xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่วมสภาฯหาทางลง จวก"นิติเรด" หวังดีประสงค์ร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(14 ม.ค.56) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะถามความเห็นถึงการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีการยืมมือ กกต.เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำประชามติ ด้วยการโยนคำถามมาให้ กกต.ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรในการทำประชามติ จึงทำให้ มีความรู้สึกว่ากำลังหาทางลงในเรื่องการทำประชามติหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ตนคิดว่ากำลังสร้างปัญหายุ่งยากให้หน่วยงานอื่น ทั้ง กกต.และสถาบันการศึกษาที่จะให้เข้ามาดูเรื่องการทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งนี้คิดว่ารัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องมีความจริงใจ ถ้าไม่ประสงค์จะทำประชามติก็ควรตัดสินใจเองไม่ควรนำการตัดสินหรือการพิจารณาของ กกต.มาเป็นข้ออ้างในการตัดสินใจ ดังนั้นการดำเนินการเพื่อแก้รัฐธรรมนูญต้องโปร่งใสได้รับฉันทามติจากทุกฝ่ายในสังคมมากกว่าจะมีจุดมุ่งหมายพิเศษอื่น ไม่เช่นนั้นการแก้รัฐธรรมนูญก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่โยนความรับผิดชอบให้หน่วยงานอื่น เพราะอำนาจตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเป็นหลักมากกว่า
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างเสนอในทางวิชาการแต่เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักจะสร้างความขัดแย้งในบางประการตามมา จึงอยากเรียกร้องว่าถ้ามีความจริงใจในการหาทางออกให้กับบ้านเมืองควรเปิดโอกาสฝ่ายที่เห็นต่างได้หารือแลกเปลี่ยนตกผลึกทางความคิดมากกว่าคิดฝ่ายเดียวแล้วโยนหินถามทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น พร้อมกับตั้งข้อสังเกต กรณีที่คณะนิติราษฎร์ให้นิรโทษกรรมภาคประชาชนที่ไม่ได้เป็นแกนนำโดยมี คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเพื่อชี้ว่าใครมีมูลเหตุจูงใจในการทำผิดทางการเมืองเป็นเรื่องล่อแหลมว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม กระบวนการศาลของประเทศ เพราะชี้เป็นชี้ตายได้ว่าคนที่ยิงคนตาย เผาศาลากลางด้วยมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจะเป็นผู้บริสุทธิ์ทันที
“เป็นข้อเสนอที่แฝงไปด้วยเจตนารมณ์ที่จะล้างผิดให้คนกลุ่มใหญ่ เมื่อล้างผิดด้วยการออกกฎหมายปรองดองไม่ได้ ทำให้รัฐสภาเห็นด้วยไม่ได้ก็เลยแฝงด้วยการให้ คกก.ชุดนี้เป็นตุลาการพิเศษของประเทศชี้เป็นชี้ตายชี้ขาดอนาคตประเทศ ต้องคิดให้ดีและอยากให้ทบทวนว่าเป็นความหวังดีต่อประเทศจริง ๆ หรือในการกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา”
นายชวนนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะริดรอนสิทธิการตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าให้เป็นอำนาจของรัฐสภาหรือประธานสภา ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนกระทำได้ เท่ากับว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเดินหน้าเข้าหาเผด็จการไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วยการตั้ง คกก.ที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินนี้และริดรอนสิทธิประชาชนในการตีความรัฐธรรมนูญด้วยการรวบอำนาจไปไว้ที่ประธานรัฐสภา คณะนิติราษฎร์จึงต้องตอบว่าทำไมจึงมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ถูกต้องตามหลักบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ แม้ความเห็นทางวิชาการจะทำได้แต่ต้องไม่เอาประเด็นการเมืองมาแอบแฝงหรือตั้งความสงสัยกับสังคมว่าที่ทำเพื่อต้องการช่วยใครคนใดคนหนึ่งหรือเพื่อช่วยบ้านเมือง ทั้งนี้ยืนยันว่าพรรคพร้อมสนับสนุนการนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่มที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอาญา แต่ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น หากคณะนิติราษฎร์เห็นด้วยก็เดินหน้าได้เลย โดยไม่ต้องคิดให้ซับซ้อนเพราะประชาชนจะได้ประโยชน์โดยตัดแกนนำออกไปก่อนซึ่งจะทำให้ผู้บริสุทธิ์หรือประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ทันที
