ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและคณะผู้บริหารอาณาจักรซีพีกับดีลยักษ์ล่าสุดในการเข้าถือหุ้น บริษัทผิงอัน อินชัวแรนซ์ บริษัทประกันภัยอันดับสองของประเทศจีน ด้วยมูลค่าสูงถึงกว่า 2.9 แสนล้านบาท คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นการขยับขยายอาณาจักรเครือซีพีในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเท่านั้น?
แต่หากมองลึกลงไปแล้วการซื้อหุ้นของบริษัทผิงอัน อินชัวแรนซ์ ต่อจากเจ้าของเดิมอย่าง เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส (HSBC Holdings) กลับมีเงื่อนงำที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกหลายสาเหตุรวมถึงการมีชื่อนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อหุ้นครั้งนี้
และเมื่อลองต่อจิกซอว์ทั้งหมดภาพที่ออกมากลับพบว่า มหากาพย์ดีลยักษ์ ในครั้งนี้มีส่วนเหมือนกับการขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่กองทุนเทมาเส็กคือ มี การเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง
การเมืองบีบHSBCทิ้งหุ้นผิงอัน
บริษัทผิงอัน อินชัวแรนซ์ เป็นบริษัทประภันภัยขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 หรือ 24 ปีก่อนในเมืองเซินเจิ้น ทำธุรกิจด้านการประกันภัยในช่วงแรกก่อนที่จะขยายกิจการ และกระจายความเสี่ยงไปในหลากธุรกิจด้านบริการการเงินจนทำให้มีทุนจดเบียนถึง 2.28 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากทุนจดเบียนเริ่มต้นที่มีเพียง 42 ล้านหยวน
ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยมองตลาดของธุรกิจนี้ในประเทศจีนในแนวทางเดียวกันคือ โอกาสการทำกำไรจากการรับประกัน เนื่องจากการประกันภัยของประเทศจีนยังอยู่ระหว่างการพัฒนา และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้ออันมหาศาลของประชากรจีน ส่งผลให้การขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ของHSBCในรอบ 17 ปีถูกตั้งคำถามว่า ทำไมต้องขาย?...
แหล่งข่าวในวงการสื่อมวลชนจีน เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า การขายหุ้นผิงอันของHSBC ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวอ้างด้านการขายทำกำไรในช่วงที่เหมาะสม และยิ่งไร้เหตุผลมากขึ้นกำกับขายหุ้นบริษัทที่มีอนาคตอย่าง ผิงอัน
เมื่อขุดคุ้ยลึกลงไปกลับพบว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นของHSBCปรากฏชื่อของบุคคลใกล้ชิดขั้นนับญาติกับนักการเมืองใหญ่ระดับนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า
บุคคลดังกล่าวทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นด้าน ผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเมือง(Conflict of Interests)ซึ่งนำไปสู่การขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อชำระมลทิน และล้างข้อกล่าวหาในอนาคตก่อนการส่งมอบอำนาจต่อให้ผู้นำรุ่นที่ 5
แจ๊คพ็อตซีพี
มหากาพย์การขายหุ้นประวัติศาสตร์ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น แต่ยังมีโจทย์ที่ต้องแก้คือการหาบริษัทเข้ามารับซื้อหุ้นมูลค่ามหาศาลกว่า 9,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(2.9แสนล้านบาท)
