xs
xsm
sm
md
lg

นิติเรดเขียนรธน.เพื่อทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

วันนี้ทั้งนิติเรด และนปช.ต่างแยกกันเดินเสนอแนวทางช่วยนักโทษเสื้อแดงออกมา ของเสื้อแดงที่เสนอเป็นร่างพ.ร.ก.เพื่อล้มล้างความผิดให้กับตัวเอง แม้จะทำได้รวดเร็วกว่า แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเงื่อนไขการนิรโทษนั้นไม่เข้าข่ายนิยามของพ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 184 พูดถึงการออก “พระราชกำหนด” ว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ออกพระราชกำหนดในเรื่องที่ฉุกเฉินจำเป็น แต่ไม่ได้อนุญาตให้ออกพระราชกำหนดเพื่อลบล้างความผิดให้ใคร

ถ้าถามว่า ผมเห็นใจคนเสื้อแดงคนเล็กคนน้อยที่ถูกแกนนำปลุกปั่นจนตัวต้องติดคุกหรือไม่ ผมยืนยันว่าผมเห็นใจครับ และรู้สึกสงสารที่ชะตากรรมของคนเหล่านี้ถูกไปผูกไว้กับทักษิณ แต่การนิรโทษต้องแยกแยะคนที่ใช้อาวุธสงครามและคนที่เผาบ้านเผาเมืองออกมาก่อนไม่ใช่เหมาเข่ง เพราะคนเหล่านี้น่าจะกระทำเกินเลยเหตุจูงใจทางการเมืองไปมาก

แล้วนิยาม “ผู้มีอำนาจตัดสินใจสั่งการ” อยู่ตรงไหน เพราะขนาดเห็นเผากันกลางวันแจ้งๆ เผากันซึ่งหน้า แกนนำก็โยนว่าเป็นฝีมือของแดงเทียมบ้างเป็นมือที่สามบ้าง ไม่มีใครสั่งให้เผา แม้จะพูดว่า “เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” ก็ยังปากแข็งเล่นลิ้นบิดเบือนไปเป็นอื่น

แถมก่อแก้ว พิกุลทองบอกว่า ความในวรรคสองดังกล่าว “ข้อกล่าวหาที่บอกว่าพวกผมสั่งการ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าพวกผมสั่งการจริง ก็มีความผิดตามกฎหมาย แต่ถ้าพิสูจน์ว่าไม่ได้สั่งการ ก็ไม่ผิด”

ถ้าจะว่าไปแล้วผมก็เชื่อแบบสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แนวร่วมของคนเสื้อแดง ที่มองในแง่ร้ายว่า นปช. เสนอร่างพ.ร.ก.ในครั้งนี้ นปช.ไม่ได้ซีเรียสจริงจัง แต่ทำไปเพื่อ “รักษาฐานมวลชน” เท่านั้นเอง ด้วยเหตุผลหลายอย่างผมจึงไม่ได้ให้น้ำหนักกับร่างพ.ร.ก.ของ นปช.นัก

ส่วนข้อเสนอล้มล้างความผิดโดยออกเป็นร่างรัฐธรรมนูญของนิติเรดนี่ผมก็ว่ามีปัญหา

เพราะร่างรธน.ฉบับนี้เป็นการจัดตั้งอำนาจที่ 4 นอกเหนือจากอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ในนามของ “คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง”

และยังให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเหนือตุลาการ

รวมทั้งที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ 5 คนก็มาจากคนของรัฐบาลคนหนึ่ง ที่เหลือก็โยนใส่มือของเสียงข้างมากในรัฐสภาซึ่งคือพรรครัฐบาล มาจาก ส.ส. 2 คนซึ่งตลกมากบอกว่าให้มาจากพรรคที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี 1 คนซึ่งก็คือพรรครัฐบาล และพรรคที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี 1 คนโดยไม่ได้บอกว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่ประชุมรัฐสภาก็อาจไปเลือกบิ๊กบังหรือปุระชัยก็ได้ อีก 2 คนเลือกจากที่ตัวแทนผู้พิพากษาและอัยการแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาลก็เหมาหมดสิครับ