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานวิปรัฐบาล เสนอให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อฟังความเห็นสมาชิกในการหาทางออกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ความจริงสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยมีความชัดเจนอยู่แล้ว จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเผชิญกับความจริงเมื่อไหร่ว่าสิ่งที่เป็นความต้องการของบางคนที่นำไปสู่ความขัดแย้งจะปล่อยวางได้หรือไม่ ถ้าปล่อยวางได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำไม่ได้ แม้จะพยายามหาวิธีการอย่างไรก็คงแก้ปัญหาพื้นฐานไม่ได้
“ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลจะดึงหน่วยงานไหนมาช่วยเพื่อหาทางลงแล้วไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่กระทบหลักความถูกต้อง ผมไม่สนใจว่าจะลงลิฟท์ หรือลงบันได หรือหาใครมาเกาะให้ลงมา ผมก็ว่าดีทั้งนั้น แต่ถ้าพยายามเอาคนมาเป็นเครื่องมือ ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอันนี้น่ากลัวกว่า ซึ่งทางลงที่ดีที่สุด คือการยอมรับว่าแนวความคิดเดิมควรเลิกไป ส่วนสิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญจริงๆให้หารือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันและยอมรับได้ มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แก้เพื่อความต้องการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”
ผู้สื่อข่าวถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับปากกับเด็กว่าจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้าน คิดว่าเป็นการส่งสัญญาณอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯคงฟังเด็กคนเดียวไม่ได้ แต่สิ่งที่นายกฯพูดก็เป็นการสะท้อนว่า ยังมีกระบวนการที่จะผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ประเด็นในขณะนี้จึงยังอยู่ที่เดิมว่ารัฐบาลจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างแน่วแน่ได้หรือไม่ว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้า หรือยังต้องวนเวียนขัดแย้งกันในเรื่องนี้ เพราะหากกระบวนการนี้ยังอยู่ก็ไม่สามารถถอดชนวนระเบิดเวลาที่ค้างอยู่ในสภาได้ ทั้งหมดจึงอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้
ก่อนหน้านายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการจัดทำประชามติว่า ขณะนี้คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ตั้งขึ้นก็กำลังศึกษาทุกแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่และดูว่าหากจะลงประชามติกติกาจะเป็นอย่างไร แม้การลงประชามติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตนจึงมีความเห็นว่าในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ค้างอยู่ในวาระที่สามของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ก็อาจเปิดให้มีการหารือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เพื่อหาทางออกถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการหารือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะไม่มีการลงมติในวาระที่สามแต่อย่างใดเพื่อเป็นหลักประกันให้กับฝ่ายค้าน ซึ่งข้อเสนอของตนที่จะให้เปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องมีการหารือกับทางประธานรัฐสภาก่อนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามกำลังค้างอยู่ในที่ประชุมรัฐสภา
นายอุดมเดช กล่าวว่า การเปิดให้มีการหารือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็น เพราะขณะนี้มีข้อจำกัดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แนะนำให้มีการลงประชามติ ซึ่งหากมีการเสนอให้ลงประชามติจะต้องลงประชามติในแบบไหนระหว่างการลงประชามติเพื่อให้มีข้อยุติหรือขอคำปรึกษา เพราะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล็อกว่าจะต้องให้ทำประชามติในแบบเพื่อให้มีข้อยุติก็จะต้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมาใช้สิทธิเกินกึ่งของของผู้มีสิทธิก็อาจทำให้สภาถึงทางตันได้ เพราะฝ่ายค้านจะใช้วิธีการให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติไม่ต้องมาใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวตนเห็นว่าการลงประชามติ หากจะทำก็ควรใช้แบบขอคำปรึกษาหารือเพราะใช้เพียงเสียงข้างมากก็ได้
