ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รอยร้าวภายในเครือข่ายบริวารทักษิณ ชินวัตร ปรากฏชัดขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เมื่อมีคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปลดนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง โทษฐานที่นายวัฒนา ขัดขวางการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง
ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้อ่านเป็นแถลงการณ์ระหว่างเข้าเยี่ยมคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (หลักสี่) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.
มีใจความสำคัญคือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด และผู้ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2550 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2554 ไม่รวมถึงบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในห้วงเวลาดังกล่าว
แม้แกนนำคนเสื้อแดงจะอ้างว่า พ.ร.ก.นี้ ให้อานิสงส์ครอบคลุมไปถึงคนเสื้อสีอื่นด้วย แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็อยู่ที่กลุ่มเสื้อแดงนั่นเอง เพราะที่ผ่านมา ไม่มีกลุ่มคนเสื้อสีอื่นออกมาเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคนเสื้อเหลืองนั้น ประกาศชัดเจนมาหลายรอบว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม
นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก.นิรโทษ ยังเป็น 1 ใน 3 ข้อของปฏิญญาเขาใหญ่ ที่คนเสื้อแดงไปประกาศที่โบนันซ่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยอีก 2 ข้อนั้น คือการเรียกร้องให้สภาผ่านวาระ 3 ของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้รัฐบาลรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้เข้ามาทำคดีการตายของคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุมปี 2553
ซึ่งสองข้อหลังนั้น ถูกปฏิเสธจากนายใหญ่ทักษิณ ชินวัตร ไปเรียบร้อยแล้ว จึงเหลือเพียงการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเท่านั้น ที่จะต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บรรลุผลให้ได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนางธิดาประกาศจะผลักดัน พ.ร.ก.นิรโทษกรรม นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ก็ออกมาสวนทันที ในวันรุ่งขึ้น ว่า ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมจริงก็ควรจะเป็นการนิรโทษกรรมในช่วงที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งหมายถึงเป็นช่วงที่มีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารและองค์กรที่เกิดจากในช่วงรัฐประหาร ข้อเสนอของกลุ่ม นปช.ไม่น่าจะถูกต้อง และมีเหตุผลตอบสังคมไม่ได้
“เมื่อมีกระบวนการยุติธรรมปกติ และคดียังไม่หมดอายุความ ก็ควรจะปล่อยให้ทำงานไปตามปกติ เพราะมันยังไปต่อได้ ผมว่าไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมทั้งหมดตามที่ นปช.เสนอ เพราะขัดหลักการกฎหมาย” นายวัฒนาระบุ
ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ออกมาสวนตรงๆ แต่ก็ให้ความเห็นเลี่ยงๆ ไปว่า การจะออกเป็น พ.ร.ก.ได้นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 184 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ ความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งเป็นความเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
จากท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยที่ไม่รับลูกข้อเสนอของ นปช. ทำให้แกนนำคนเสื้อแดงเก็บความช้ำใจเอาไว้ข้างในลึกๆ เพราะไม่สามารถที่จะแสดงออกได้มากนัก นอกจากการตัดพ้อของนางธิดา ที่บอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ มัวสนใจแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงไม่รู้รายละเอียดเรื่อง พ.ร.ก. และได้พูดย้ำจุดยืนในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.รวมทั้งการให้แกนนำเสื้อแดงภาคเหนือไปยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระหว่างร่วมประชุม ครม.สัญจรที่ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อ 21 ม.ค.
หลังจากนั้น ก็มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งนัดรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปลดนายวัฒนา เซ่งไพเราะ ออกจากการเป็นโฆษกประธานรัฐสภา
ร้อนถึงนายวัฒนาต้องเปิดโต๊ะแถลงข่าวที่รัฐสภา ปัดพัลวันว่าตนเองไม่ได้ขัดขวางการนิรโทษกรรม แต่เป็นการคลาดเคลื่อนของสื่อที่นำเสนอ
อย่างไรก็ตาม นายวัฒนายังยืนยันในหลักการว่าการนิรโทษกรรมควรทำในช่วงที่กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นปกติ แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมสามารถทำงานได้ พนักงานสอบสวน ศาล หรืออัยการ ก็ต้องให้กระบวนการเหล่านี้ใช้ดุลพินิจไป
นอกจากนี้ คำพูดของนายวัฒนาที่ฝากไปถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ กรณีที่มีข่าวนายจตุพรพูดโจมตี ย่อมสะท้อนว่า กระแสความไม่พอใจของมวลชนคนเสื้อแดงที่มีต่อพรรคเพื่อไทยนั้น ยังคงคุกรุ่นอยู่ภายใน
“ถ้ายังจำได้ตั้งแต่ก่อนชุมนุมและตลอดการชุมนุมของคนเสื้อแดง ผมก็อยู่กับนายจตุพรตลอด หันไปข้างๆ ก็มีผม นายจตุพร รวมไปถึงแกนนำอย่างนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปดูให้ดีๆ ผมขึ้นเวทีตั้งแต่ก่อนมีเสื้อแดงด้วยซ้ำ แต่นายจตุพรอาจลืมผมไปแล้ว ซึ่งก็ควรจะให้ความยุติธรรมกับผมด้วย”นายวัฒนาตัดพ้อ
กระนั้นก็ตาม ฝ่ายคนเสื้อแดงไม่หยุดเรื่อง พ.ร.ก.อยู่แค่นี้ และได้นัดรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 29 ม.ค.นี้ ซึ่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า ต้องดูข้อเสนอว่ามีเหตุผลอย่างไร หรืออ้างเหตุผลอะไร เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การจะออกพระราชกำหนดจะต้องเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นถึงจะตราพระราชกำหนดได้
เป็นที่แน่นอนว่า หากกลุ่ม นปช.ยื่นข้อเสนอออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมตามร่างที่นางธิดาแถลงเมื่อวันที่ 15 ม.ค.นั้น รัฐบาลคงไม่ดำเนินการต่ออย่างแน่นอน นั่นเพราะไม่ได้เข้าเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นก็จะเท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟให้คนเสื้อแดงไม่พอใจรัฐบาลยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด วันที่ 24 ม.ค. นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้จัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานและองค์กรของรัฐ โดยอ้างว่าเพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคี ให้ประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ข้อเสนอดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญคือการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 - 30 พฤษภาคม 2554 ซึ่ง คอ.นธ.ทำเป็นร่างไว้แล้ว มีทั้งหมด 6 มาตรา หลังจากนี้ก็เหลือเพียงล่ารายชื่อประชาชน 15,000 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่สภาเท่านั้น
ข้อเสนอของ คอ.นธ.ถูกมองว่า ออกมารองรับสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงกำลังผิดหวังต่อท่าทีของรัฐบาลในการเสนอร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมพอดี และเป็นที่รู้กันว่า นายอุกฤษก็เป็นหนึ่งในข้ารับใช้ของ นช.ทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวที่รัฐสภา เมื่อ 23 ม.ค. ปฏิเสธว่า ไม่ได้ขัดขวางการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม หลังจากที่คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวให้พรรคเพื่อไทยปลดออกจากตำแหน่ง