พวกนิติราษฎร์นี่แปลกนะครับ ก่อนหน้านี้ก็เคยเสนอให้ตั้งตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา 8 คน โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดย 1. สภาผู้แทนราษฎร 3 คน 2. วุฒิสภา 2 คน 3. คณะรัฐมนตรี 3 คน กลายเป็นว่าที่มานั้นมาจากนักการเมืองทั้งหมด แต่ข้อเสนอนั้นก็ล่มปากอ่าวไป

นอกจากนั้นนิติราษฎร์เคยเสนอให้ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารมาแล้ว แต่ให้ล้มล้างเฉพาะ 19 กันยายน 2549 คนเขาก็ถามว่า ทำไมต้องล้มล้างเฉพาะครั้งนี้เพราะมันเหมือนต้องการล้มล้างความผิดของทักษิณคนเดียว ก็ได้คำตอบแบบอ้ำๆ อึ้งๆ คราวนี้ก็เอาอีกบอกว่าให้ล้มล้างความผิด “อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549”

แล้วพิสูจน์ได้อย่างไรละครับว่า การกระทำผิดของคนเสื้อแดงเกี่ยวเนื่องกับผลพวงรัฐประหารครั้งนั้น เพราะพอรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารพ้นไปมีเลือกตั้งได้รัฐบาลสมัคร สมชายเป็นนายกฯ คนเสื้อแดงเขาก็ไม่ได้ประท้วงตอนนั้นยอมรับผลพวงรัฐประหารเหรอครับ มาเริ่มประท้วงอีกทีตอนเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนว่า ไม่ได้ติดใจรัฐประหารแต่ประท้วงเพราะไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นพวกตัวเอง

โชคดีครับที่ผมไปนั่งเรียนนิติศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์อยู่ครึ่งเทอมก่อนรีไทร์ตัวเองเพราะขี้เกียจยังไม่ได้เรียนกับพวกนิติราษฎร์เลยสักคน

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างว่าให้ล้มล้างความผิดทั้งหมดที่มาจาก “เหตุจูงใจทางการเมือง” แถมคำว่า “มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ก็กว้างมาก เรื่องที่ดินรัชดาฯ ก็โยงไปได้แม้จะตัดสินโดยศาลฎีกา

ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ ต้องการช่วยแต่เสื้อแดงโดยเฉพาะ โดยผูกปมซ่อนไว้ มาตรา 291/3 ว่า “เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ” เพราะคดีสนามบินของพันธมิตรฯ ถูกอ้างว่าเข้าเงื่อนไขนี้

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่เป็นผู้ปฏิบัติการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้รับนิรโทษ

เพราะมาตรา 291/8 วรรคแรกเขียนว่า การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่รัฐที่ตายเพราะฝีมือคนเสื้อแดงก็ตายฟรีไป ทหารผู้ปฏิบัติการก็มีสิทธิติดคุกที่บาดเจ็บและพิการก็ไม่สามารถเอาความผิดกับใครได้เพราะอีกฝ่ายได้นิรโทษหมด

ส่วน “ทักษิณ” ก็มีโอกาสลอยนวล แม้วรรคสองของมาตรา 291/8 จะเขียนว่า บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น

เพราะคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งก็อาจตีความแบบลำเอียงได้ว่า ทักษิณไม่เข้าข่ายนี้เพราะอยู่ต่างประเทศ

แถมวรรคสองของมาตรา 291/6 ที่ว่า ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งตาม (1) หรือ (2) จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนพิจารณา และให้ปล่อยตัวจำเลยไป ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังไป ทั้งนี้จนกว่าคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งได้มีคำวินิจฉัย

ระหว่างที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าอันไหนที่เข้าข่ายเหตุจูงใจทางการเมือง และตีความว่าใครเข้าข่ายตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนซึ่งทักษิณมีโอกาสรอดสูงถ้าดูจากที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ คดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งศาลตัดสินถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ต้องพับไปก่อน เปิดทางให้ทักษิณสั่งกัปตันเครื่องบินร่อนลงสู่สนามบินในประเทศไทยได้เลย

และแม้จะให้ชื่อว่า “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” ก็มองไม่เห็นเลยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การขจัดความขัดแย้งได้อย่างไร

สรุปแล้วร่างของนิติเรดเพียงแต่ต้องการช่วยทักษิณและคนเสื้อแดงที่เผาบ้านเผาเมืองเท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น