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปดูสัญญาณหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตก็จะพบว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเช่นกัน
กล่าวสำหรับอภิมหาการซื้อขายอันเป็นประวัติศาสตร์ของทั้งเอชเอสบีซี โฮลดิ้งสและเครือเจริญโภคภัณฑ์เริ่มเปิดฉากความสนใจโดยสืบเนื่องจากการแถลงข่าวของเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2555 ว่าตกลงขายหุ้นทั้งหมดในผิงอัน อินชัวแรนซ์ให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
ทั้งนี้ การขายหุ้นดังกล่าวนับเป็นการตัดทอนการลงทุนครั้งใหญ่สุดในรอบอย่างน้อย 17 ปี ของ เอชเอสบีซี ท่ามกลางความฉงนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะโดยข้อเท็จจริงก็คือ ตลาดประกันภัยของจีนขยายตัวในอัตราร้อยละ 19 ในแต่ละปีระหว่างสิบปีมานี้ กลายเป็นตลาดใหญ่อันดับหกของโลก ขณะที่สินทรัพย์ในภาคประกันภัยขยายตัวเป็นสิบเท่า
ขณะเดียวกันคำถามที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ได้ก็คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์นำเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวมาจากไหน
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานข่าวโดยระบุว่า แหล่งข่าวหลายแห่งยืนยันว่า เงินจำนวนกว่าครึ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นำไปซื้อหุ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทผิงอันประกันภัยนั้น ก้อนสำคัญกู้มาจากธนาคารเพื่อการพัฒนา (ดีซีบี) ที่เป็นของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง กระทั่งมีคำถามท่วมท้นตามมาว่า เหตุใดรัฐบาลปักกิ่งจึงยอมให้ผู้ลงทุนต่างชาติเช่นซีพี สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐ มาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ของจีนเองได้
เมื่อยังคงไม่มีความชัดเจนเรื่องแหล่งเงินทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการซื้อหุ้นผิงอันจากเอชเอสบีซี สื่อจีนก็เฝ้าติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างไม่ลดละ กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2555 นิตยสารรายสัปดาห์ไฉซิน ซินซื่อจี้ (财新新世纪) ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจการเงินในประเทศจีน ฉบับที่ 50 ของปี ค.ศ.2012 ได้นำเสนอเรื่องราวดังกล่าวเป็นข่าวปกโดยใช้ชื่อรายงานว่า “ใครซื้อผิงอัน?” ก็ได้ทำเงื่อนงำของเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้น
รายงานชิ้นยาวดังกล่าว เกริ่นว่า กลุ่มผิงอัน อินชัวแรนซ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 หรือ 24 ปีก่อนในเมืองเซินเจิ้น โดยในตอนแรกทำธุรกิจด้านการประกันภัย ก่อนที่ต่อมาจะขยายกิจการ และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปลงทุนและเปิดให้บริการทางด้านการเงินมากมายจนทำให้จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 42 ล้านหยวน งอกเงยเป็นสินทรัพย์มากกว่า 2.28 ล้านล้านหยวนในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า ในขั้นตอนของการซื้อขายหุ้นของผิงอันดังกล่าวซึ่งเอชเอสบีซีขายหุ้นให้กับเครือซีพีซึ่งมีนายใหญ่คือ เซี่ย กั๋วหมิน หรือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนนั้น ขั้นตอนแรกการซื้อขายเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการถ่ายหุ้นราวร้อยละ 3.5 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 15,200 ล้านเหรียญฮ่องกง ขณะที่การซื้อขายหุ้นก่อนใหญ่ในขั้นที่สองราวร้อยละ 12 ที่เหลือนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
ทั้งนี้ นิตยสารรายสัปดาห์ไฉซิน ซินซื่อจี้ ระบุว่า แม้เครือซีพีจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยอยู่ดีว่าเอาเงินซื้อหุ้นของผิงอันมาจากแหล่งใดเพราะซีพีมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ในปี 2554) ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีเงินพอซื้อหุ้นครั้งนี้ที่มีมูลค่าถึง 9.4 พันล้านเหรียญฯ เว้นเสียแต่ว่าจะมีผู้ให้ความช่วยเหลือ
“แม้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เจิ้งต้า”) จะมีขนาดไม่เล็ก สินทรัพย์สุทธิในปี 2554 ก็มากถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่การเข้าไปฮุบหุ้นใหญ่ของผิงอันที่มีมูลค่ากว่า 9,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในครั้งเดียวก็เป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปยากจะนึกถึง ถามว่าเงินทุนในการซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากไหน?” นิตยสารรายสัปดาห์ของจีนตั้งคำถาม