แน่นอนว่าบริษัทประกันภัยในประเทศจีนเหมือนชิ้นเนื้อติดมันที่บรรดาเฮดจ์ฟันด์ และบริษัทประกันภัยยักษ์ตาน้ำข้าว ต้องการจะเข้าถือหุ้นเพื่อทำธุรกิจ ในประเทศจีน แต่คงไม่ง่ายเพราะการขายหุ้นในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับความต้องการด้านเงินทุนแต่อย่างใด
เป็นเรื่องการหาบริษัทที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาลจีนเข้ามารับช่วงหุ้นต่อเท่านั้น ซึ่งเมื่อมองดูความสัมพันธ์ของเครือซีพี ที่มีนายใหญ่คือ เซี่ย กั๋วหมิน หรือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ จะพบว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่สมัย เติ้งเสี่ยวผิง ทำการเปิดประเทศ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เจิ้งต้า มีการลงทุนทำธุรกิจหลายด้าน รวมถึงธุรกิจการเกษตรที่มีซีพีมีความเชี่ยวชาญ
แจ็คพ็อตจึงตกมาอยู่ในอุ้มมือของเจ้าสัวธนินท์ ทำให้ดีลยากระดับนี้ง่ายยิ่งกว่า"ปอกกล้วยเข้าปาก"เพราะหากพูดกันตามเกมแล้วเป็นเรื่องยากที่จะมีทุนจากต่างชาติเข้าไปถือหุ้นในบริษัทประกันภัยของจีน เนื่องจากต้องผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเช่นเดียวกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ของไทย ซึ่งมีกฎหมายด้านการถือหุ้นของต่างชาติกำกับเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง
และยิ่งยากขึ้นไปอีกหากมองดูมูลค่าหุ้นมหาศาลระดับ 9,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(2.9แสนล้านบาท) เพราะถึงแม้อาณาจักรซีพีจะยิ่งใหญ่แต่ไม่น่าจะมีเงินทุนมากพอที่จะเข้ารับช่วงต่อหุ้นจำนวนนี้ โดยจากรายงานจากนิตยสารด้านการเงินพบว่าในปี 2554 สินทรัพย์ของบริษัทซีพีรวมทั้งหมดมีอยู่แค่ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น
งานนี้จัดให้!...ถึงแม้จะเงินทุนไม่พอแต่ซีพีไม่มีท่าทีกังวลแต่อย่างใด
แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์จะออกนามให้ข้อมูลกับ"เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์"ว่า "เริ่มต้นนั้น ซีพีดูไม่ได้กังวลอะไรหนักหนา เพราะรู้ตัวเองไม่ได้มีเงินทุนพอเพียงที่จะมาซื้อหุ้นของบริษัทในเครือเอชเอสบีซี แต่ว่าทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อดีซีบีก้าวเข้ามาและบอกว่าจะช่วยปล่อยเงินกู้ทำให้ธุรกรรมครั้งนี้ลุล่วงรวดเร็วปานฟ้าแลบ"
การเข้ามาของธนาคารเพื่อการพัฒนา(ซีดีบี)ที่เป็นของรัฐบาลจีนยิ่งตอบประเด็นการเมืองให้ดูชัดเจนขึ้น เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลจีนจะยอมให้ต่างชาติกู้เงินซื้อธุรกิจประกันของประเทศตนเองแบบ อัฐยายซื้อขนมยาย
แห่งข่าวคนเดียวกันเปิดเผยกับ"เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์"อีกว่า "การทำธุรกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ คณะมุขมนตรีจีนจะต้องผ่านความเห็นชอบก่อน ธนาคารซีดีบีจึงจะสามารถปล่อยกู้ได้ และประธานคณะมุขมนตรีคนปัจจุบันยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ซึ่งจะหมดวาระในปีหน้านี้"