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ของ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (กปพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ยังไม่ได้นำรายงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายโสภณ เพชรสว่าง ประธานอนุกรรมการฯ มาพิจารณาในที่ประชุม เนื่องจากในการประชุมในวันนี้ มีเรื่องอื่นที่มีความสำคัญและต้องเร่งการพิจารณาเร่งด่วนกว่า ทั้งนี้รายงานเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ของอนุกรรมการฯ ตนยังตอบไม่ได้ว่าจะนำมาพิจารณาเมื่อใด ซึ่งการชะลอที่จะนำรายงานเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาพิจารณาในชั้นกรรมการชุดใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่ก่อนหน้านี้นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาฯ ออกมาให้ข่าวในเชิงตำหนิ ว่าไม่เหมาะสมที่นำข้อเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแถลงกับสื่อมวลชน ทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ
ขณะที่นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมชุดใหญ่ ไม่ได้นำเรื่องรายงานข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาพิจารณา ตามที่ตนได้เสนอเพื่อให้บรรจุระเบียบวาระ ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ส่วนจะนำรายงาของอนุกรรมการฯ เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับนายประสพ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.กล่าวถึงกรณีที่ นปช.จะเดินทางไปจัดกิจกรรมบริเวณหน้าเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ และเรียกร้องรัฐบาลให้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกสี ว่า กิจกรรมจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.โดยจะนำเครื่องออกกำลังกายไปบริจาคและเลี้ยงอาหารกลางวัน ส่วนการเรียกร้องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง ใช้เวลานาน มีต่อต้านอย่างหนัก เราจึงอยากเคลียร์ปัญหาเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่มีคดีให้เรื่องนี้ได้จบเร็ว เพราะคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติได้ทันที แต่ยังไม่ได้เสนอฝ่ายบริหาร อยากฟังกระแสจากฝ่ายเดียวกันและฝ่ายต่อต้าน
"ยืนยันว่าไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำเสื้อแดง หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และแกนนำสีอื่นในคดีหนักๆ อย่างก่อการร้าย เพื่อให้เท่าเทียมกัน แต่ในกรณี น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ดารานักแสดง ที่ติดคดียุยงปลุกปั่น ควรรับนิรโทษกรรม จึงอยากถามพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯ ว่าเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่" นายก่อแก้ว กล่าว
ส่วนข้อเสนอของนิติราษฎร์เสนอเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมและความขัดแย้งนั้นเป็นแนวทางที่ดี แต่ควรจะให้มีการนิรโทษเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเข้าไปด้วย เพราะใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ยังได้รับการยกเว้น ไม่อย่างนั้นเกรงว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะต้องแก้เป็นรายมาตราน่าจะง่ายกว่า
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะคณะทำงานพิจารณาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประสานสถาบันการศึกษาเพื่อรับฟังแนวความคิดเห็นในการทำประชามติ ว่าตนได้มอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประสานไปยัง 3 สถาบันการศึกษาแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยารามคำแหง ซึ่งทั้ง 3 สถาบันหลักเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่มีการเรียนการสอนคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์มายาวนาน และสะดวกในการเดินทาง หารือในวันที่ 15 ม.ค.เวลา 16.30 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลัวว่ารัฐบาลจะยืมมือกกต.หาทางลงเพื่อล้มการประชามติ นายพงศ์เทพ กล่าวว่ากกต.ไม่ใช่ธนาคารที่จะให้รัฐบาลไปยืมมือล้มประชามติ เพราะเวลารัฐบาลจะยุบสภาเลือกตั้ง ยังต้องถามกกต. ยิ่งการทำประชามติเป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน รัฐบาลก็ต้องยิ่งถามกกต.
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะคณะทำงานพิจารณาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะทำงานฯจะรายงานความคืบหน้าการทำงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาคือหลังจากมีการประชุมพรรคเพื่อไทยและหลังจากการหารือร่วมกับกกต.ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 ม.ค.ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น