ก่อนที่ปริศนาจะถูกคลี่คลายเมื่อทางซีพีออกมาเปิดเผยว่า เงินส่วนใหญ่ที่จะนำมาซื้อผิงอันนั้นเป็นเงินกู้มาจากธนาคารเพื่อการพัฒนา (CDB) ที่เป็นของรัฐบาลจีนโดยได้รับการอนุมัติจาก คณะกรรมการกำกับการประกอบธุรกิจประกันภัยของจีน (China Insurance Regulatory Commission)
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ซีดีบีออกวงเงินสินเชื่อให้ถึง 100,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 500,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้จากการตรวจสอบของนิตยสารไฉซิน ซินซื่อจี้ยังพบด้วยว่า เงินก้อนแรกจำนวน 15,200 ล้านเหรียญฮ่องกง ที่ซีพีนำไปซื้อหุ้นก้อนแรกจากเอชเอสบีซีราว ร้อยละ 3.5 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นั้น 1 ใน 3 ของเงินก้อนดังกล่าวน่าจะมาจากครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ขณะที่อีกส่วนน่าจะมาจากนายเซียว เจี้ยนหัว เซียนด้านการลงทุนของจีน ที่ไปดึงเงินมาจากธนาคาร 3 แห่งในจีนตอนเหนือที่เขามีสัมพันธ์แนบแน่น ได้แก่ ธนาคารในฮาร์บิน ซานตง และมองโกเลียใน
แต่ทนายของเสี้ยวได้ออกแถลงการณ์ว่า ลูกความของเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายหุ้นระหว่างธนาคารเอชเอสบีซีและซีพี
สื่อดังกล่าวบอกด้วยว่า ซีพีและนายเซียว เจี้ยนหัวไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าของผิงอัน โดยต่างมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมานาน
“เจียรวนนท์ ผิงอัน และซีอีโอหม่าหมิงซี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยการทำธุรกิจของซีพีในจีนแผ่นดินใหญ่หลายธุรกิจ มาจากการช่วยเหลือของผิงอัน”นักกฎหมายที่ใกล้ชิดกับบริษัทประกันภัยแห่งนี้กล่าวกับไฉซิน ซินซื่อจี้
นิตยสารจีนฉบับดังกล่าวยังระบุถึงประวัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยว่า ครอบครัวของทักษิณนั้นเป็นครอบครัวระดับหัวแถวมหาเศรษฐีในแวดวงการเมืองและธุรกิจของประเทศไทย โดยเคยเป็นถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอันดับที่หนึ่งของเมืองไทย ก่อนที่ต่อมาจะก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และแม้จะต้องหลบหนีอยู่นอกประเทศหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 แต่ปัจจุบันทักษิณก็ยังมีน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 ดำรงนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
เมื่อสื่อจีนรายงานข้อมูลออกมาเช่นนั้น คำถามที่ประเดประดังเข้ามาในฉับพลันทันทีก็คือ ข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ และถ้าเป็นความจริง เจ้าสัวธนินท์และนักโทษชายทักษิณไปคลิ๊กกันที่จุดบรรจบไหนถึงได้ตกลงปลงใจที่จะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจเช่นนี้
แน่นอน ในเบื้องต้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ออกแถงการณ์ชี้แจง เรื่องการชี้แจงเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้น บริษัท PING AN INSURANCE จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยระบุว่า “การซื้อขาย(หุ้น) ถูกต้องตามกฎหมาย-ที่มาของแหล่งเงินทุนโปร่งใส โดยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.55 บริษัท All Gain Trading Limited บริษัท Bloom Fortune Group Limited บริษัท Business Fortune Holdings Limited และบริษัท Easy Boom Developments Limited ในฐานะผู้ซื้อ ได้เซ็นสัญญาการโอนหุ้นของบริษัท Ping An Insurance กับบริษัท HSBC Insurance Holdings Limited และ The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited
“ซีพี (บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด) ขอชี้แจงว่า ผู้ซื้อทั้ง 4 บริษัทนั้น เป็นบริษัทลูกของซีพี ซึ่งมีซีพีเป็นผู้ลงทุนเต็มจำนวน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการซื้อขายด้วยเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยบริษัทซีพี ผู้ถือหุ้น (ของบริษัทฯ) และบริษัทในเครือฯ นับตั้งแต่มีการเปิดประเทศจีนในปี 1979 ซีพีได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ซีพีเป็นบริษัทลงทุนจากต่างประเทศบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุน (ในจีน) และหลายปีที่ผ่านมานี้ ซีพีได้ยึดถือแนวทางสามเกษตร (ซานหนง) และรักษาแนวทางสามประโยชน์ (ประโยชน์ต่อประเทศ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท) มาโดยตลอด
