xs
xsm
sm
md
lg

UN ระบุพม่าเป็นหัวใจสำคัญปัญหายาเสพติดในภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ภาพถ่ายจาก UNODC ไม่ระบุวันที่ปี 2555 แสดงให้เห็นการเพาะปลูกฝิ่นบนเนินเขาในรัฐชาน ของพม่า หน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการผลิตและใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าเพิ่มสูงอย่างมีนัยสำคัญ และพม่าเป็นหัวใจสำคัญของปัญหายาเสพติดในภูมิภาค. --  AFP PHOTO/UNODC.</font></b>

เอเอฟพี - สหประชาชาติระบุวานนี้ (12 ธ.ค.) ว่า พม่าเป็นหัวใจสำคัญของวิกฤตยาเสพติดที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นในเอเชียที่คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้ความช่วยเหลือพม่าสกัดกั้นการผลิตยาเสพติด

พม่าที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ยังคงเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตยาบ้าในภูมิภาค สำนักงานยาเสพติด และอาชญากรรมสหประชาชาติระบุในรายงานฉบับหนึ่ง

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การผลิต และใช้ยาบ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” แกรี ลูอิส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคกล่าว โดยรายงานระบุว่า มีการจับยึดยาบ้าได้เกือบ 123 ล้านเม็ด ในปี 2554 ลดลง 5% จากปี 2553 แต่ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 500%

“ทั้งการผลิต และการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาชญากรข้ามชาติที่มีส่วนในการลักลอบค้ายาเป็นภัยคุกคามต่อทั้งความปลอดภัย และสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคนี้” ลูอิสกล่าว

รายงานระบุว่า ยาบ้าประมาณ 5.9 ล้านเม็ดถูกยึดได้ในพม่าในปี 2554 จำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อนหน้า แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงปริมาณการผลิตที่แท้จริง เพราะยาจะถูกลักลอบส่งออกไปอย่างรวดเร็วจากพรมแดนเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ลูอิสแถลงข่าวในกรุงเทพฯ ว่า ทุกประเทศในภูมิภาคจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพราะสารเคมีหลายตัวที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตยาคาดว่าถูกลักลอบนำเข้าไปยังพม่า

“ทั้งยาบ้า และการปลูกฝิ่น เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นความสนใจไปที่พม่า” ลูอิสระบุ พร้อมเรียกร้องให้ภูมิภาคให้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การพัฒนาทางเลือก และการบังคับใช้กฎหมาย

พม่า ที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลกจนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยอัฟกานิสถานในปี 2534 พบว่า มีการเพาะปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยประเมินว่าที่ดินประมาณร้อยละ 17 ถูกนำมาใช้ผลิตยาเสพติดในปี 2555 มากกว่าในปี 2554

การค้ายาเสพติดมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับความไม่สงบในพื้นที่ห่างไกลของพม่าที่อยู่บริเวณพรมแดนไทย และจีน ซึ่งมีกฏบชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ และใช้ประโยชน์จากการผลิตยามาเป็นทุนในการปฏิบัติการต่างๆ

ในเดือน พ.ค. รัฐบาลชุดใหม่ของพม่าได้ลงนามข้อตกลงที่จะกำจัดฝิ่น และการผลิตยาเสพติด ในรัฐชาน ทางตะวันออกที่กลุ่มกบฏหลายกลุ่มในตอนนี้ได้เข้าร่วมในการเจรจาหยุดยิง แต่ลูอิสกล่าวว่า การผลิตยาบ้าในปริมาณไม่มากยากที่จะตรวจพบแหล่งผลิต รวมทั้งความไม่ไว้วางใจระหว่างกลุ่มกบฏ และเจ้าหน้าที่ทำให้มีความเสี่ยงที่การผลิตยาเสพติดยังคงมีอยู่เช่นเดิมเดิม.
กำลังโหลดความคิดเห็น