พร้อมมีการตั้งข้อสังเกตเหน็บแนมด้วยว่า"หากบรรดากองทุนของมะกันจะข้อซื้อหุ้นในผิงอัน แต่ว่าเงินไม่พออยากจะขอยืมสักหน่อย ซีดีบีจะว่าอย่างไร รัฐบาลจีนจะอนุมัติหรือไม่
ไม่ใช่แค่ซีพีที่ได้รับโอกาสครั้งนี้ จากรายงานของนิตยสารรายสัปดาห์ไฉซิน ซินซื่อจี้ ฉบับที่ 50 ชื่อ"ใครซื้อผิงอัน"ยังพบว่า เงินก้อนแรกจำนวน 15,200 ล้านเหรียญฮ่องกงที่ซีพีนำไปซื้อหุ้นก้อนแรกจากHSBCราวร้อยละ 3.5 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 นั้น 1ใน 3 ของเงินก้อนดังกล่าวน่าจะมาจากครอบครัว นช.ทักษิณ ชินวัตร และอีกส่วนน่าจะมาจากนายเซียว เจี้ยนหัว เซียนด้านการลงทุนของจีน
ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวของนช.ทักษิณ ไม่มีการเปิดเผยว่ามาจากแหล่งใด แต่ในส่วนของน่ายเซียว เจี้ยนหัว นั้น แหล่งข่าวในประเทศจีนระบุว่า นายเซียว เจี้ยนหัว เป็นนักลงทุนหนุ่มใหญ่ที่มีการลงทุนในหุ้นหลากหลาย แต่การลงทุนจำนวนมหาศาลในครั้งนี้เงินทุนหลักที่ได้จะมากจากธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีนเป็นหลัก" ทั้งหมดจึงยิ่งตอกย้ำประเด็นการเมืองให้เด่นขึ้นกว่าเดิมอีก
"ซีพี-นช.ทักษิณ"มีแต่ได้ไม่มีเสีย
เป็นดีลยากแต่ไม่เหนื่อยของซีพี แต่ไม่ใช่แค่ซีพีที่ได้รับผลประโยชน์แบบเต็มๆ ฝ่ายเดียว เพราะดูเหมือนงานนี้จะหนีบเอานช.ทักษิณเข้ามาร่วมวงด้วย
ซีพีเหมือนถูกเลือกให้รับภารกิจการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และไม่น่าจะมีเหตุผลที่จะต้องหาหุ้นส่วนในการลงทุนเพิ่ม เพราะได้รับเงินกู้จากดีซีบีอยู่แล้ว ซึ่งการมีชื่อของนช.ทักษิณในการซื้อหุ้นล็อตแรกจึงน่าจะมากจากความสัมพันธ์ส่วนตัวล้วนๆ ส่วนการมีชื่อนาย เชียวเจี้ยนหัว เอี่ยวด้วยคงจะเป็นหมากอีกตัวที่ยังต้องจับตากันต่อไป
โดย หากมองด้านการลงทุนของซีพี และนช.ทักษิณ ในครั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย เปิดเผยว่า ถือเป็นการลงทุนที่น่าจะมีแต่กำไร เนื่องจากธุรกิจประกันภัยของจีนมีอัตราการเติบโตสูงมาก และเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่ยังติดปัญหาด้านกฎหมายที่มีความเข้มงวด
ทั้งนี้ในส่วนของซีพีเองก่อนหน้านี้ ถึงแม้จะมีการขายหุ้นของบริษัท บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ออกไป(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แต่ยังคงมีหุ้นอยู่ใน บริษัท อลิอันซ์ ซี. พี. ประกันภัย จำกัด อยู่จึงน่าจะเป็นผลดีในการขยายธุรกิจในครั้งนี้ รวมถึงการลดต้นทุนการประกันภัยของธุรกิจที่ซีพีมีการลงทุนในจีนลงอีกด้วย เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเบี้ยประกันให้แก่บริษัทอื่น
"ลองนึกภาพดูว่าธุรกิจประกันภัยในจีนมันจะโตแค่ไหน ซีพีเองก็ไม่ต้องไปเสียเบี้ยให้คนอื่น และถ้าดูการส่งออกของจีนในแต่ละปีแล้วแค่รับประกันภัยเรือขนส่งเหล่านี้ก็น่าจะมีกำไรมหาศาลแล้ว ส่วนทักษิณเองถ้ามองตอนนี้คงเป็นเรื่องกำไรจากการลงทุน แต่ไม่ใช่จะได้แค่นั้นเพราะโดยภาพรวมแล้วสิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสัมพันธ์กับทางการจีนด้วยเหมือนกัน"