“นอกจากนี้ ซีพียังปฏิรูปแนวทางการการบริหารเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายพื้นที่ทางการเกษตร การทำการเกษตรด้วยมาตรฐานอันเข้มงวด และการทำการเกษตรแบบทันสมัย ซีพีมีความมั่นในในการพัฒนาของ Ping An Insurance และการลงทุนที่สำคัญครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการร่วมกับ Ping An Insurance และเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจทุกสาขาในชนบทซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างโครงการเกษตรกรรมสมัยใหม่ในประเทศจีน”
ทว่า แม้เครือเจริญโภคภัณฑ์แถลงการณ์ยืนยันความโปร่งใสในเรื่องของแหล่งเงินทุน โดยระบุว่ามีบริษัทลูก 4 แห่งเป็นผู้ซื้อ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไม่มีเนื้อหาท่อนใดเลยที่ปฏิเสธความเกี่ยวดองกับ นช.ทักษิณในการซื้อหุ้นผิงอันเลยแม้แต่น้อย
ขณะเดียวกัน ถ้าหากย้อนกลับไปตรวจสอบเรื่องราวบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็จะเห็นว่า มีสัญญาณความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาระหว่างนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรและเครือเจริญโภคภัณฑ์หลายสัญญาณด้วยกัน
เหตุการณ์แรกที่เชื่อว่าหลายคนคงจำกันได้ดีเพราะเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก ก็คือการที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์หน้าหนึ่ง ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ตีพิมพ์ภาพข่าวในหัวข้อ “Business elite hook up in Dubai” โดยบรรยายภาพว่า เจ้าของธุรกิจชั้นนำของไทยได้เข้าร่วมการสัมมนา “ฟอร์บส์ โกลบอล ซีอีโอ คอนเฟอเรนซ์” ในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค.2555 ซึ่งในภาพดังกล่าวปรากฏรูปนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์, นายคริสโตเฟอร์ ฟอร์บส์ รองประธานฟอร์บส์ มีเดีย, นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้บริหารเครือเซ็นทรัล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียืนเรียงกันตามลำดับจากซ้ายไปขวา
ในครั้งนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ดังทั้งแผ่นดินมาแล้วครั้งหนึ่ง
ถัดมา ถ้าหากใครเป็นสมาชิกของช่องโทรทัศน์ในระบบบอกรับสมาชิกที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเจ้าของคือ “ทรูวิชั่นส์” ก็จะพบว่า หนึ่งในหลายๆ ช่องที่ทรูฯ นำมาติดตั้งเอาไว้ด้วยก็คือ ช่องทีวีของคนเสื้อแดงที่มีชื่อว่า “วอยซ์ทีวี” ซึ่งมี รด.ว่าการกระทรวงกลาโหม-เสี่ยโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายคนเดียวของนักโทษชายทักษิณเป็นเจ้าของ
นั่นก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ทำให้สังคมอดคิดไม่ได้ถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาระหว่างชินวัตรกับเจียรวนนท์
ยิ่งเมื่อผนวกรวมกับการ ประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่เพิ่งปิดฉากไปอย่างหวานชื่นทั้งค่ายทรูมูฟ ค่ายเอไอเอสและค่ายดีแทค โดยปราศจากความขัดแย้งของผู้เข้าร่วมประมูลให้เห็นสักแอะเดียว ก็ยิ่งทำให้หลายคนจินตนาการเลยเถิดไปต่อไหนถึงไหน
ด้วยเหตุดังกล่าวหลายคนจึงไม่แปลกใจเมื่อปรากฏข่าวนักโทษชายทักษิณมีเอี่ยวในการซื้อหุ้นผิงอันร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ในเมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว ซึ่งแม้จะไม่ได้ปฏิเสธความเกี่ยวพันกับนักโทษชายหนีคดีโดยตรง และสมมติว่า ถ้อยแถลงของซีพีเป็นเรื่องจริง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมจึงปรากฏข่าวดังกล่าวออกมา?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือข่าวปล่อยทางการเมืองที่ฝั่งนักโทษชายหนีคดีเจตนาให้เป็นเช่นนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งสัญญาณให้เห็นว่า ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับเครือซีพีของเจ้าสัวธนินท์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และเมื่อชินวัตรเป็นทองแผ่นเดียวกันกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ไม่มีอะไรในราชอาณาจักรไทยที่จะขัดขวางการสถาปนารัฐไทยใหม่ของเขาได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า สถานะของซีพีในประเทศไทยทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมหนักแน่นและมั่นคงดุจขุนเขาเพียงใด
เชื่อเป็นอย่างยิ่ง อีกไม่นานนัก ข้อเท็จจริงทั้งหมดจะปรากฏแก่สายตาของทุกคน
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน “เปิดปมดีลฮุบประกันภัยจีน ซีพี-ทักษิณมีแต่ได้ไม่มีเสีย” หน้า 12)